Skip to main content
คนไม่มีอะไร
  หยุดสร้างภาพด้วยวาทะ "การมีส่วนร่วมของประชาชน" ศยามล  ไกยูรวงศ์โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา           ในยุคสมัยนี้ไม่ว่าภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนใช้ วาทะ "การมีส่วนร่วมของประชาชน" ทุกวงการ โดยกำหนดตัวชี้วัดของการบริหารงานแบบธรรมาภิบาลให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ  นับเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับสังคมไทย ที่ทุกภาคส่วนตระหนักชัดในหลักการนี้    แต่ในความเป็นจริงการใช้วาทะกรรมดังกล่าว   ได้ถูกบิดเบือนเพื่อสร้างภาพพจน์ของการแสวงหาผลประโยชน์ของระบบ และตนเอง                  เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในการจัดเวทีของนิคมอุตสาหกรรมที่จะดำเนินการในพื้นที่ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช   เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552  เมื่อประชาชนในพื้นที่จำนวน 300 กว่าคนเข้าร่วมเวทีโดยไม่ได้ถูกเชิญ  มีความเห็นยกมือพร้อมกันว่าไม่ต้องการนิคมอุตสาหกรรม   จึงเป็นสาเหตุให้การจัดเวทีโดยบริษัทที่ปรึกษา ในการประชุมรับฟังความเห็น บนหลักการของการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องหยุดลง                สิ่งที่น่าคิดก็คือ ผู้แทน กนอ. ได้กล่าวในที่ประชุมร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 ที่มหาวิทยาลัยลักษณ์ ว่าได้ว่าจ้างองค์กรเอกชน (NGO) องค์กรหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน  จึงไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีส่วนร่วม                  สาเหตุที่ประชาชนไม่ร่วมในเวที   อยู่ที่ว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเริ่มต้นจากเจ้าของโครงการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ   ความเชื่อถือว่าบริษัทที่ปรึกษาจะเป็นกลางจึงเป็นไปไม่ได้   การจัดเวทีและทำเอกสารเผยแพร่ของบริษัทที่ปรึกษาก็เพื่อมาชักชวนโน้มน้าวให้  ชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรม  เมื่อพิจารณาจากคู่มือที่บริษัทที่ปรึกษาทำ  ก็เห็นได้ชัดว่าทำเพื่อโน้มน้าวให้ชาวบ้านทราบแต่ผลดีของโครงการ  แต่ในความเป็นจริงนิคมอุตสาหกรรมย่อมมีทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบทั้งสิ้น               กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  ยังเป็นปัญหา และต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อมิให้โครงการของรัฐและเอกชน ต้องสูญเสียงบประมาณว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในราคาแพง  แต่ยังสร้างปัญหาความขัดแย้งให้กับชุมชนและเจ้าของโครงการ   การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากรัฐบาลไม่เริ่มต้นด้วยการนำเสนอข้อมูลทั้งหมดว่าแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้จะพัฒนาภาคใต้ในทิศทางใด คนใต้และคนในพื้นที่เห็นด้วยกับแผนพัฒนาหรือไม่                 ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ การพัฒนาภูมิภาค การพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาตำบลและชุมชนมีหรือไม่  ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในมาตรา 57  สิทธิในการได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลของหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินการโครงการ หรือกิจกรรม  ทั้งบุคคลและชุมชนท้องถิ่นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไปประกอบการพิจารณา  และมาตรา 87  รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน  (1) ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น  (2) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ               โครงการนิคมอุตสาหกรรมเป็นเพียงโครงการหนึ่งในอีกหลายโครงการตามแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้   การที่เจ้าของโครงการแต่ละโครงการดำเนินการไปก่อน  โดยใช้งบประมาณของภาษีประชาชนว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงาน EIA  ไปก่อน  ขณะเดียวกันสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผลักดันให้รัฐบาลเร่งอนุมัติแผนพัฒนาฯไปด้วย   โดยประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ทราบว่าบ้านตัวเอง จังหวัดตัวเอง จะพัฒนาอย่างไร   จึงเป็นกระบวนการตัดสินใจแบบบนลงล่างเหมือนเดิม   จึงไม่ต้องแปลกใจว่าประชาชนในหลายพื้นที่คัดค้านโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้น หรือถ้าต้องเห็นด้วย ก็เห็นด้วยแบบยอมจำนนต่อการกดดันจากจังหวัด เจ้าของโครงการ และรัฐบาล ด้วยการรับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม                  วาทะ "การมีส่วนร่วมของประชาชน"  จึงถูกสร้างขึ้นจากกลยุทธ์ที่ทำอย่างไรก็ได้ให้โครงการเกิด เช่น กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หากรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรม ให้พวกเขามีชีวิตที่ดีได้   ไม่ว่าแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบใด โครงการใด  ประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ไว้วางใจรัฐบาล บริษัทที่ปรึกษา และเจ้าของโครงการ   ที่พวกเขามีคำถามและเรียกร้องความเป็นธรรมจากการพัฒนาที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม                    รัฐบาลและภาคประชาชนจึงจำเป็นต้องผลักดันให้มีการปรับปรุงกลไกในการพิจารณาและตรวจสอบ EIA ที่มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ตลอดจนการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการโครงการ    มิฉะนั้นภาษีของประชาชนต้องละลายไปกับการศึกษาโครงการซ้ำแล้วซ้ำเล่า และตามแก้ไขปัญหาปลายเหตุอย่างไม่สิ้นสุด ขณะที่สังคมไทยมีความขัดแย้งตลอดเวลา 
คนไม่มีอะไร
 ถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ คนใด้เดือดร้อนแน่นอนทางเข้าท่าเรือน้ำลึกปากบาราจังหวัดสตูล เป็นโครงการเชื่อมสงขลา - สตูล (สะพานเศรษฐกิจ)แบบก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราระยะแรกผังโครงอาหารฮาลาลจังหวัดปัตตานีสิ่งที่จะเกิดในสตูล มองภาพสวยมาก แต่แปลกรูปทั้งหมดที่ผ่านเจ้าของโครงการไม่พูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พูดแต่ตัวเลข    
คนไม่มีอะไร
  พืชน้ำมันในผืนป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ และนาข้าว ศยามล   ไกยูรวงศ์โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา            กระแสการส่งเสริมปลูกพืชน้ำมันทดแทนการนำเข้าเริ่มจางหายไป เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำลงเรื่อยๆ   ในขณะที่การส่งเสริมการปลูกพืชน้ำมันโดยภาครัฐยังดำเนินการต่อไป มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน   เป็นพืชเศรษฐกิจที่ถูกส่งเสริมให้เพิ่มผลผลิตเพื่อเป็นพืชน้ำมันตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพลังงาน  ในแผน ๕ ปี ของกระทรวงเกษตรฯ (พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๕๔) กำหนดให้ขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม ๖ ล้านไร่ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกภายในประเทศ ๕ ล้านไร่ และพื้นที่ปลูกในประเทศเพื่อนบ้านอีก ๑ ล้านไร่   เพื่อนำมาผลิตไบโอดีเซลทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซล ๑๐%  ภายในปี พ.ศ.๒๕๕๕               สำหรับพืชมันสำปะหลัง และอ้อย รัฐบาลไม่มีนโยบายขยายพื้นที่ปลูก  แต่มุ่งเน้นการพัฒนาเพิ่มผลผลิต โดยให้ได้มันสำปะหลัง ๔.๕ - ๕ ตันต่อไร่  คิดเป็นผลผลิต ๓๕ ล้านตันในปี พ.ศ.๒๕๕๔  และตั้งเป้าหมายของผลผลิตของอ้อยต่อไร่ เป็น ๑๒ - ๑๕ ตันต่อไร่ คิดเป็นผลผลิตอ้อย ๘๕ ล้านตัน   ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ เพิ่มโรงงานเอทานอลอีก ๘ โรงงาน กำลังการผลิต ๑.๙๕ ล้านลิตร/วัน  ซึ่งต้องใช้หัวมันสำปะหลังสดประมาณ ๔.๒ ล้านตัน/ปี             สมบัติ  เหสกุล นักวิจัยอิสระได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชพลังงานมีความเห็นว่า "ปี ค.ศ.๒๐๑๑ มีความต้องการเอทานอล  ๒.๔ ล้านลิตรต่อวัน แต่ประเทศไทยผลิตได้ ๑ ล้านลิตร/วัน  สำหรับไบโอดีเซลมีความต้องการ ๓ ล้านลิตร/วัน  แต่ประเทศไทยผลิตได้ ๑.๔๔ ล้านลิตร/วัน  กรณีของอ้อยต้องใช้น้ำอ้อยและกากอ้อย ซึ่งบริษัทมิตรผล มีการทำพันธะสัญญากับเกษตรกร  โดยโรงงานผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกและขายในประเทศ     กากของอ้อยผลิตเอทานอล  ใย (ชานอ้อย) ทำเป็นไม้   เกษตรกรจึงทำหน้าที่ผู้ผลิตอ้อยป้อนอุตสาหกรรมอ้อย ในการผลิตผลผลิตต่างๆป้อนโรงงาน                  สำหรับมันสำปะหลัง อุตสาหกรรมอาหารต้องการปีละ ๒๖ ล้านตัน แต่ประเทศไทยผลิตแป้งมันได้เพียงพอกับอาหาร แต่ไม่พอกับการนำมาใช้เป็นพลังงาน              การใช้ปาล์มน้ำมันกับน้ำมัน อยู่ที่ 22% แต่อุตสาหกรรมอาหารยังต้องใช้น้ำมันปาล์มอยู่มาก แสดงว่าเรามีปาล์มไม่เพียงพอ นโยบายขยายพื้นที่ปลูกใหม่ 2.5 ล้านไร่ และปรับปรุงพื้นที่เดิม 3 แสนไร่ และเพิ่มผลผลิตต่อไปจาก 2.8 เป็น 3.5 - 5 ตันต่อไร่   แต่ต้องอยู่บนฐานว่า ราคาน้ำมันต้องสูงกว่า 100 เหรียญดอลลาร์   เกษตรกรต้องมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น ต้องวางระบบใหม่ ต้องใช้พันธุ์ใหม่    ต้องไม่มีการแย่งชิงพืชน้ำมันระหว่างประเทศ                   พื้นที่ปลูกอ้อยจะเพิ่มได้ ในพื้นที่นาข้าว พื้นที่ถั่วเหลือง (รุกพื้นที่พืชไร่อื่นๆ) ส่วนมันสำปะหลังขยายพื้นที่ได้ แต่เข้าไปอยู่ในไร่อ้อย และรุกเข้าไปในพื้นที่ป่า ส่วนการเพิ่มพื้นที่ปาล์มน้ำมัน   พบว่าขยายพื้นที่ได้ไม่เกิน 3 แสนไร่เท่านั้น   และส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้แสนสามไร่ อีสานได้หมื่นห้าพันกว่าไร่ คือ กาฬสินธุ์ รองลงมาคือโคราช ภาคเหนือ   เนื่องจากมีข้อจำกัดของการปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งต้องมีน้ำ 2,000 ลิตร ปริมาณน้ำฝนอย่างน้อย 100 มม./เดือน แล้งไม่เกิน 3 เดือน  ต้นทุน ในช่วง 30 เดือนเฉลี่ยไร่ละ 13,000 บาท  ค่าติดตั้งระบบน้ำ 7,000 บาท/ไร่   โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มควรอยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตร   เกษตรกรต้องมีทักษะการปลูก   พื้นที่เหมาะสม รายได้สูงขึ้น โดยพืชเดิมราคาตกต่ำ   โดยเกษตรกรต้องเข้าถึงข้อมูล   สำหรับต้นทุนการปรับพื้นที่ (เช่น จากยูคา มาปลูกปาล์ม ใช้ต้นทุนสูง  ถ้าราคาปาล์มน้ำมันต่ำกว่า 3.5 เกษตรกรจะเริ่มขาดทุน               ทางเลือกที่น่าสนใจ คือ ลดการส่งออกอ้อย และน้ำตาล  เพิ่มพื้นที่ พัฒนาพันธุ์ ส่งเสริมทักษะการผลิต อนาคต อาจได้เอทานอล 8 ล้านลิตร  แต่ต้องมีมันสำประหลังเพียงพอ   ต้นทุนการผลิตเอทานอลแต่ละประเภท และ ราคา เปรียบเทียบกัน เห็นว่า น้ำอ้อย มีราคาวัตถุดิบต่ำ (บาท/กก) และมีต้นทุนการผลิต (บาท/ลิตร) พอๆ กับกากน้ำตาล   ในขณะที่การปลูกปาล์มน้ำมัน ไม่ควรพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ควรพัฒนาเป็นระดับชุมชนแล้วใช้ในครัวเรือน เช่น ปลูกหัวไร่ปลายนาแล้วใช้ในครัวเรือน หรือโรงงานขนาดเล็กๆ ประมาณ 8,000 ไร่ต่อชุมชน และส่วนที่เหลือจะแปรรูปได้อีกหลายอย่าง"              จากกรณีศึกษาปาล์มน้ำมันในภาคอีสานที่บ้านนาบอน ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย บ้านโคกเจริญ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ  บ้านนิคมแปลง ๑ ตำบลชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ ของมาลี สุพันตี  จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน   มีข้อสรุปว่าเกษตรกรในภาคอีสานที่ปลูกปาล์มน้ำมันยังประสบปัญหาไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนในการปลูกปาล์มน้ำมัน  ในขณะที่ภาครัฐยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าพื้นที่ปลูกเหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมันหรือไม่  เนื่องจากยังอยู่ในระยะทดลองปลูก  ยังไม่มีความแน่นอนของตลาดที่มารองรับ  การซื้อขายมีพียงลานเทรับซื้อในกลุ่ม เช่น เกษตรกรที่ อ.เชียงคาน จ.เลยรวมกลุ่มเพื่อขายปาล์มผ่านบริษัทเมืองเลยปาล์ม  ราคาผลผลิตได้เพียง กก.ละ ๒ บาท  ซึ่งยังถือว่าไม่มีโรงสกัดปาล์มน้ำมันที่อยู่ใกล้รัศมีของพื้นที่ปลูก  ราคาต้นพันธุ์มีราคาแพง  มีความเสี่ยงต่อการได้รับต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพไม่ตรงตามสายพันธุ์                 นโยบายส่งเสริมการปลูกพืชน้ำมันในภาคอีสานโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันยังเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ  และอยู่ในระยะทดลองความเป็นไปได้ในการปลูก     ในขณะที่อ้อยและมันสำปะหลังซึ่งมิใช่พืชชนิดใหม่ของภาคอีสาน  แต่เกษตรกรเป็นเพียงลูกไล่ในการผลิตป้อนโรงงานอุตสาหกรรม  โดยที่ยังกำหนดราคาไม่ได้   ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดโลกมีมากน้อยขนาดไหน   การขยายพื้นที่ปลูกพืชน้ำมันทั้ง ๓ ชนิดจึงมีความเสี่ยงที่จะขยายเข้าไปในพื้นที่ป่า พื้นที่นา และพื้นที่ชุ่มน้ำ เมื่อราคาผลผลิตดี   ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งอาหารถูกทำลายจากการใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม  ในขณะที่เกษตรกรยังยากจนเหมือนเดิม  ประเทศชาติได้ประโยชน์เพียงมีพืชน้ำมันทดแทนนำเข้าน้อยนิด  นโยบายลักษณะนี้มีประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่โปรดคิดกันให้ดี
คนไม่มีอะไร
   แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ต้องถูกกำหนดโดยคนใต้   ศยามล  ไกยูรวงศ์โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา               การโฆษณาประชาสัมพันธ์กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการลงทุนดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้มีอย่างต่อเนื่อง จากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการลงทุน (BOI) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับการขานรับจากนักเศรษฐศาสตร์กันถ้วนหน้า เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล   และนักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน                  ประเด็นน่าสนใจว่ามุมมองด้านเดียวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ประชาชาติประการเดียวนั้น ทำให้ประเทศชาติอยู่รอดได้จริงหรือไม่   เมื่อเปรียบเทียบกับการสูญเสียระบบนิเวศทรัพยากรชายฝั่งทะเลของภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน  การเกิดมลพิษทางทะเล บนบก และอากาศ สร้างภาวะโลกร้อน  รวมถึงอุบัติภัยทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้  การพัฒนาแบบเดียวกับภาคตะวันออกเป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาภูมิภาคที่คนใต้พึงปรารถนาหรือไม่  หรือเป็นเพียงความต้องการของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศร่วมกับนักการเมือง และข้าราชการประจำที่หวังผลประโยชน์มหาศาลจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของชาติ  โดยคนไทยได้เพียงเศษเงินเท่านั้น              เหตุผลสำคัญของการขยายตัวพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ในภาคใต้ภายใน 3 ปีข้างหน้า สืบเนื่องจากพื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกถึงจุดอิ่มตัว  เพราะความหนาแน่นของมลภาวะในอากาศบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเพิ่มขึ้นจนมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว หลังจากการสร้างโรงงานของโครงการปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และพลังงานที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ 11 โครงการ   เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับความไม่ปลอดภัยและภยันตรายมาถึงคนไทยทุกเวลา  เพราะแม้แต่ปัญหาของภาคตะวันออกซึ่งสร้างรายได้ให้กับคนระยองปีละแปดหมื่นล้านบาท  แต่สุขภาพของคนระยองกลับมีความเสี่ยงต่อสุขภาพสูงสุด   โดยที่ปัจจุบันนี้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ สุขภาพของความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ยังไม่มีคำตอบว่ารัฐบาลและนักลงทุนเจ้าของโครงการจะรับผิดชอบประการใด                 ความเสี่ยงต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากภาคตะวันออก กำลังถูกผลักภาระมาขยายผลที่ภาคใต้  จากการเล็งหาพื้นที่ใหม่ของนักลงทุน ซึ่งแสวงหากำไรและผลประโยชน์อย่างไม่สิ้นสุด  โดยไม่พิจารณาศักยภาพของพื้นที่และระบบนิเวศน์ของภาคใต้รองรับได้มากน้อยเพียงใด   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดทิศทางการพัฒนามาจากส่วนกลางคือนักลงทุนและรัฐบาลนั้น   มีความชอบธรรมหรือไม่สำหรับคนในท้องถิ่นที่เป็นคนใต้ควรสังวรณ์                 คำว่า "การพัฒนาที่ยั่งยืน"  ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการกำหนดการพัฒนาระดับโลก และถูกกำหนดไว้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10  ไม่ได้พิจารณารายได้ทางเศรษฐกิจประการเดียว แต่ต้องอยู่บนฐานของการมีสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน    การพิจารณาตัดสินใจอนุมัติโครงการของรัฐบาลจึงจำเป็นต้องศึกษาประเมินผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพทั้งในระดับยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ ต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาระดับภูมิภาคที่มาจากเสียงของคนใต้อย่างแท้จริง  การประเมินผลกระทบรายโครงการที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาภาคใต้ว่ามีการกระจายรายได้ให้กับคนใต้อย่างเป็นธรรมหรือไม่และมีความยั่งยืนต่อการดำรงชีวิตของคนใต้ และคนไทยทั้งประเทศอย่างไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาพื้นที่อาหารและระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ของภาคใต้ ทั้งพื้นที่บนบก ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ที่จะดำรงอยู่ให้กับลูกหลานในวันข้างหน้าอย่างยั่งยืน                โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้บริเวณพื้นที่ตอนบน (จ.ประจวบคีรีขันธ์-ระนอง) ตอนกลาง   (อำเภอสิชลและอำเภอขนอม ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปถึงทับละมุ จ.พังงา)  และตอนล่าง (อ.จะนะ จ.สงขลา- อ.ละงู จ.สตูล) มีเป้าหมายเพื่อสร้างเส้นทางเศรษฐกิจลำเลียงน้ำมัน และสินค้าต่างๆ เชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกสองฝั่ง คือ ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน ซึ่งเรียกว่า "Land Bridge"  และยังประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐาน (Logistic) ได้แก่ ถนน รถไฟ และท่อลำเลียงน้ำมันระหว่างท่าเรือน้ำลึกสองฝั่ง    พร้อมกับการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลางบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมพลังงาน  บริเวณพื้นที่หลายหมื่นไร่  ในลักษณะเดียวกับการตั้งอุตสาหกรรมภาคตะวันออก                  แรงจูงใจที่นักลงทุนพูดเสมอต่อประโยชน์ของโครงการ คือ การมีอุตสาหกรรมต้นน้ำแบบอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ  การมีเส้นทางขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกของไทย ทำให้ลดต้นทุนการส่งสินค้าได้อย่างมหาศาล  การโฆษณาชวนเชื่อเช่นนี้ยังขาดรายงานการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านดังที่กล่าวข้างต้น   ซึ่งทำให้คนท้องถิ่นหลงเชื่อว่าโครงการลักษณะนี้สร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น เหมือนที่คนภาคตะวันออกถูกหลอกมาแล้ว  แต่ผลประโยชน์อยู่ที่ใครกันแน่  และผลกระทบตกอยู่กับใคร เป็นประเด็นที่คนใต้ต้องตั้งคำถาม และเรียนรู้บทเรียนจากภาคตะวันออก                 จากการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของ สศช. (๒๕๕๑) ต่อศักยภาพของพื้นที่ภาคใต้ มุ่งเน้นความเป็นไปได้ของการพัฒนาเศรษฐกิจจากจุดแข็งของฐานทรัพยากรและทางกายภาพของพื้นที่ภาคใต้  ซึ่งสามารถเปิดประตูสู่ทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีพื้นที่ ๔๔.๒ ล้านไร่ โดยวิเคราะห์ว่าขนาดเศรษฐกิจของภาคใต้ค่อนข้างเล็กและมีฐานการผลิตแคบ จากผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่ คือประมาณร้อยละ ๙ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ต่อปี  ในขณะที่การวิเคราะห์ด้านสังคมนำเสนอว่ากำลังแรงงานนอกพื้นที่ภาคการเกษตรสูงขึ้น  เหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ สำหรับด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปรากฏความเป็นจริงว่า พื้นที่ป่าบกและป่าชายเลนเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศ  ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง  ปัญหาการกัดเซาะเป็นแนวยาวทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย  ปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยและบำบัดน้ำเสียรุนแรงขึ้นในเมืองใหญ่                  จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลของ สศช. แสดงให้เห็นว่า ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมก็มาจากผลพวงของการพัฒนาที่ผ่านมา  แต่ สศช.ได้นำฐานข้อมูลมาวิเคราะห์โน้มเอียงให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคง และความยากจนของสังคม  และีกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนา ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีได้   โดยที่การวิเคราะห์ดังกล่าวมาจากฐานข้อมูลเชิงมหภาคเท่านั้น  ไม่ได้เชื่อมโยงจากฐานข้อมูลระดับจุลภาคที่เป็นข้อมูลของชุมชน ซึ่งมีกลุ่มคนที่มีบทบาทในสังคม และเป็นปัจจัยเงื่อนไขต่อสร้างภูมิคุ้มกันของสังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรป่าบกและป่าชายเลนเพิ่มขึ้น                     เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ สศช. ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่อุตสาหกรรมในอนาคต   เพื่อศึกษารายละเอียดพิจารณาพื้นที่ใหม่สำหรับรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานในอนาคตให้สอดคล้องกับศักยภาพและภูมิสังคมของพื้นที่     และให้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและเกิดการยอมรับจากประชาชนก่อนดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ใหม่  และเน้นการดูแลสุขภาวะของประชาชนเป็นสำคัญ                  จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ยากที่จะให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนพัฒนาเชิงพื้นที่  เนื่องจากได้ถูกกำหนดโดย สศช.และรัฐบาลแล้ว   การมีส่วนร่วมคือการสร้างการยอมรับต่อการพัฒนาโครงการ  และไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง  การแก้ไขปัญหาคือการเยียวยาความเสียหายและการฟื้นฟูสุขภาวะจากการได้รับผลกระทบจากการพัฒนา    การจัดทำแผนพัฒนายุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ (Strategic Environmental Assessment/SEA) โดยภาครัฐคือการว่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิคในการดำเนินการโครงการ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหา ภายในกรอบของกฎหมายและแผนพัฒนาดังกล่าว   การมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนา  และการตัดสินใจว่าพื้นที่ของชุมชนควรถูกพัฒนาในทิศทางใดไม่ใช่ประเด็นของการจัดทำ SEA                เมื่อเป็นเช่นนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนต้องเริ่มต้นวันนี้ด้วยการกำหนดด้วยตนเองว่าชุมชนของตนเองจะไปทิศทางใด วิสัยทัศน์การพัฒนาในอีก ๕๐ ปีข้างหน้าต้องการแบบไหน  มิใช่ปล่อยให้ผู้กำหนดนโยบายเช่นรัฐบาล และสภาพัฒน์ฯเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนด   และอ้างว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วม   การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนเป็นแบบใด คนใต้ควรปฏิบัติการด้วยตนเองจากการร่วมกำหนดว่าแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ควรเป็นอย่างไร
คนไม่มีอะไร
  ทางออกของชาวสวนยางเมื่อราคายางพาราตกต่ำ ศยามล  ไกยูรวงศ์โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา               ยางพาราถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนใต้ที่ผูกพันทั้งทางวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจมานานถึง ๑๐๘ ปี  ระบบการผลิตแบบพืชเชิงเดี่ยวได้เข้ามาแทนที่ป่ายางที่เติบโตพร้อมกับสวนผลไม้และป่าธรรมชาติซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบสวนสมรม  หรือสวนพ่อเฒ่า   เงื่อนไขส่งเสริมการปลูกสวนยางโดยใช้กลยุทธ์ของเงินกองทุนสงเคราะห์สวนยางจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (สกย.) การส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูก  ประกอบกับราคายางที่พุ่งขึ้นสูง  และในตลาดโลกยังมีความต้องการยางพาราธรรมชาติเพื่อมาทำอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราได้หลากหลายชนิด  ทำให้พื้นที่การปลูกยางพาราขยายเพิ่มขึ้นและรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าของภาคใต้ และป่าหัวไร่ปลายนาของภาคอีสาน  ป่าธรรมชาติของภาคตะวันออก  ยางพาราจึงเป็นพืชชนิดใหม่ที่รัฐบาลส่งเสริม  และเป็นสวนป่าที่กรมป่าไม้และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีเป้าหมายสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับองค์กรจากสวนป่าเชิงพาณิชย์ของยางพารา                อย่างไรก็ตามปัจจัยการกำหนดราคายางนอกจากถูกกำหนดโดยความต้องการและปริมาณของตลาดโลกแล้ว  แต่ยังถูกกำหนดด้วยมือที่มองไม่เห็น จากการเก็งกำไรซื้อขายล่วงหน้า  และการผูกขาดของกลุ่มทุนที่เป็นผู้กำหนดราคา    ตลาดยางพาราในไทยถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนสิงคโปร์และมาเลเซีย  ต่อมาเป็นกลุ่มทุนไทย   ในด้านอุตสาหกรรมยางพาราถูกควบคุมโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม เช่น เยอรมัน อิตาลี อังกฤษ และอเมริกา และมีสายป่านต่อกันกับพ่อค้าอุตสาหกรรมยางในไทย    ประกอบกับราคายางพาราที่ผันแปรไปตามราคาขึ้นลงของน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิตยางสังเคราะห์    ทำให้ปัจจัยในการควบคุมราคายางพาราขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศทั้งด้านความต้องการ ปริมาณ สถานการณ์โลก สถานการณ์ของราคาน้ำมันที่สัมพันธ์กับการผลิตยางสังเคราะห์    ในช่วงที่น้ำมันมีราคาสูง จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคายางสังเคราะห์สูงขึ้นด้วย เป็นผลให้ประเทศต่างๆ หันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากยางพารามีราคาสูงเกินไปผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องกลับมาใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคายางพาราต้องปรับตัวลดลง                ปัจจัยด้านราคาของยางพารายังถูกแทรกแซงด้วยมือที่มองไม่เห็นจากการสต็อคยางพาราโลก   หากมียางพาราสะสมในโกดังสูงเกินไป ประเทศต่างๆ จะรีบระบายยางคงค้างแก่บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์และรับซื้อยางที่ผลิตในปีปัจจุบันลดน้อยลง   ซึ่งส่งผลให้ราคายางตกต่ำลง   หากเกิดภาวะความต้องการยางพาราส่วนเกินเป็นเวลานาน    ประเทศผู้ผลิตยางจะผลักดันให้ประเทศต่างๆ ที่ผลิตยางลดปริมาณการผลิตลง                การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเป็นปัจจัยต่อราคายาง   ตลาดที่มีอิทธิพลมากคือ ตลาดญี่ปุ่นและตลาดสิงคโปร์ โดยตลาดญี่ปุ่น(โตเกียวและโกเบ)  เป็นตลาดที่มีการซื้อเพื่อเก็งกำไรกว่าร้อยละ 90   ที่เหลือเป็นการซื้อขายของผู้นำเข้าและพ่อค้าคนกลาง ยางพาราที่ซื้อขายส่วนใหญ่เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 จากไทย ตลาดญี่ปุ่นจึงมีอิทธิพลต่อไทยมาก ส่วนตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดเก่าแก่ เป็นศูนย์กลางการขนส่ง การเงิน การธนาคาร และอื่นๆ    อีกทั้งยังอยู่ใกล้แหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้    ได้แก่  ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 3 ประเทศดังกล่าวมีผลผลิตประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณผลผลิตทั้งโลก การซื้อขายในตลาดสิงคโปร์ร้อยละ 80 เป็นการซื้อขายล่วงหน้า ที่เหลือเป็นการส่งมอบจริง               ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกยางพารามากที่สุดของโลก   แต่การกำหนดราคากลับถูกกำหนดโดยตลาดของสิงคโปร์  โดยที่รัฐบาลไทยไม่เคยวางแผนในการพัฒนาให้ไทยเป็นมีบทบาทของการกำหนดราคาตลาดยางพาราในระดับโลก     รัฐบาลบริหารจัดการและควบคุมราคายางแบบฝ่ายรับจากการกดดันของประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศ    รัฐบาลใช้วิธีแทรกแซงราคายางเป็นระยะๆเพื่อให้ราคายางคงที่  ในเวลาที่ราคายางตกต่ำลง  เพื่อหาเสียงกับชาวสวนยางมาโดยตลอด  ดังเช่น ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี  ได้มีการแทรกแซงราคายาง  6 ระยะ รวม 1.3 ล้านตัน รวมงบประมาณ 25,394 ล้านบาท  ผลของการดำเนินการดังกล่าว ทำให้รัฐบาลขาดทุน 6,267 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากการทุจริตของรัฐมนตรี    โดยใช้วิธีการล็อบบี้ กักตุน ยักยอก และทุบราคา เช่น การทำสัญญาขายยางพารากว่า 50 สัญญา  แต่หลายสัญญาไม่มีการส่งมอบยางจริง  (พ.ศ.2536 - 2537)                นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมราคายาง กำหนดเขตพื้นที่การปลูกยาง ควบคุมพันธุ์ยางในการปลูก  โดยไม่ให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตยางพาราด้วยตนเอง  ทั้งนี้เพื่อให้อยู่กายใต้การผลิตยางพาราที่แข่งขันกับตลาดโลก   แต่จากโครงสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวกลับทำให้เกิดการผูกขาดของกลุ่มทุนในการควบคุมการผลิตและการตลาดของยางพารา ในขณะที่เกษตรกรเป็นลูกไล่ในการผลิตยางพาราป้อนตลาดภายในและภายนอกประเทศ                 เมื่อมาพิจารณาปัจจัยที่กำหนดการผลิตและราคายางพารา  จะเห็นได้ชัดว่าชาวสวนยางเป็นเพียงผู้ป้อนผลผลิตยางพาราที่กระบวนการต้นน้ำ  โดยไม่มีสิทธิในการกำหนดราคายางพารา   ปีพ.ศ.2550 ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบและน้ำยางสดของชาวสวนยางในไทย กรณีที่ไม่ต้องจ้างแรงงานและไม่นับรวมราคาที่ดิน อยู่ในอัตราเฉลี่ยกิโลกรัมละประมาณ 35 บาท ขณะที่ราคายางแผ่นดิบและน้ำยางสดเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงกิโลกรัมละ 50-100 บาท นับว่าชาวสวนยางมีรายได้ค่อนข้างดี  แต่เมื่อเปรียบเทียบราคายางแผ่นดิบในท้องตลาดที่เป็นราคาท้องถิ่น ราคาประมูล จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นซึ่งแตกต่างกันไป     ราคาตลาดกลางยางพาราของแต่ละจังหวัดที่มีการซื้อขายกัน เช่นที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ราคายางแผ่นดิบ กก.ละ 47.138  บาท ในขณะที่ราคาท้องถิ่น กก.ละ 73.05 บาท แต่ราคาประมูล กก.ละ 74.67 บาท              คำถามจึงมีอยู่ว่าราคายางตกต่ำลงในครั้งนี้  รัฐบาลยังคงใช้วิธีเดิมๆหรือไม่  เพื่อแก้ไขปัญหาปลายเหตุและใช้เงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุนอันเป็นวัฐจักรแบบพายเรือในอ่าง   ในขณะที่ชาวสวนยางได้พยายามหาทางออกด้วยตนเอง   ดังเช่น  กรณีชุมชนไม้เรียง  ในการสร้างความร่วมมือกับชุมชนใกล้เคียงพัฒนาเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมชุมชนแปรรูปยางพารา ๑๑ ชุมชน  ในขณะเดียวกันชาวสวนยางยังต้องทำการเกษตรกรรมที่หลากหลาย ทั้งการทำสวนยาง สวนผลไม้ ทำนา และทำธุรกิจขนาดเล็กอย่างหลากหลาย  เพื่อมิให้เผชิญกับปัญหาการพึ่งพืชเงินตราของยางพาราอย่างเดียว  สำหรับพื้นที่ปลูกยาง  การปลูกพืชร่วมยางเป็นทางออกสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของผืนดิน ใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนสารเคมี  เป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดทั้งการลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว  และมีอาหารกินที่หลากหลาย   ซึ่งเป็นทางออกที่ผสมผสานของครอบครัวที่ต้องพึ่งตนเอง และยังต้องพึ่งพิงกับระบบทุนนิยม  
Hit & Run
 ภาพจากเว็บบอร์ด pantipจันทร์ ในบ่อ เชื่อว่าหลายคนคงได้ชมรายการตีสิบเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยเชิญ ‘คุณต้น' อดีตนักร้องวง ‘ทิค แทค โท' บอยแบนด์ไทยสไตล์ญี่ปุ่นรุ่นแรกๆ ที่โด่งดังราวสิบปีก่อนมาออกรายการ เพื่อเป็นอุทธาหรณ์แก่สังคมเรื่องผลเสียจากการใช้ยาเสพติดคุณต้นสูญเสียความทรงจำและมีอาการทางสมองชนิดที่เรียกว่า ‘จิตเภท' จากการใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าและยานอนหลับชนิดรุนแรง จนหลายปีมานี้เขาได้หายหน้าหายตาไปจากวงการบันเทิงและจดจำใครไม่ได้เลย คุณแม่เคยสัญญากับคุณต้นไว้ว่า หากอาการดีขึ้นจะพามาออกรายการตีสิบอีกครั้งเพื่อทบทวนเรื่องราวในอดีต เพราะคุณต้นและเพื่อนๆ เคยมาเป็นแขกอย่างสนุกสนานในสมัยที่วง ‘ทิค แทค โท' ยังโด่งดัง เวลาผ่านไปคุณแม่และครอบครัวยังดูแลคุณต้นเป็นอย่างดีเสมอมา วันนี้คุณต้นจดจำคนรอบตัวได้และความทรงจำในอดีตเริ่มกลับมามากแล้ว คุณแม่จึงติดต่อมาที่รายการตีสิบเพื่อให้คุณต้นมาออกรายการอีกครั้งเรื่องราวของคุณต้นสามารถเป็นบทเรียนให้ใครหลายๆ คนได้อย่างแน่นอน แต่กระนั้นสิ่งที่ชวนตั้งคำถามกลับเป็นวิธีการนำเสนอของรายการตีสิบมากกว่า แม้ว่าการพูดคุยหรือการสัมภาษณ์โดยตรงจะเป็นจุดเด่นของรายการนี้ และเป็นวิธีการนำเสนอแบบหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าเข้าถึงผู้ชมและมีความน่าสนใจสูง แต่การพูดคุยก็มีความละเอียดอ่อนในตัวมันเองอย่างยิ่ง อย่างที่เคยมีกรณีตีศอกฟาดปากกันมาแล้วในการสัมภาษณ์ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพที่ผ่านมาเมื่อมีคำถามระคายหู และยิ่งสำหรับคุณต้นซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากบทเรียนของอดีตแล้ว การนำเสนอต้องยิ่งละเอียดอ่อนระมัดระวังอย่างสูง  แต่รายการตีสิบเทปนี้ดูเหมือนจะละเลยรายละเอียดของ ‘ความเป็นมนุษย์' ไปมาก เมื่อรายการเหมือนไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การพูดคุยแต่เพียงเป็นการจับเอาคุณต้นมานั่งออกโทรทัศน์เพียงเพื่อบอกและย้ำแก่สาธารณะตลอดเวลาว่า คนที่นั่งอยู่ตรงนี้ ‘ไม่ปกติ' คุณต้นจึงถูกทดสอบจาก วิทวัส สุนทรวิเนตร์ ผู้ดำเนินรายการตลอดเวลาเพื่อยืนยัน ‘อาการที่ดีขึ้น' เท่านั้น และทั้งที่ผ่านไปได้หลายคำถาม แต่เมื่อคำถามสุดท้ายคุณต้นไม่สามารถตอบโจทย์การคิดเลขในใจได้ถูก เทปการสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ตัดออกทั้งที่สามารถทำได้โดยไม่ได้ทำให้เนื้อหาสาระเสียแต่อย่างใด รายการกลับปล่อยความผิดพลาดของคุณต้นออกมาสำหรับคนดูรายการเป็นไปได้ว่าคงรู้สึกสะท้อนใจไม่น้อย แต่สำหรับคุณต้นแล้วการทดสอบต่างๆ ออกรายการโทรทัศน์มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย และที่สำคัญการทดสอบนั่นเองก็คือสิ่งที่จะชี้นำให้สังคมตัดสินคุณต้นให้มีอาการไปมากกว่า ‘ความเป็นมนุษย์' ที่คุณต้นเป็น คุณต้นอาจเป็นคนๆ หนึ่งที่มีอาการผิดปกติที่สมองจริง แต่ที่สำคัญคือ คุณต้นยังเป็นมนุษย์เหมือนทุกๆ คน ซึ่งมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมาก็ไม่สมควรถูกทดสอบใดๆ จากสาธารณะว่า เขาปกติหรือไม่ปกติกว่าคนอื่นหรือไม่ ส่วนสิ่งที่สังคมควรทำคือเรื่องการเปิดโอกาสต่างหาก แม้ว่าวันนั้นคุณต้นดูเหมือนยิ้มและตอบคำถาม แต่หลายครั้งคุณต้นก็ขมวดคิ้วและมีสีหน้าขรึม ยกมือลูบใบหน้าครุ่นคิด ในความเป็นจริงเราไม่รู้เลยในช่วงเวลาที่คุณต้นกำลังออกรายการหรือกำลังถูกทดสอบ คุณต้นกำลังเครียดหรือไม่ เหมือนกับครั้งหนึ่งในอดีตที่คุณแม่เล่าว่าคุณต้นเป็นคนร่าเริง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ชอบเก็บงำ บางที ณ เวลานั้น คุณต้นก็อาจกำลังเก็บงำอะไรอยู่ในใจมากกว่าที่เราเห็นในจอโทรทัศน์ไม่กี่นาทีก็ได้  การที่คุณแม่ของคุณต้นมีความหวังดีต่อสังคมและคุณต้นโดยเป็นผู้ติดต่อมาทางรายการด้วยตัวเองเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง แต่ความรับผิดชอบในด้านรูปแบบการนำเสนอที่ไม่ควรลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์นั้นน่าจะเป็นความรับผิดชอบของทางรายการที่มีประสบการณ์มากกว่า การหวังเพียงการใช้อารมณ์ที่ตรึงคนดูมาเป็นเครื่องมือในการคงเรทติ้งให้สูงไว้นั้นคงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกันต่อไปในอนาคต แม้ว่าเรื่องยาเสพติดจะเป็นอุทธาหรณ์แก่สังคมได้ก็ตาม แต่เชื่อว่าทางรายการที่มีสมองขนาดนี้น่าจะสร้างรูปแบบการนำเสนอที่ดีได้มากกว่านี้การเดินไปสู่เส้นทางยาเสพติดของแต่ละคนคงมีเหตุผลต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่กระตุ้นเร่งเร้าจนอาจพอฟันธงได้ก็คือ แรงบีบคั้นจากคนรอบข้างนั่นแหล่ะที่เป็นแรงผลักคนๆ หนึ่งให้เดินไปสู่ทางที่ตีบตันได้อย่างรุนแรงและหลังชนฝา ในทางเดียวกันรายการตีสิบเองอาจจะต้องทบทวนบทบาทตัวเองด้วยว่าบทสัมภาษณ์ไม่กี่นาทีในวันนั้นกำลังสร้างแรงบีบคั้นทางสังคมให้คนๆ หนึ่งไม่แตกต่างไปจากที่สังคมกำลังผลักใครบางคนไปสู่ปลายขอบเหวอันมืดมิดอยู่หรือไม่    สุดท้ายนี้ ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณต้นและคนอื่นๆ ไม่ว่าใครที่กำลังเผชิญแรงบีบคั้นรอบด้านจากสังคม ขอให้ทุกคนจงแปลเปลี่ยนมันเป็นความสำเร็จเหมือนกับที่ จอห์น แนช เคยทำได้ หากใครเคยดูหนังเรื่องA Beautiful Mind คงทราบว่าเป็นหนังที่สร้างจากบางมุมชีวิตของเขาซึ่งเป็นผู้มีอาการทางสมองชนิดจิตเภทแบบเดียวกับคุณต้นเป็น แต่ในที่สุด จอห์น แนชก็ฟันฝ่าข้อจำกัดของตนเองจนสามารถเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ และยังคิดทฤษฎีเกมจนคว้ารางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์มาได้ ก้าวต่อไป..ก้าวต่อไป ครับ
ประกายไฟ
แถลงการณ์"การเมืองใหม่ต้องเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ระบบลูกขุนลดงบประมาณทหาร และสร้างรัฐสวัสดิการ"ณ  อนุสรณ์สถาน ญาติวีรชน 14 ตุลาวันอาทิตย์ที่  28 กันยายน 2551 ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เสนอ "การเมืองใหม่" โดยอ้างว่าเป็นผู้จุดประกายการปฏิรูปการเมืองผ่าทางตัน "การเมืองแบบเก่า" ที่เต็มไปด้วยนักการเมืองซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็น "เจ้าภาพ" เพื่อการสร้างประชาธิปไตย เพราะการเคลื่อนไหวและเป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรฯที่ผ่านมาล้วนลดบทบาทและไม่เชื่อมั่นในอำนาจและความคิดของประชาชนคนธรรมดา ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอ นายกฯพระราชทาน , การเลือกตั้งผสมการสรรหา (เมื่อสังคมไม่ตอบรับก็เปลี่ยนมาเป็นเลือกตั้งทั้งหมดแต่มาจากสาขาอาชีพครึ่งหนึ่ง)  ดังนั้น "การเมืองใหม่" ของกลุ่มพันธมิตรจึงเป็นแค่เพียงการเมืองใหม่ (สูตรโบราณ) เท่านั้นความพยายามเสนอโครงการทางการเมืองออกมาอย่างเป็นรูปธรรมของกลุ่มพันธมิตรฯ เฉพาะหน้าเป็นไปเพื่อเป้าหมายทำลายศัตรูทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มีข้อเสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมอย่างแท้จริง ไม่มีอุดมการณ์ที่จะสร้างการเมืองใหม่ที่แท้จริงแต่อย่างใด              กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นคนกลุ่มแรกที่พยายามเสนอการเมืองใหม่ เพราะการปฏิรูปสังคม-การเมือง เป็นสิ่งที่ภาคประชาชนพยายามเสนอและผลักดันให้เป็นจริงตลอดมา ที่ชัดเจนที่สุดคือข้อเสนอจากเวทีสมัชชาสังคมไทยเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ที่พูดถึงการสร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการภาคประชาชน เพิ่มอำนาจประชาชนคนธรรมดา ลดอำนาจรัฐ ตัวอย่างข้อเสนอที่ก้าวหน้าได้แก่ การลดงบประมาณกองทัพ การเสนอให้มีการเลือกตั้งได้จากสถานที่ทำงาน การเสนอระบบลูกขุนและการสร้างรัฐสวัสดิการ เป็นต้น              สหภาพแรงงาน นักศึกษา ประชาชนและองค์กรแนวร่วมในฐานะที่เป็นองค์กรภาคประชาชนเล็งเห็นว่าเราต้องปฏิรูปสังคมที่เป็นอิสระจากพันธมิตรฯ จึงควรมีข้อเสนอโครงการทางการเมืองของเราเอง จากการประชุมปรึกษาหารือกัน เพื่อนำเสนอต่อสังคมและจัดกิจกรรมรณรงค์ที่เป็นอิสระจากทั้งฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสังคมการเมืองที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนธรรมดาจริงๆ ดังต่อไปนี้              1. การปฏิรูประบบการเมือง  1.1 สนับสนุนให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน ต้องยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา อันเนื่องมาจากมีความซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น โดยสมาชิกสภาต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งหมด 1.2 ต้องลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคของการรวมตัวตั้งพรรคการเมืองของประชาชน เช่น ไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน มีสาขาพรรค และจำนวนสมาชิกตามที่กำหนด1.3 เน้นการเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแปรตามจำนวนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามสถานที่ทำงาน เพื่อให้แรงงานสามารถมีผู้แทนของตนเองในพื้นที่ที่ทำงานได้             2. การกระจายอำนาจ             ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคที่เน้นการรวมศูนย์จากส่วนกลาง แต่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนปกครองตนเองผ่านการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์             3. ปฏิรูประบบศาล             3.1 ต้องลดอำนาจของศาลที่มีอยู่เดิม อันเนื่องมาจากผู้พิพากษาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราเสนอให้ใช้ระบบลูกขุนที่มาจากการประชาชนธรรมดามาแทนผู้พิพากษาในระบบราชการแบบเดิม 3.2 ยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นรูปแบบของการลงโทษที่ป่าเถื่อนและไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาจริง 3.3 ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นกฎหมายที่ล้าหลังและคลั่งชาติ  4. ปฏิรูปกองทัพ                4.1 ต้องลดงบประมาณของกองทัพ เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะสงคราม ดังนั้นไม่จำเป็นต้องนำงบประมาณจำนวนมากไปใช้สำหรับการส่งเสริมแสนยานุภาพของกองทัพ             4.2 เสนอให้ย้ายค่ายทหารออกจากเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวสำหรับสร้างสวนสาธารณะ และศูนย์ฝึกอาชีพให้แก่คนจน 5. ปฏิรูประบบโครงสร้างภาษี ต้องยกเลิกภาษีทางอ้อม (VAT) ที่เก็บจากประชาชนธรรมดา และต้องเก็บภาษีทางตรง ภาษีที่ดิน ภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยและอภิสิทธิ์ชนซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย มาใช้เพื่อสร้างสวัสดิการให้แก่คนจน 6. รัฐสวัสดิการ             6.1 ต้องมีการปฏิรูปที่ดินที่รวมศูนย์อยู่กับนายทุนไม่กี่คนให้แก่ คนจน และเกษตรกร ที่ปราศจากที่ดินหรือมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ            6.2 ต้องสร้างรัฐสวัสดิการ ซึ่งหมายความถึง ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาล การศึกษา และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพในราคาถูกหรือฟรี            6.3 ต้องยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้งเสรี โดยรัฐจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมายและมีมาตรฐานทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัย            6.4 ต้องมีการขยายมาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล เช่น รถเมล์ ค่าน้ำ ค่าไฟฟรี ให้มากกว่าเป็นแค่มาตรการเฉพาะหน้า โดยต้องยกระดับการให้บริการการขนส่งมวลชน การไฟฟ้า ประปา และอื่นๆ ให้มีคุณภาพและมีราคาถูกที่สุด            6.5 ยกเลิกแรงงานนอกระบบ และการเอาเปรียบแบ่งแยกแรงงานข้ามชาติ โดยผู้ใช้แรงงานทุกคนต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเหมือนกันทั่วประเทศ                                    กิจกรรม             1. จะมีการรณรงค์แจกใบปลิวและสร้างเวทีพูดคุยกับประชาชนทั่วไป และขบวนการภาคประชาชนอื่นๆเกี่ยวกับการเมืองใหม่ของภาคประชาชน โดยกิจกรรมแรกของพวกเรา คือ แจกใบปลิวและให้ข้อมูลประชาชนที่สวนจตุจักร วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม 2551 เวลา 11.00 น.                                                                                                ลงชื่อ                                                                    1. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)                                                                    2.สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล                                                                    3. กลุ่มประกายไฟ
คนไม่มีอะไร
    ชาวปัตตานีไม่คิดต่อต้าน  "ฮาลาล"  แต่...เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2551 ได้ลงไปสัมผัสพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสภาวะความขัดแย้งของพื้นที่สามจังหวัด ณ วันนี้ เชื่อว่าหลายๆ คนอาจไม่รู้ว่า "ปัตตานีกำลังจะกลายเป็นครัวอาหารฮาลาลสู่ระดับโลก" ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) และภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล จังหวัดชายแดนภาตใต้ ปี 2552-2555 ครัวฮาลาลแห่งนี้จะกินพื้นที่บริเวณอำเภอสายบุหรี่ และพื้นที่อำเภอปะนะเระ พื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างโดยประมาณทั้งหมด 933 ไร่ และจะกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล  รูปที่1 เป็นเครือข่ายที่ส่งออกอาหารไปทั่วโลก                                                                             "ฮาลาล" เป็นสิ่งที่จะเกิดบนพื้นที่ ที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับคนมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัด หรือมุสลิมทั่วโลกคงไม่มีใครที่จะปฎิเสธคำว่า "ฮาลาล" ออกไปจากชีวิตของเขาได้ เพราะ "ฮาลาล"เป็นสิ่งที่ดี บริสุทธิ์ ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการผลิต  การให้บริการ หรือการจำนายใดๆ ดังนั้น อาหารฮาลาล  จะต้องเป็นอาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ปรุง ผสม ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามศาสนาบัญญัติ เป็นการหลักประกันว่ามุสลิมทั่วโลกบริโภคได้จากโครงการที่จะเกิดขึ้นนี้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่คิดต่อต้านแต่ชาวบ้านกำลังจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแห่งชาติ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับบริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด  นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ต้องเกิดขึ้นด้วยกระบวนที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่ว่าการได้มาซึ่งที่ดินของเขตนิคมฯ การจัดการทางสังคมก็ต้องถูกต้อง สถานการณ์ในชุมชนหรือคนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอาคารขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะในนี้เป็นสำนักงานของโครงการนี้ ชาวบ้านไม่เคยได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนิคมฯ ชาวไม่เคยรับรู้ว่าโครงการดำเนินการไปถึงไหนแล้ว? ชาวบ้านไม่เคยรับรู้ว่าเขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลก่อตั้งบนเนื้อที่กี่ไร่?  ชาวบ้านไม่เคยรับรู้ว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง? ความเป็นมาของโครงการเมื่อ 29-31 มีนาคม 2545  ณ จังหวัดนราธิวาส  การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 3  ที่ประชุมมีความเห็นว่า  ควรเร่งรัดพัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตร  สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล และมอบหมายให้นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ในขณะนั้น)  รับผิดชอบการทำอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล  โดยส่งเสริมให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล  และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบในการจัดทำมาตรการและแผนในการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ปัตตานี และเมื่อ 24 กันยายน 2545  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนากิจกรรมอาหารฮาลาลครั้งที่ 1/2545  วันที่ 25 เมษายน 2545 (ยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล)  มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินและจังหวัดปัตตานี ศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของการพัฒนานิคมในตอนนี้ก็มีชาวบานบางส่วนที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ชาวบ้านเองก็เริ่มไม่แน่ใจในความเป็น อาหารฮาลาล เพราะว่าข้อมูลทางด้านการจัดการสิงแวดล้อม ข้อมูลในการจัดการทรัพยากรท้องถิ้นไม่แน่ชัดและยังไม่ชัดเจน อาชีพในชุมชน และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนจะเดินไปอย่างไร? เมื่อโครงการนี้เกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลตรงจุดนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ทำให้ชาวบ้านเริ่มที่จะเรียนรู้ความเป็นมาของโครงการนี้ ริเริ่มค้นหาความเป็นฮาลาลและปฎิเสธความไม่เป็นฮาลาลในโครงการดังกล่าว และพร้อมที่จะปกป้องสิทธิชุมชน ตามกฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ตามมาตราที่ 67 ได้รองรับว่า ถ้ามีโครงการใดที่มีผลกระทบต่อประชาชน หรือชุมชน ประชาชนและชุมชนมีสิทธิ์ที่จะประเมินโครงการนั้นด้วยรูป แสดงอาเขตโดยรอบของเขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลรูป บริเวณการก่อสร้างอาคารสำนักงานของเขตนิคมฯรูป การดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานของนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลรูป อาชีพในชุมชน การต้มปลากะตั๊กรูป การตากปลากะตั๊กรูป การตากปลาเพื่อทำปลาแห้งแดดเดียวรูป แหล่งท่องเที่ยวหาดแฆแฆ ตั้งอยู่ใกล้กับเขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลรูป ชายหาดหน้าถนนบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลรูป ความอุดมสมบูรณ์ของป่าพรุในเขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
คนไม่มีอะไร
เคยส่งสัยไหมว่าทำไมหิ่งห้อยชอบอยู่แถวบริเวณต้นลำพู แล้วข้างๆ ต้นลำพูต้องมีต้นโกงกาง มีเรื่องเล่ามายาวนานว่า ต้นลำพูเคยเป็นผู้ชายมาก่อน แล้วไปลงรักนางหิ่งห้อยชวนหนีไปด้วยกัน แต่นางโกงกางก็มีใจให้นายลำพู จึงไม่ยอมให้หนีเลยเอารากตัวเองยึดนายลำพูไว้ นางหิ่งห้อยเลยจำเป็นบินเฝ้าต้นลำพูในยามค่ำคืน       เมื่อวันที่ 22-25 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ได้จัดประชุมเชิงปฎิบัติการครั้งที่2 การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) ณ บ้านทิพย์ สวนทอง จังหวัดสมุทรสงคราม ในการประชุมครั้งนี้ทางสช. ได้จัดวันลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ชุมชนบนวิถีท้องถิ่นแม่กลอง ไปเรียนรู้ 2 ชุมชน ชุมชนแรกเป็นชุมชนแพรกนามแดงซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการน้ำ ชุมชนที่สองเป็นชุมชนบ้านลมทวนได้รับผลกระทบจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวดูหิ่งห้อยจากการลงพื้นที่ชุมชนบ้านลมทวนเชื่อว่าใครหลายๆ คนเคยไปสัมผัสบรรยากาศของหมู่บ้านแห่งนี้ เวลายามเย็นกับการล่องเรือเที่ยวตลาดน้ำ ส่วนยามค่ำคืนนั่งเรือพายชมหิ่งห้อยนับล้านตัว บนวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย รักสงบแบบดังเดิมของชาวบ้านสวนริมคลอง บอกตามตรงเป็นบรรยากาศที่น่าถนุถนอมเก็บรักษาสืบทอดเป็นมรดกให้ลูกหลานชาวแม่กลองต่อไปแต่ในปัจจุบันชาวบ้านชุมชนบ้านลมทวนต้องเจอกับปัญหาอย่างหนักที่มาพร้อมกับการท่องเที่ยว เนื่องจากได้มีผู้ประกอบการใช้เรือหางยาวในการพานักท่องเที่ยวชมหิ่งห้อย จากเดิมในหมู่บ้านมีเรือหางยาววิ่งแค่ 3 ลำ แต่ตอนมีประมาณ 160-170 ลำ มาจากผู้ประกอบการในตัวอำเภออัมพวา ชาวบ้านต้องเจอภาวะเสียงดังในยามค่ำคืนรบกวนเวลาพักผ่อน ปัญหากัดเซาะของชายฝั่งที่เกิดจากลูกคลื่นเวลาเรือหางยาววิ่ง  ชาวบ้านในพื้นที่ยังใช้เรือพายและเรือแจวจุดนี้เองที่ทำให้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับวิถีชีวิติของทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ และพืช ที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ที่เห็นอย่างเจน1.มลภาวะทางเสียงเครื่องยนต์โดยเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ชาวบ้านไม่ต้องหลับนอนกันได้ยินแต่เครื่องยนต์เกิดความรำคาญกับชุมชนในยามวิกา,2.มลภาวะทางอากาศ ควันพิษจากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ทำให้หิ่งห้อยไม่สามารถใช้ชีวิตตามริมฝั่งแม่น้ำได้ ต้องอพยพไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ที่มีสภาพอากาศที่กว่า วงจรชีวิตของหิ่งห้อยในชุมชนต้องสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย3. ผลกระทบที่มากับลูกคลื่นที่เกิดจากเรือยนต์ แรงกะแทกของคลื่นทำให้เกิดการกัดเซาของชายฝั่งอย่างรุแรง ต้นลำพูและต้นไม้ชายฝั่งอยู่ในภาวะเสียหายอย่างหนัก เพราะดินชายฝั่งถูกกระแทก รากของต้นไม้ไม่มีดินสำหรับเกาะยึด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ป่าชายเลนที่มีหิ่งห้อยมากที่สุดถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง และที่สำคญมากไปกว่านี้ไข่ของหิ่งห้อยก็โดนคลื่นกระแทกออกไป ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเชื่อว่าหิ่งห้อยที่หมู่บ้านแห่งนี้จะศูนย์พันธุ์ไปที่ในที่สุด4. ผลกระทบกับวิถีชีวิตของชุมชน ในอดีคนในชุมชนหมู่ที่ 6, 7, 8 และหมู่ที่ 11 ของตำบลบ้านปรกดำเนินชีวิตด้วยความสงบสุข มีแหล่งอาหารจากป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ยามค่ำคืนสามารถพักผ่อนนอนหลับได้ตามปรกติ แต่ในสภาพปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ได้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วจากการท่องเที่ยวดูหิ่งห้อย เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ เลยอยากบอกส่งสารหิ่งห้อยมาก เพราะว่ามันไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แล้วทำไมคนจำนวนมากต้องไปทำลาย และทำร้ายมันด้วย4 เสือ ก่อนลงเรือไปดูหิ่งห้อยจุดหมายเดียวกันเราจะไปหานายลำพูกับนางหิ่งห้อยสวยไมคะ นี้แค่ถ่ายเล่นๆ ยังไม่เอาจริงนะเนี๊ยสิ่งที่ชาวบ้านลมทวนฝากมาคณะท่องเที่ยวจากใต้จ้ากำลังจะไปหาจุดหมายเหมื่อนกันหลายๆ คนอาจส่งสัยว่าทำไมไม่มีรูปของนางหิ่งห้อย นางหิ่งห้อยตั้งเสียใจร้องไห้กับนายลำพูมายาวนาน จนถึงทุกวันนี้ สายตาของนางหิ่งห้อยจะรับแสงอย่างอื่นๆไม่ได้เลย นอกจากแสงดวงจันทร์เท่านั้น ถ้าสายตาของนางหิ่งห้อยต้องเจอกับแสงแฟลตส์ของกล้องถ่ายมันก็จะตายในทันที ในส่วนกลางวันมันจะแอบแถวๆ บริเวณเดียวกันกับนายลำพู สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ตำบลปรก อำเภอเมือ จังหวัดสมุทรสงคราม ขอขอบคุณชาวบ้านชุมชนลมทวน
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง ประชาไท บันทึกปฏิกิริยาฝ่าย ‘ขวาใหม่' ภายใต้ฉายา ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' หลังจากการปราศรัยที่สนามหลวงของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ‘ดา ตอร์ปิโด' เมื่อวันที่ 18 กรกฎคมที่ผ่านมาโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้หยิบประเด็นการปราศรัยของ ‘ดา ตอร์ปิโด' มาวิพากษ์วิจารณ์เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายคืนนับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม เป็นต้นมา กระทั่ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บ.ชน.) ขอให้ศาลอาญากรุงเทพฯ อนุมัติหมายจับเลขที่ 2209/51 ให้จับกุม น.ส.ดารณีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ทำให้ น.ส.ดารณี ต้องสิ้นอิสรภาพตั้งแต่ถูกจับที่บ้านพักเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา และในวันที่ 23 ก.ค. ศาลก็ยกคำร้องไม่ให้ ผศ.ดร.สุทธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ตำแหน่งประกันตัว น.ส.ดารณีคดีของ น.ส.ดารณี ยังทำให้เกิดการออกหมายจับพ่วง ‘นายสนธิ ลิ้มทองกุล' เมื่อวันที่ 23 ก. ค. ด้วยข้อหาเดียวกัน คือเผยแพร่ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างไรก็ตาม หลังสอบปากคำตำรวจยินยอมให้นายสนธิประกันตัว หลังจากนายสนธิพร้อมผู้สนับสนุนหลายพันคนเดินขบวนมาให้กำลังใจที่หน้ากอง บัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อ 24 ก.ค. ที่ผ่านมาทั้งที่คดีนี้อยู่ในขั้นเริ่มต้น จึงไม่มีใครพูดได้ว่า ‘ดา ตอร์ปิโด' มีความผิดหรือไม่ แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำเรื่องนี้ไปขยายผล บอกว่า ‘ดา ตอร์ปิโด' หมิ่นสถาบันกษัตริย์ และบนเวทีก็เต็มไปด้วย ‘การพิพากษา' โดยแกนนำพันธมิตรว่าต้องจัดการ ‘ดา ตอร์ปิโด' ชนิด ‘เอาให้ตาย' ‘ตบให้คว่ำ' ‘ต้องกระทืบ' ฯลฯบัดนี้ ปฏิกิริยาบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อ ‘ดา ตอร์ปิโด' หลายวันหลายคืนได้กลายเป็น ‘คำนิยม' มุมกลับ พวกเขาได้ทำให้ผู้คนจำนวนมากสนทนาถึง ‘ดา ตอร์ปิโด' และมีส่วนกระตุ้นความกระหายใคร่รู้คำพูดคำปราศรัยของเธอต่อไปนี้คือปฏิกิริยาอันเป็นความเห็นของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หวังว่าผู้อ่านจะเต็มอิ่มกับปฏิกิริยาอันกลายเป็น ‘คำนิยม' มุมกลับให้กับคำปราศรัยของ ‘ดา ตอร์ปิโด'000(คำชี้แจง - คำปราศรัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อไปนี้ อาจมีบางช่วงใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ และถ้อยคำบางช่วงมีความจำเป็นต้องตัดออกจึงต้องขออภัยผู้อ่านมา ณ ที่นี้)
ประกายไฟ
  ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กลุ่มประกายไฟ            "รัฐสวัสดิการ เป็นระบบที่อยู่ตรงข้ามกับระบบทุนนิยมทั้งทางปฏิบัติและตรรกะ แต่ระบบทุนนิยมจะดำรงอยู่ไม่ได้หากปราศจากรัฐสวัสดิการ"วอลเตอร์ คอร์ปี ทำไมต้องสังคมนิยมประชาธิปไตย? สำหรับฝ่ายซ้ายทั่วไปอาจตั้งข้อสงสัยกับหัวข้อ ว่าสังคมนิยมมันต้องเป็นประชาธิปไตยในตัวอยู่แล้วมิใช่หรือ  แล้วทำไมต้องมีประชาธิปไตยต่อท้าย มันมีด้วยหรือ สังคมนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย....เพื่อความเข้าใจตรงกัน...การใช้คำว่าสังคมนิยมประชาธิปไตย(Socialism Democracy)ในที่นี้เพื่อเป็นภาพสะท้อนระบบเศรษฐกิจสังคมที่เราสามารถจินตนาการถึงได้ในบริบทปัจจุบัน ที่ก้าวหน้ากว่ารัฐอุตสาหกรรมทั่วไปในยุโรปตะวันตก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า สังคมประชาธิปไตย(Social Democracy) พูดง่ายๆคือแบบหลังเป็นรัฐทุนนิยมประชาธิปไตยทั่วไปที่มีฐานคติการอยู่ร่วมกันระหว่างชนชั้นดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่ในการจัดการกับความไม่เท่าเทียมต่างๆในสังคมเพื่อ ให้สังคมสามารถอยู่รอดด้วยกันได้ (ดังที่ได้เสนอไปในบทความว่าด้วยการปฏิรูปการเมืองของลัทธิแก้) ขณะที่อย่างแรก-สังคมนิยมประชาธิปไตยที่เราจะพูดถึงคือระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มองสังคมอยู่บนฐานของความขัดแย้งทางชนชั้น และรัฐของชนชั้นล่าง(ซึ่งพรรคการเมืองของผู้ใช้แรงงานอาจชนะการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา) ต้องจัดสรรผลประโยชน์ให้ชนชั้นล่างซึ่งเป็น คนส่วนใหญ่ในสังคมมากที่สุด มีการต่อสู้ทางชนชั้นตลอดเวลา.....และแม้ประชาชนยังกินดีอยู่ดีก็ยังมีสำนึกผลประโยชน์ทางชนชั้นสูงและรัฐบาลไม่ว่าพรรคซ้ายหรือขวาก็มิอาจที่จะลดทอนผลประโยชน์ทางชนชั้นได้ ประเทศที่มีแนวทางใกล้เคียงกับแนวคิดนี้ ที่พอจะจัดได้ก็เช่น สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ โดยเฉพาะสวีเดนที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมัน หรือทรัพยากรธรรมชาติอะไรมากมายเช่นประเทศเพื่อนบ้าน คงมีแต่อุตสาหกรรม และเกษตรเท่านั้น (ซึ่งไทยยังมีโรงงานและพื้นที่การเกษตรมากกว่าแน่นอน)  แต่ก็ยังคงความเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างเหนียวแน่น และเมื่อการจัดวัดคุณภาพชีวิตประชากรประเทศกลุ่มนี้ก็ติดอันดับต้นๆทุกครั้งไป สาเหตุที่เราจำเป็นต้องพูดถึงแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย....คงไม่พ้นเรื่องการประกาศ6มาตรการฉุกเฉิน6เดือนของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนในภาวะน้ำมันแพง อันประกอบด้วย 1.มาตรการลดภาษีน้ำสรรพสามิตน้ำมันทั้งดีเซล ก๊าซโซฮอลล์ ทั้ง 91 และ 95 2.มาตรการชะลอปรับราคาก๊าซหุงต้ม 3.มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน 4.ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าของครัวเรือน 5.มาตรการลดค่าเดินทางรถโดยสารประจำทาง และ6.มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถไฟชั้น 3  แม้จะมีข้อถกเถียงว่ามีสาระเป็นไปในลักษณะประชานิยมเพื่อซื้อสียงประชาชนล่วงหน้าจากกลุ่มพันธมิตร แต่สำหรับภาคประชาชนแล้วนี่คือโอกาสที่เราต้องผลักดันหลักคิดอะไรบางอย่างเพื่อโหนกระแส 6มาตรการ6เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสามและข้อสี่ ซึ่งมีลักษณะเป็นประเด็นทางชนชั้นอย่างชัดเจน ที่ยกเลิกการเก็บค่าน้ำ-ไฟสำหรับผู้ที่ใช้น้ำไฟ-น้อยไม่ถึงกำหนด รวมถึงการโดยสารรถโดยสารไม่ปรับอากาศฟรี (แม้จะแปลกๆที่ฟรีคันเว้นคัน) ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะชื่นชม กับนโยบายเหล่านี้ เราอาจตั้งคำถามต่อไปอีกได้ว่า รัฐบาลพลังประชาชน มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไทยสู่ สังคมประชาธิปไตย สังคมนิยมประชาธิปไตย หรือกระทั่งสร้างรัฐสวัสดิการได้หรือไม่? ...คำถามนี้เป็นคำถามใหญ่ พรรคไทยรักไทย(พลังประชาชน) ทำให้แปลกใจได้เสมอ กับนโยบายสวัสดิการสังคมต่างๆ แต่ประเด็นสำคัญที่เราต้องเน้นย้ำถึงตรรกะในการชื่นชมนโยบายเหล่านี้ของเรา ว่ามันไม่ใช่เกิดจากความใจดีมีเมตตาของรัฐบาล....อาจจะฟังดูมองแบบกลไกลแต่ก็สามารถอธิบายได้ว่า นโยบายต่างๆเป็นภาพสะท้อนความขัดแย้งทางชนชั้นที่มีอยู่ในสังคมทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้น  รัฐบาลนายทุนไม่โง่ขนาดที่จะไม่รู้ว่าสภาพทุกวันนี้วิกฤติมาก ค่าครองชีพที่สูงขึ้นกว่าร้อยละ40 ไม่มีทางให้ชนชั้นล่างยอมจำนนกับระบบได้อย่างมีความสุข 6 มาตรการฉุกเฉินสู่รัฐสวัสดิการ? มีข้อถกเถียง เสมอว่านโยบายดังกล่าวจะยั่งยืนยาวนานแค่ไหน   เราจำเป็นต้องเน้นย้ำว่าการจัดสวัสดิการต้องดีขึ้นและไม่สามารถที่จะยกเลิกได้ ปัญหาอยู่ที่งบประมาณของรัฐบาล...ซึ่งตรงนี้สามารถตอบคำถามได้ว่า รัฐบาลพลังประชาชน คงไม่สามารถพัฒนาสู่ สังคมประชาธิปไตย หรือสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างแน่นอน เพราะไม่มีนโยบายใดที่จะไปสะกิดขนหน้าแข้งของนายทุน งบประมาณการจัดการต่างๆย่อมมีจำกัดอย่างแน่นอน  เส้นทางที่เป็นไปได้คือ การจัดสวัสดิการแบบเครือข่ายปลอดภัยทางสังคม(Social Safety Net) ซึ่งภาคประชาชนส่วนหนึ่งพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็พยายามสนับสนุนเพราะ จัดการได้ง่ายกว่า...และไม่กระทบต่อชนชั้นนายทุน เพราะงบประมาณยังคงเป็นเศษเนื้อที่พวกเขาโยนให้ แค่มีการจัดการที่เป็นระบบมากขึ้นเท่านั้นเอง   ภาพการ์ตูนล้อการลดการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ปัญหาทางการคลังต้องแก้ไข ด้วยการเก็บภาษีมรดกและภาษีอัตราก้าวหน้า....เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันมามากแล้ว แต่เพื่อการขยายวงของการถกเถียงให้กว้างขวางขึ้น...เราจำเป็นต้องเข้าใจตรรกะของวิธีการคิดของการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ในแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่ง คนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้ประโยชน์ มีผลสำรวจพบว่าถ้าไทยเก็บภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้า ถึงร้อยละ50 จะมีผู้ได้รับประโยชน์ถึงร้อยละ62ของประชากรประเทศ-ซึ่งคนกลุ่มนี้คือผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ยังไม่นับรวมผู้ที่จ่ายภาษีเพิ่ม แต่ได้รับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่ตนไม่เคยได้รับ สำหรับเมืองไทยผู้ที่เสียประโยชน์เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของประเทศซึ่งชีวิตมั่นคงด้วยการสะสมทุนรุ่นต่อรุ่นและไม่ประสบปัญหาเดือดร้อนยามเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ....พูดง่ายๆคือถ้ามีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า....ผู้ที่มีรายได้ ต่ำกว่า2หมื่นบาทอาจไม่ต้องเสียภาษีด้วยซ้ำ เพราะเท่านี้พวกเขาก็แทบไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพแล้วด้วย แต่เราควรไปเก็บภาษีจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ ผู้บริหารCEOต่างๆ หรือหากเราคิดด้วยฐานของชนชั้นนายทุน การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าสร้างรัฐสวัสดิการก็ไม่ได้เป็นอะไรที่เลวร้ายเสมอไป พวกเขาสามารถออกจากบ้านกำแพงสูงได้โดยไม่ต้องระวังเรื่องอาชญากรรม แม้แต่กับบรรษัทยักษ์ใหญ่เอง ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำประกันบริษัทเอกชนให้พนักงานได้ รัฐสวัสดิการจะเป็นการลดความกดดันของผู้ประกอบการจากการประท้วงของผู้ใช้แรงงาน เพราะชนชั้นแรงงานที่รวมตัวกันข้ามสถานประกอบการในกลุ่มวิชาชีพเดียวกันก็จะไปกดดันเรียกร้องกับรัฐบาลเองเป็นไปได้แค่ไหน? เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยกเมฆขึ้นมา  สวีเดนและประเทศแทบสแกนดิเนเวีย เป็นกลุ่มประเทศที่มีบรรยากาศน่าลงทุนที่สุดในโลกทั้งๆที่มีภาษีสูงอันดับต้นๆของโลก เราลองคิดภาพดูถ้าเราสามารถใช้จุดเปลี่ยนจาก 6มาตรการ6เดือนของรัฐบาลผลักดันให้เกิดการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และพัฒนาสวัสดิการให้ก้าวไกลมากกว่าแค่6มาตรการ เช่นรถเมล์ของรัฐบาลควรจะฟรีทุกสาย และในสายที่รถเอกชนร่วมบริการ รัฐบาลก็ควรจัดบริการเพิ่มขึ้น เรื่องน้ำมันและพลังงานควรเข้าไปควบคุม ปตท หรือบริษัทกลั่นน้ำมันต่างๆ  รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่แปรรูป รวมถึงมหาวิทยาลัย ต้องโอนกลับมาเป็นของรัฐอีกครั้ง ค่าแรงขั้นต่ำควรกำหนดลอยตัวตามค่าครองชีพ-เช่นราคาน้ำมันเพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี และขยายสวัสดิการทุกอย่างให้รอบด้าน ทุกวันนี้เราเสียงบประมาณประเทศไปด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องเช่น งบประมาณด้านทหารและความมั่นคง งบประมาณด้านการรณรงค์ของฝ่ายจารีตนิยม ของกระทรวงวัฒนธรรม เงินเดือนของนักการเมืองมากมายมหาศาล ทั้งสส. และสว. และแม้กระทั่ง ค่าใช้จ่ายให้ ชนชั้นอภิสิทธิ์ในสังคมที่เปล่าประโยชน์ไม่ว่าจะมองจากมุมมองของฝ่ายซ้ายหรือขวาที่คิดแล้วร้อยละ3ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ  เมื่อพิจารณากลุ่มประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตย  เราจะพบว่านักการเมืองของประเทศเหล่านั้นมีเงินเดือนมากกว่าพนักงานไปรษณีย์อยู่ไม่กี่เท่า ซึ่งตรงข้ามกับเมืองไทยปัจจุบันโดยสิ้นเชิง จาก 6 มาตรการ เราจะพบหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่แม้กระนั้น ในฝ่ายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ก็ยังออกมาสนับสนุนและพูดว่า นโยบายดังกล่าวออกมาช้าเกินไป ซึ่งตรงนี้จะตรงกับหลักคิดของ วอลเตอร์ คอร์ปี นักวิชาการด้านแรงงาน ที่ว่า รัฐสวัสดิการเป็นระบบที่อยู่ตรงข้ามกับระบบทุนนิยมแต่ระบบทุนนิยมต้องการการมีอยู่ของรัฐสวัสดิการ เพราะสามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้ แต่จากข้อสัมภาษณ์ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ทำให้เราต้องระมัดระวัง เพราะพวกเขาบอกว่าเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะค่าใช้จ่ายไม่มากเกินไป ซึ่งเราต้องเน้นย้ำต่อไปว่าเราไม่สามารถพอพอใจกับเศษเนื้อเหล่านี้แน่นอนงานเขียน จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ยังคงสามารถอธิบายถึงสิ่งที่เราควรเรียกร้องได้ดี....เราจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อเหล่าชนชั้นปกครอง ต่อไปว่าแล้วเหตุใดเราจะมีชีวิตแบบนั้นไม่ได้ มองกลับไปที่เหล่าประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตยอีกครั้ง ลองคิดดูถ้าวันหนึ่งประเทศของเราเป็นอย่างนั้น เราไม่ต้องดิ้นรนจนสิ้นลมหายใจ เช่นปัจจุบัน เราไม่ต้องไปหารายได้เสริม ดิ้นรนกับชีวิต เพราะเราก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ด้วยเหตุผลคือรัฐจัดสรรคุณภาพชีวิตที่ดีให้เราอยู่แล้ว การหาเงินมามากก็นำสู่การเสียภาษีมาก  แต่ไม่ได้หมายความว่า ทำให้คนขาดแรงจูงใจในการทำงาน เราพบว่า แรงงานในสวีเดน กว่า ร้อยละ26 ทำงานโดยไม่มีเงินเดือน ...ในฐานะอาสาสมัคร มูลนิธิ และหน่วยงานสาธารณะในชุมชน เพียงแค่มองพื้นที่อื่นที่เราไม่คุ้นเคยไม่รู้จักมากมายมากไปกว่าคำบอกเล่าและตัวหนังสือ มันจะดีแค่ไหนถ้าประเทศของเรา....สถานที่ที่เราผูกพันและคุ้นเคยเป็นอย่างนั้นบ้าง ....เมื่อไรที่เราจะเปลี่ยนจากสัตว์(ที่แก่งแย่งแข่งขัน) สู่การเป็นมนุษย์ (ที่โอบอุ้มกัน) เสียทีโดยสรุปแล้ว 6 มาตรการฉุกเฉินเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องผลักดันให้ก้าวหน้าขึ้นไป สร้างพื้นที่ถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ขยายมากขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้น และทำลายมายาภาพที่ชนชั้นนายทุนสร้างขึ้นมา....สังคมนิยมประชาธิปไตย ...รัฐสวัสดิการ....ไม่ไกลขนาดที่เป็นไปไม่ได้...................เอกสารอ้างอิง1.สุรพล ปธานวนิช นโยบายสังคม : เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547 2.ไมเออร์, โทมัส อนาคตของสังคมประชาธิปไตย = The future of social democracy นนทบุรี : เอส. บี. คอนซัลติ้ง, 2550 3.คณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สวัสดิการพื้นฐาน (Social Safety Net) : รากฐานความเป็นธรรมทางรายได้ : สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,กรุงเทพฯ 2550 4.Samuelsson, Kurt From great power to welfare state : 300 years of Swedish social development London : Allen & Unwin, 1972 5.หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท  รัฐบาลผลัก6 มาตรการรับมือวิกฤตน้ำมัน นักวิชาการชี้ใช้เงินซื้อประชาชน http://www.prachatai.com/05web/th/home/12856 16/7/2551  
คนไม่มีอะไร
        เมื่อวันก่อน(13 ก.ค. 51)  ได้กลับไปเยียมถ้ำแห่งหนึ่ง ครั้งหนึ่งเราเคยมาสถานที่แห่งนี้เมื่อประมาณสามปีที่แล้ว สถานแห่งนี้เปลี่ยนไป สามปีก่อนป้ายชื่อของถ้ำธรรมดามาก มาในวันนี้ชื่อถ้ำสร้างด้วยปูน และที่สำคัญจำนวนคนที่มาเที่ยวมีจำนวนเพิ่มขึ้น บรรยากาศโดยรอบเป็นธรรมชาติมาก แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนความตื่นเต้น และความสวยงามภายในถ้ำ      ถ้าใครได้มาที่นี้ก็จะต้องล่องธาราใต้พิภพ และก็จะสัมผัสกับสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ก็จะเกิดการผจญภัยแบบเล็กๆ ย้อยๆ สร้างความตื่นเต้นและเกิดความประทับใจไปในที่สุด จนกระทั้งเกิดความทรงจำนี้ตลอดไป       เราไปครั้งนี้ไม่ได้ไปมือเปล่าหรอก เรายังเก็บภาพมาฝากด้วย เป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนที่หลายๆ คนที่คิดจะมาเที่ยว ออลืมไปถ้ำนี้ มีชื่อว่า ถ้ำเลเขากอบ ตั้งอยู่ที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง      เราพร้อมที่จะนำเสนอแล้วเป็นชื่อถ้ำ อดีตเคยเป็นป้ายไม้ เรากำลังจะไปสัมผัสความตื่นเต้นแย้วปากถ้ำนะคะบรรยากาศภายในถ้ำแรกมันสวยในตัวของมันหินชุดนี้มีเสียงดนตรี ลองมาเคาะมาดู เคยเคาะเป็นจังหวะ ฟังเพราะมากอะสระน้ำอยู่ถ้ำเดียวกับหินดนตรี สระน้ำไม่เคยแห้งถ้ำม่านเจ้าสาวจะมีอยู่สามช่อง แต่ละช่องจะมีความหินตา หินยายเวอร์ชั่นถ้ำเลเขากอบมันสวยมากเลยนะของจริง