Skip to main content
แพร จารุ
ฉันได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า อาหารบ้านฉัน  เป็นสูตรอาหารพื้นถิ่น ของกินจากป่าหลังบ้าน และที่สำคัญกว่านั้น เขียนว่าอร่อยไปถึงหัวใจ “ฉันเติบโตมาจากอาหารที่หลังบ้าน เธออยากรู้ไหมว่า อาหารบ้านฉันอร่อยแค่ไหน  เธอไม่ต้องกลัวหรอก บ้านฉันมีอาหารมากมาย กินกันอย่างไม่หมด” หนังสือเล่มนี้ มีผู้ร่วมดูแลหรือผู้ร่วมทำงานด้วย เขาคือ ธนภูมิ อโศกตระกูล เป็นคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารสุขภาพ การกินอยู่แบบง่าย ๆ เช่น จานอร่อยปลอดเนื้อ มหัศจรรย์แห่งเต้าหู้ เจไม่จำเจ เป็นต้นธนภูมิ อโศกตระกูลเขาเล่าว่า “ได้เข้ามาเที่ยวในแม่เหียะใน เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว หลังจากนั้นผมก็ได้ไปเที่ยวที่นั่นบ่อย ๆ และได้รู้จักกับปวีณา พรหมเมตจิต และได้ทำกับข้าวกินกัน มีความประทับใจในบรรยากาศของสถานที่และชีวิตผู้คน ผมเข้าไปบ่อยมาก ๆ โดยส่วนตัวผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องอาหารอยู่แล้ว และรู้ว่าปวีณา เรียนคหกรรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ แล้วน้องเขาเป็นคนที่ชอบทำอาหารก็เลยชวนให้น้องรวบรวมสูตรอาหารของหมู่บ้านที่เกิดที่กินมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยและเขียนขึ้นมาเราทดลองทำอาหารที่รวบรวมรายชื่อขึ้นมาได้ที่ละอย่างสองอย่าง แม่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนในหมู่บ้านพวกป้า ๆ น้า ๆ มาชวนทำช่วยชิมและเล่าเรื่องอาหารต่าง ๆ เช่น กินไปคุยไป ป้าดวนบอกว่า ตำน้ำพริกแล้วไม่ละเอียดก็จะหาผัวไม่ได้ และยังมีเรื่องเล่าในอาหารอีกมากมาย  ดังนั้น นอกจากมีสูตรอาหารแล้วเราพบว่าในอาหารมีเรื่องราวมากมาย ผมได้ช่วยดูแลต้นฉบับน้อง และได้ติดต่อสำนักพิมพ์ แรกคิดว่าจะพิมพ์เป็นหนังสือตำราอาหารธรรมดา แต่เมื่อมาดูต้นฉบับแล้วพบว่า มันออกมาเป็นเชิงสารคดีมากกว่าตำราอาหารธรรมดาอีกคนหนึ่งที่ชวนน้องทำงานคือ คำ ผกา นักเขียนหญิงคนเชียงใหม่คนหนึ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมอาหารเดียวกับเธอ ได้ช่วยเขียนคำนิยมให้น้อง เธอเขียนถึงวัฒนธรรมการกินอาหาร ตั้งแต่ปู่ย่าตายายที่กินอยู่ตามธรรมชาติ ทำอาหารจากมือแม่บ้าน จนถึงยุคที่ปัจจุบันที่ผู้คนต้องรู้จักอาหารเสริมกับวิตามิน กระเทียมอักเม็ด สารสกัดจากพืชผักต่าง ๆ รวมทั้งซุปสำเร็จรูป หรือน้ำมันปลาโอเมก้า 3 เป็นต้น และเธอยังเขียนถึงเพื่อนร่วมวัฒนธรรมของเธอที่ทำเป็นไม่รู้จักรังเกียจอาหารบ้าน ๆ เช่น ถั่วเน่า น้ำปู๋ และนำไปสู่ขบวนการที่ทำให้คนท้องถิ่นอ่อนแอปวีณา ไม่เพียงแต่ยืนยันในศักดิ์ศรีและปัญญา เธอยังพยายามจะบอกว่าอาหารไม่ได้มาจากตลาดหรือซุปมาร์เกตและไม่ได้มาจากการเพาะปลูกเท่านั้นแต่เป็นของขวัญของธรรมชาติ และบอกว่าแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์นี้อาจจะถูกทำลาย เพราะจะถูกแปรเป็นแหล่งท่องเที่ยว  การสูญเสียผืนดิน สูญเสียน้ำ เป็นเสียงเล็ก ๆ ของเด็กที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่**************คำ ผกาสำหรับฉัน เคยเข้าหมู่บ้านแม่เหียะสองสามครั้ง ครั้งแรกถูกชวนไปปลูกป่ากับชาวบ้านแม่เหียะใน เป็นการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในปี 2549 ช่วงนั้นดูเหมือนจะมีปัญหาเรื่องเมกะโปรเจ็กที่พ่วงมากับไนท์ซาฟารีคือมีการจะสร้างอุทยานช้างในพื้นที่บ้านแม่เหียะในเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เคยซุกตัวอยู่อย่างสงบและเดียวดาย แต่มีผืนป่าที่ดี  เป็นผืนป่าใกล้เมืองจริง ๆ นี่แหละหัวใจของเมืองเชียงใหม่ นั่นคือวันแรกที่ฉันรู้จักบ้านแม่เหียะใน และบ้านหลังหนึ่งที่กำลังปรุงอาหารเพื่อเลี้ยงคนในหมู่บ้านและแขกที่มาช่วยกันปลูกป่า ฉันได้พบปวีณา พรหมเมตจิต ผู้นำเสนอสูตรอาหารพื้นบ้าน ของกินจากป่าหลังบ้าน  เธอเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ นิ่ง ๆ และพูดน้อย ยิ้มแทนคำพูดปวีณา  พรหมเมตจิตปวีณาอยู่ที่บ้านแม่เหียะในมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด  บ้านเธออุดมสมบูรณ์ เธอเดินขึ้นเขาลงห้วยเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้มาตั้งแต่เล็ก  การเขียนหนังสือเล่มนี้นอกจากเป็นคำบอกเล่าเรื่องอาหารของบ้านเธอแล้ว เธอยังร้องขออยู่กลาย ๆ ว่า ขอแหล่งอาหารไว้ให้บ้านฉันเถอะเพราะเมื่อสองปีที่ผ่านมา โครงการต่าง ๆ เข้ามาในหมู่บ้านแม่เหียะในซึ่งกระทบต่อแหล่งอาหารของหมู่บ้าน เรื่องราวในสูตรอาหารของเธอ ควบคู่ไปกับเรื่องเล่าในสังคมหมู่บ้านที่เธออยู่ได้อย่างกลมกลืน  เช่น ชีวิตผู้คนผูกพันอยู่กับป่าหลังบ้าน การทำมาหากินของคนในชุมชน ความรักในท้องถิ่นของตัวเอง ความสุข ความทุกข์และความหวังท้ายที่สุด เธอชวนเชิญไปกินข้าวที่บ้านและบอกว่า บ้านเธอนั้นกินอยู่อย่างไรก็ไม่หมดมาเถอะมากินอาหารที่อร่อยไปถึงหัวใจ และช่วยฉันด้วยว่า ทำอย่างไรดีถ้าแหล่งอาหารบ้านฉันถูกทำลายไปปล. มาเที่ยวบ้านฉัน "งานเปิดตัวหนังสือ อาหารบ้านฉัน และคุยกันเรื่อง "กินอยู่อย่างไรไม่ให้หมด" โดย เทพศิริ สุข โสภา คำผกา และปวีณา พรหมเมตจิต ที่ศาลารวมใจ บ้านแม่เหียะใน อ.เมือง เชียงใหม่ สี่โมงเย็น  
ฐาปนา
 ผมเพิ่งจะไปเที่ยววัดพระธาตุดอยสุเทพมาครับ หลังจากไม่ได้ไปมาเป็นเวลาร่วมสิบปี  ครั้งสุดท้ายที่ขึ้นไปคือตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย พอย้ายมาอยู่ทางเหนือก็ไม่ได้โอกาสเสียที มาสบโอกาสเอาก็ตอนลมหนาวเริ่มมาเยือนนี่เอง ขับมอเตอร์ไซต์ขึ้นดอยตอนเช้า อากาศเย็นสบาย ใช้เวลาสัก 20-30 นาทีเท่านั้นวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นสถานที่อันดับแรกที่ใครต่อใครที่มาเชียงใหม่จะต้องมาเยือนมาชม มากราบไหว้ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง ที่นี่จึงเต็มไปด้วยผู้คนมากมายตลอดเวลา ยิ่งในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว ดูเหมือนว่า ดอยสุเทพคือสถานที่แรกที่ทุกคนต้องมา ก่อนจะไปที่อื่นชาวต่างประเทศอาจต้องการชมความงามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่ ชาวไทย ชาวพุทธ ก็คงต้องการมากราบไหว้บูชาพระบรมธาตุ ที่มีจุดประสงค์อื่นก็ไม่น้อย มาทำธุรกิจ มาแจกของ มาขอรับบริจาค ฯลฯ แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร “วัด” ยังคงเป็นสถาบันหลักของสังคมไทยเสมอวันที่ผมขึ้นไปนั้นเป็นวันอาทิตย์ ขณะที่ขับรถตามทางขึ้นดอยไปเรื่อยๆ ก็มีรถวิ่งสวนขึ้นสวนลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งรถส่วนตัว รถทัวร์ รถตู้ รถมอเตอร์ไซค์ รถจักรยาน แม้แต่คนที่เดินขึ้นก็ยังมี เมื่อขึ้นไปถึงก็พบกับรถจำนวนมากแทบจะเต็มลานจอดรถ กับผู้คนมหาศาลราวกับกำลังมีงานเทศกาล ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องปกติสำหรับที่นี่ขณะที่พิจารณาจำนวนรถและจำนวนคน ผมก็คิดของผมไปเรื่อยว่า ในสถานะหนึ่ง ที่นี่คือวัด แต่อีกสถานะหนึ่งที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ถ้าว่ากันตามความน่าจะเป็น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ควรจะเป็นที่ๆ เต็มไปด้วยความสงบเงียบ แต่ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป เราก็ต้องยอมรับความต่างนี้ในที่สุด นานๆ ไปเราก็เริ่มชินกับสถานภาพที่แตกต่างแต่มาอยู่รวมกัน ทว่าเมื่อเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความลักลั่นอักเสบ เราก็อาจสูญเสียความสามารถที่จะแยกแยะความเหมาะกับไม่เหมาะไปเสียแล้ว สิ่งเหล่านี้เราไม่ใช่ผู้กำหนดขึ้น เราเพียงแต่อยุ่ในระบบที่เป็นมาและเป็นไปเท่านั้นเดินขึ้นบันไดพญานาคทดสอบกำลังกายกำลังใจกันแล้วก็ขึ้นไปถึงลานด้านหน้า ซึ่งมีรูปปั้นของ ครูบาศรี วิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา ผู้นำในการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ เป็นจุดแรกที่คนส่วนใหญ่จะมาจุดธุปเทียนสักการะบูชาผมเดินวนไปทางซ้ายเที่ยวชมสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ  สังเกตว่า สัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยกับชาวต่างชาติแทบจะครึ่งต่อครึ่ง และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวชาติจะให้ความสนใจกับทุกสิ่งทุกอย่างมากกว่าคนไทย แม้แต่ต้นไม้ ดอกไม้ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่าง เขาก็ดูจะตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจไปเสียทั้งหมด  เพราะหากว่าเราไปเที่ยวเมืองนอกเราก็คงไม่ต่างจากเขา แต่สิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่สนใจก็มีอยู่เหมือนกัน ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า ผู้ที่เรียกตัวเองว่า ชาวพุทธ น่าจะให้ความสนใจไม่น้อยกว่าสิ่งอื่นป้ายพลาสติกสีแดงเป็นภาษาบาลีและมีคำแปลเป็นภาษาไทยที่ติดอยู่ราวเหล็กกั้น คงเป็นสิ่งสุดท้ายที่ใครจะหันมอง จะเป็นเพราะมันไม่สะดุดตา ไม่มีใครมาจุดธูปเทียนกราบไหว้ หรือ จะเป็นเพราะความเคยชินไปที่ไหนก็เจอ หรือจะเป็นเพราะอ่านไปก็ไม่เข้าใจและไม่คิดจะเข้าใจ หรือจะเป็นเพราะเหตุอื่นใด ผมก็ไม่อาจทราบได้ แต่สิ่งที่ผมแน่ใจคือ ข้อความเหล่านี้ คือ “ธรรม” อันสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติอยู่เหนือพ้นจากความทุกข์ได้ และการไปให้พ้นจากความทุกข์คือเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธทุกคนมิใช่หรือ ?ขนตี ปรม ตโป ตีติกขาความอดทนคือความอดกลั้นเป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่งนิพพาน ปรม วทนติ พุทธาพุทธบุคคลทั้งหลายย่อมกล่าวถึงพระนิพพานว่า เป็นธรรมชาติอันสูงสุดผมยืนอ่านอยู่พักหนึ่ง หวังว่าอาจจะมีใครให้ความสนใจมาหยุดอ่านเช่นเดียวกับผม แต่ก็ไม่มี ผมจึงเดินต่อไป ชมพิพิธภัณฑ์,จุดชมวิวเมืองเชียงใหม่,ตัวมอม และจุดตีฆ้องใหญ่ (ซึ่งมีป้ายระบุว่า อย่าตีแรง และ ห้ามลูบฆ้อง) ก็เข้าไปในบริเวณลานรอบองค์พระธาตุฯ องค์พระธาตุดอยสุเทพเมื่อสะท้อนแสงแดด เหมือนจะเปล่งแสงสีทองออกมาอาบทั่วบริเวณ หลังจากสักการะบูชาแล้ว หากใครได้ลองหยุดนั่งพิจารณาสักครู่จะรู้สึกได้ถึงความสงบและความอิ่มเอมที่เกิดขึ้นภายใน  รอบองค์พระธาตุ มีพระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งองค์ใหญ่องค์เล็ก ทั้งที่อยู่ในตัวอาคารและที่อยู่นอกตัวอาคาร ความแตกต่างก็คือ พระพุทธรูปที่อยู่ในตัวอาคาร จะมีผู้คนเข้าไปกราบไหว้อยู่ตลอดเวลา ส่วนพระพุทธรูปที่อยู่นอกตัวอาคาร แทบจะไม่มีคนให้ความสนใจเลยผมเกิดคำถามขึ้นในใจอะไรคือความต่างของพระพุทธรูปเหล่านี้ ที่ทำให้คนเลือกที่จะเคารพบูชา ?  ขนาด, ที่ตั้ง, มีชื่อ-ไม่มีชื่อ, เสียงเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์, พุทธลักษณะ  ฯลฯและแท้จริงแล้วเรากราบไหว้อะไรในพระพุทธรูป ? ตัวแทนของพระพุทธเจ้า, ความศักดิ์สิทธิ์ในเชิงปาฏิหาริย์, ความเชื่อว่าจะได้บุญ หรือเพราะเคยทำมาก็ทำต่อไปอย่างที่ไม่ต้องการจะตั้งคำถามผมตั้งคำถามเหล่านี้ ไม่ใช่เพราะจิตใจที่มืดดำหรือต้องการจะหมิ่นศาสนาอย่างที่ใครบางคนอาจกำลังคิดว่าผมกำลังจะทำ ผมเพียงแต่เกิดความสงสัยว่า คำว่า “พุทธะ” ในความหมายที่แท้จริงนั้นคือสิ่งใดกัน  พุทธะ อาจไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ พระพุทธเจ้า หรือ พระพุทธรูป ธรรมะ อาจไม่ใช่แค่คำบาลีในพระไตรปิฎก และ สังฆะ(สงฆ์) ก็ไม่อาจใช่แค่นักบวชในศาสนาพุทธ  หากพิจารณาถึงความหมายที่ว่า พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขอบเขตนิยามของคำว่า พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ น่าจะกว้างมากกว่านั้น บางที อาจจะเป็นนามธรรมในลักษณะของปัจเจกด้วยซ้ำไป ทว่า ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา ไม่อาจวิเคราะห์อะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้ เพียงแต่ความรู้สึกนั้นบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง แท้จริงไม่ใช่อยู่ภายนอก แต่อยู่ภายในตัวเรานี่เองคำสอนสำคัญอันหนึ่งของพระพุทธเจ้าคือ คำสอนที่ว่า ให้เราพึ่งตนเอง ไม่ใช่พึ่งสิ่งภายนอก แต่ดูเหมือนทุกวันนี้เราจะไม่เชื่อกันว่า “พุทธ”เกิดจากภายใน แต่กลับจะเชื่อว่าพุทธะนั้นอยู่ภายนอก เราจึงมุ่งแสวงหาคำตอบของโลกและชีวิตจากภายนอก แต่ไม่เคยคิดว่าคำตอบทั้งหมดนั้นอยู่ภายในตัวเราผมกลับลงมาจากดอยสุเทพด้วยคำถามในใจหลายข้อ ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยมีคำถามอย่างนี้ อาจเป็นเพราะวัยที่เปลี่ยน ความคิดที่เปลี่ยน คำถามของผมไม่ได้มีเจตนาจะลดทอนหรือทำให้คุณค่าของศาสนาด้อยลงแม้แต่น้อย เพียงแต่คิดว่า หากมองด้วยขอบเขตที่กว้างกว่า อาจทำให้เรามองทะลุความซับซ้อนและเปลือกหนาไปจนเห็นแก่นที่เรียบง่ายและยิ่งใหญ่ได้ศาสดาและบรมครูผู้ยิ่งใหญ่แห่งศาสนาพุทธ ค้นพบหนทางพ้นทุกข์และมุ่งหวังให้ผู้คนได้ข้ามพ้นสังสารวัฏ พ้นการเกิด การดับ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบคือสัจจะ คือความจริงสูงสุดของธรรมชาติ และเมื่อพระองค์นำมาเผยแพร่ พระองค์ก็สื่อด้วยความเรียบง่าย เข้าถึงคนหมู่มาก ทำให้ผู้คนต่างลัทธิ ต่างความเชื่อ ต่างยอมรับในธรรมด้วยความจริงเช่นนี้ ผมจึงเชื่อว่า แท้จริงแล้ว เราทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ในการพ้นทุกข์ได้ตามระดับความเข้าใจและการปฏิบัติของแต่ละคน ในเมื่อ “ธรรม” นั้นมีอยู่ตามธรรมชาติ ดังนั้น หากเราแสวงหา เราย่อมจะมองเห็นหนทาง แต่หากเราไม่แสวงหาเราก็ไม่อาจมองเห็นคนที่มาเที่ยววัดพระธาตุดอยสุเทพ แม้ดูเหมือนจะมีจุดประสงค์เดียวกัน คือมาเที่ยว แต่ผมคิดว่า ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับอาจแตกต่างกันมาก บางคนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เป็นเพียงสถานที่หนึ่งที่เคยไปเยือน แต่บางคนอาจซึบซับบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ภายในเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยที่สุด หากศรัทธาจากการสักการะบูชา จะทำให้เราได้หวนคืนสู่หนทางแห่ง “พุทธะ” ได้บ้าง แรงและเวลาก็คงไม่เสียเปล่า แน่นอน ศรัทธาเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากไม่เป็นไปเพื่อสร้างปัญญา หนทางแห่งความพ้นทุกข์จะมีประโยชน์ต่อเราหรือ ?ผมไม่รู้แสงสีทองจากองค์พระธาตุจะส่องเข้าไปถึงใจใครได้บ้าง
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเป็นคนที่วิตกกังวลกับทุกสิ่งทุกอย่าง ผมวิตกว่าตัวผมผอมไป วิตกว่าผมจะร่วงจนหมดศีรษะ กลัวไปว่าแต่งงานแล้วจะหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ไม่พอ กลัวว่าจะเป็นพ่อที่ดีของลูก ๆ ไม่ได้ และเพราะเหตุที่ตัวผมเองมีชีวิตไม่ค่อยเป็นสุขนัก ผมจึงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาพพจน์ของตัวเองที่ปรากฏต่อคนอื่นเพราะความวิตกกังวล ทำให้ผมเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ผมทำงานไม่ไหวอีกต่อไปต้องหยุดงานอยู่กับบ้าน ผมวิตกกังวลมากเกินไปจนเลยขีดขั้นจำกัด คล้ายกับหม้อน้ำเดือดที่ปราศจากวาล์วปิดกั้น จนทำให้ผมต้องเป็นโรคประสาทอย่างหนัก ผมไม่สามารถพูดกับใครได้เลย แม้แต่กับคนในครอบครัวของผมเอง ผมควบคุมความคิดของตัวเองไม่อยู่ และรู้สึกหวาดกลัวไปหมด ผมสะดุ้งสุดตัวแม้เพียงได้ยินเสียงเบาที่สุด และคอยหลบหลีกการเผชิญหน้ากับใคร ๆ ทุกคนในบางครั้ง ผมร้องไห้ออกมาโดยไม่มีเหตุผลใด ๆ เลย ผมรู้สึกราวกับถูกทุก ๆ คนทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว และอยากจะจบชีวิตด้วยการกระโดดลงแม่น้ำให้จมหายไป...วันหนึ่งผมจึงตัดสินใจออกเดินทางไปฟลอริดา โดยหวังว่า การเปลี่ยนสถานที่จะทำให้ผมรู้สึกดีขึ้น ขณะที่กำลังจะขึ้นรถไฟ พ่อของผมได้ยื่นจดหมายให้ฉบับหนึ่ง และสั่งผมไม่ให้เปิดออกอ่านจนกว่าจะถึงฟลอริดา ผมมาถึงฟลอริดาในขณะที่กำลังเป็นหน้าท่องเที่ยว ผมจึงหาโรงแรมพักไม่ได้ ต้องอาศัยเช่าโรงรถแห่งหนึ่งอยู่ผมพยายามหางานเป็นคนส่งของอยู่นอกเมืองไมอามี่ แต่ก็ไม่ได้งาน ดังนั้นผมจึงใช้เวลาอยู่ที่ชายหาด  ผมรู้สึกย่ำแย่มากกว่าอยู่ที่บ้านเสียอีก ดังนั้นผมจึงเปิดจดหมายพ่อออกอ่าน ข้อความในจดหมายมีว่า“ลูกเอ๋ย ตอนนี้เจ้าอยู่ห่างจากบ้านถึง 1500 ไมล์ แต่เจ้าก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้นเลยใช่ไหม พ่อรู้ว่าเจ้าจะต้องรู้สึกเช่นนั้นแน่ เพราะเจ้าได้นำเอาตัวการที่ทำให้เจ้าไม่สบายใจติดตัวไปด้วย นั่นก็คือตัวเจ้าเองยังไงละ ไม่มีอะไรผิดปรกติเกิดขึ้นกับร่างกายหรือจิตใจของเจ้าหรอก ไม่ใช่สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าเป็นเช่นนี้หรอก แต่ความคิดที่เจ้ามีต่อสถานการณ์พวกนั้นต่างหาก ที่ทำให้เจ้าต้องเป็นทุกข์ ดังนั้นเมื่อเจ้าได้ตระหนักถึงความจริงข้อนี้แล้ว พ่ออยากให้เจ้ากลับบ้าน แล้วหายจากอาการเหล่านั้นเสียที ”จดหมายของพ่อทำให้ผมโกรธมาก เพราะผมหวังว่าจะมีใครสักคนสงสารผม ไม่ใช่มาสั่งสอน ผมโกรธมากจนตัดสินใจจะไม่กลับไปบ้านอีกเลย ในคืนนั้นเอง ขณะที่ผมกำลังเดินอยู่บนถนนในไมอามี่ ผมได้มาถึงโบสถ์ซึ่งกำลังมีการทำพิธีกันอยู่ เนื่องจากผมไม่มีที่จะไปอยู่แล้ว จึงแวะเข้าไปในโบสถ์นั้น เพื่อฟังบทเทศน์ในบทที่กล่าวว่า“ผู้ที่เอาชนะใจตนเองได้นั้น ยิ่งใหญ่กว่าผู้รบชนะได้เมืองทั้งเมือง”เมื่อเข้ามานั่งในโบสถ์และได้ยินคำสอน เช่นเดียวกับที่พ่อผมได้กล่าวไว้ในจดหมาย ทำให้ผมได้คิดอย่างมีเหตุผลเป็นครั้งแรกในชีวิต ผมช่างเป็นคนโง่เขลาอะไรเช่นนั้น ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงโลกและมนุษย์ทุกคน ในขณะที่มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่ต้องเปลี่ยนนั่นคือทัศนคติการมองโลกของผมนั่นเองเช้าวันต่อมาผมจึงจัดของลงกระเป๋าเดินทางกลับมาบ้าน และอีกอาทิตย์หนึ่งต่อมา ผมก็ได้งานทำ ต่อมาอีกเดือนหนึ่ง ผมได้แต่งงานกับผู้หญิงที่ผมเคยหวาดกลัวว่าจะต้องสูญเสียเธอไป ซึ่งขณะนี้เรามีชีวิตครอบครัวที่ผาสุกร่วมกัน พร้อมกับลูก ๆ อีกห้าคน โลกดูสดใสและเป็นมิตรยิ่งขึ้น ผมมีความสุขกับชีวิตขณะนี้อย่างมาก และเมื่อใดก็ตามที่ผมเริ่มไม่รู้สึกสบายใจขึ้นมา ผมจะบอกกับตัวเองว่า ให้ปรับทัศนคติ เกี่ยวกับสิ่งนั้นเสียใหม่ และทุกอย่างก็จะกลับดีเช่นเดิมผมอยากจะบอกคุณตามตรงว่า ผมดีใจที่ได้เคยเป็นโรคประสาท เพราะสิ่งนี้ทำให้ผมได้ค้นพบว่า ความคิดและจิตใจของมนุษย์เรานั้นมีพลังเหนือร่างกาย ตอนนี้ผมสามารถใช้ความคิดทำประโยชน์ให้กับตัวเอง แทนที่จะทำให้มันต่อต้านผม พ่อพูดถูกที่ว่าสถานการณ์ภายนอกทั้งหลาย ไม่ได้เป็นต้นตอของความทุกข์ทรมานของผม และในทันทีที่ผมได้ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ ผมก็ได้หายจากอาการทุกข์ทรมาน และอยู่เป็นสุขมาจนบัดนี้คุณผู้อ่านครับเรื่องจดหมายของพ่อ ที่คุณผู้อ่านได้อ่านนี้ ไม่ใช่เรื่องราวของผม ผู้เขียนคอลัมน์นี้หรอกครับ แต่เป็นเรื่องเล่าของลูกศิษย์คนหนึ่งในชั้นเรียนของ เดล คาร์เนกี นักเขียนเชิงจิตวิทยาที่เก่าแก่และโด่งดังคนหนึ่งของโลก ได้เล่าเอาไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของ เดล คาร์เนกี ที่ชื่อว่า “วิธีกำจัด ความวิตกกังวลและมีชีวิตที่ผาสุก” ที่แปลและเรียบเรียงโดย เรณู สุเสวี ซึ่งตีพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์ วลัยลักษณ์ เมื่อเดือน มีนาคม 2532 บรรณาธิการโดย แดนอรัญ แสงทอง ที่โปรยปก ถัดลงมาจากชื่อรวมเล่มเอาไว้ว่า “แบบฉบับของหนังสือคู่มือ ในการจัดการปัญหาชีวิต ขายไปแล้วกว่า หกล้านเล่ม”ผมตัดทอนเรื่องนี้นำมาเผยแพร่ที่นี่ (และขออนุญาตคุณเรณูผู้แปลและเรียบเรียงในที่นี้ด้วยนะครับ) ก็เพราะเดือนเต็ม ๆ ที่ผ่านมา ผมมีเรื่องต้องวิ่งเข้า ๆ ออก ๆ ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกเกี่ยวกับโรคจิตและประสาท เพื่อส่งพี่น้องของผมคนหนึ่งไปทำการบำบัดรักษา อาการป่วยทางจิตประสาท ที่มีอาการเช่นเดียวกับเจ้าของเรื่อง “จดหมายของพ่อ” ที่เนื่องมาจากความวิตกกังวลในชีวิตมากเกินไป จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ หวาดกลัวไปหมดทุกอย่าง แม้แต่ความคิดของตัวเอง จนต้องเอาปืนไปฝากเพื่อน เพราะกลัวว่าตัวเองจะคิดฆ่าตัวตาย แล้วลงมือทำจริง ๆตอนนี้ หลังจากหอบหิ้วกันไปรักษาอย่างต่อเนื่องที่คลินิกเฉพาะทางแห่งหนึ่ง อาการของเขากลับคืนมาสู่สภาพปกติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว คิดว่าอีกสองสามวันคงกลับไปทำงานได้ตามปกติ ที่ผมนำเรื่องจดหมายของพ่อมาลง ก็เพราะต้นเหตุแห่งความวิตกกังวลจนเกินเหตุของเขาที่ทำให้เขาเป็นเช่นนี้ ผมฟัง ๆ ดูจากการวิเคราะห์ของหมอ ผ่านคำบอกเล่าของเขา ก็คือเรื่องทัศนคติในการมองโลกแบบทำร้ายตัวเอง เช่นเดียวกับเจ้าของเรื่องจดหมายของพ่อนั่นเองผมจึงนำเรื่องนี้มาลงเพื่อยังประโยชน์ประการใดประการหนึ่งแก่ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน คุณหมอเจ้าของคลินิกที่ผมหอบหิ้วเขาไปบำบัดรักษาจนผมเกือบจะประสาทแดกไปกับเขาได้บอกว่า คนเป็นโรคนี้กันเยอะมาก และเผื่อถึงคิวของเราบ้าง เราจะไม่ได้เสียเวลาวิ่งเข้าไปหาหมอผิดที่ผิดทาง หรือก่นด่าตัวเองเหมือนลูกศิษย์ของ เดล คาร์เนกี ด่าตัวเองว่า“ผมช่างเป็นคนโง่เขลาอะไรเช่นนี้ ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงโลกและมนุษย์ทุกคน ในขณะที่มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะต้องเปลี่ยน นั่นคือทัศนะคติในการมองโลกของผมนั่นเอง”                                                                     5 ธันวาคม 2551กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่** ภาพประกอบจากหนังสือ ไม่รักไม่บอก 
ชนกลุ่มน้อย
พะเลอโดะพูดกับพวกเราว่า  ถ้าไม่มาถึงในเดือนกันยายน  เราคงไม่ได้เห็นน้ำโข่โละโกรเต็มฝั่ง   แล้วยังพูดถึงแม่น้ำใหญ่อีกว่า  ดูราวอวัยวะภายในขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรกลโบราณ  ท้องไส้เต็มไปด้วยโขดหินแหลมคม  ประกอบขึ้นเป็นผนังแม่น้ำ  เครื่องกลโบราณที่มีอายุใช้งานเก่าแก่เต็มที  พัดน้ำปั่นหมุนน้ำวนขึ้นผิวน้ำเป็นรูปดอกเห็ดบานเต็มที่  วนไหลต่อเนื่องดอกต่อดอกสะพรั่งตามน้ำไปอย่างน่าเกรงขาม  ท้องไส้ภายในโข่โละโกรบิดเกลียวไปตามท้องร่องอันเต็มไว้ด้วยซากไม้ตาย   ท่อนซุงไร้สัญชาติ  หินไหล กรวดทรายปลิว   ซากศพคนนิรนามตามน้ำ  ปลาหน้าตารูปร่างประหลาดเหมือนแมงมุมหากินอยู่ใต้ท้องน้ำหมุนวนแรง    ใครบางคนเปรียบเทียบโข่โละโกรเช่นซากศพคนตาย  ไม่มีใครปรารถนาให้มันฟื้นคืนชีพเพื่อบอกที่มาที่ไปของตัวเอง   ปล่อยให้ไหลไปอย่างคลุมเครืออย่างนั้น  มิหนำซ้ำกลับอุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตประเภทกินซาก  ผ่านมาเก็บกินซากเน่าๆ  กินไม้  กินปืนสงคราม  กินข้าวสาร  กินเกลือ  กินน้ำตาล  เป็นอย่างนั้นมาหลายศตวรรษ  ผมไม่รู้หรอกว่าแสงไฟหน้ารถ  จะไปหยุดลงที่ใด   ผมเห็นแต่ทางเป็นร่องดินน้ำขังเป็นทางยาว  แสงไฟสะท้อนน้ำเป็นเส้นแสงคู่ขนาน  อย่างกับรางรถไฟที่ปราศจากไม้หมอน  ปล่อยให้โบกี้ตกจากรางอย่างที่พะเลอโดะพูดจริงๆ  มันค้างเติ่งอยู่ริมน้ำ  นานวันเข้า  โบกี้ยาวเหยียดจึงงอกรากออกมาค้ำโบกี้ไม่ให้ตกน้ำ  พะเลอโดะบอกว่า  รากงอกยาวขึ้นลงตามระดับน้ำ  ชุมชนแห่งนี้จึงไม่มีวันตกลงน้ำได้ง่ายๆพอแสงไฟรถเบี่ยงลงต่ำ  พลันปรากฏลำน้ำเล็กๆสะท้อนกับแสงไฟ  มันดูราวกับไม่มีตลิ่ง  ไหลมาบนกรวดทรายและส่งเสียงดังมาก  หัวรถพุ่งไปเสียบไว้กลางดงสาปเสือ ดับเครื่องยนต์  ดับไฟรถทุกดวง   พะเลอโดะเดินฝ่าความมืดไปยังบ้านไม้หลังหนึ่ง  ซึ่งซ่อนลึกอยู่ในความมืด  พอเสียงรถเงียบลง  เราทั้งหมดก็กลายเป็นแมลงไม่รู้อิโหน่อิเหน่  เกาะนิ่งเหนียวหนึบอยู่ตามพื้นรถ  ไม่ได้ยินเสียงอื่นใดอีกแล้วนอกจากเสียงน้ำพะลอโดะกลับมาพร้อมร่างตะคุ่มๆ  ในมือถือไฟฉายส่อง   ผมเห็นร่างนั้นอย่างกับสัตว์เสียเปรียบในนิทานอีสป สัตว์เล็กเสียเปรียบทุกทาง  สงบปากสงบคำ  กล้าๆกลัวๆ  แม้มันจะเป็นฝ่ายถูกต้องชอบธรรมเพียงใดก็ตาม  ไม่แคล้วโดนขู่ตะปบทำร้ายจากสัตว์ใหญ่จนถึงแก่ชีวิต   สุดท้ายนิทานอีสปมักจะบอกเพียง เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...  ผู้แข็งแรงย่อมมีชัยเหนืออธรรม ...  ผมเพ่งตามองร่างดำๆเตี้ยๆเคลื่อนไหวเงอะงะอย่างคนไม่สมประกอบ  ราวกับว่าถ้าไม่มีความมืด  เขาคงไม่กล้าออกมาปรากฏตัว   ในช่วงเวลานี้เอง  พื้นรถใต้หน่อมะพร้าวก็เคลื่อนไหวขึ้นครั้งแรก   พลันปรากฏสองร่างค่อยๆบิดตัวแทรกขึ้นมาท่ามกลางข้าวของอย่างเหนื่อยหน่ายผมไม่แปลกใจ  แต่ลุงเวยซายังเชื่อเต็มเปี่ยมว่าศาลเจ้าช่วยเอาไว้คนละมือมือช่วยกันหยิบฉวยข้าวสาร   เกลือ  หน่อกล้วย  มะพร้าวแตกหน่อ  และพันธุ์ไม้อื่น  เดินตามกันไปในความมืด   ผมไม่รู้อะไรเป็นอะไรอีกแล้ว  นอกจากเดินตามแสงไฟฉาย  ในหูผมได้ยินแต่เสียงพูดคุยเป็นภาษาอื่น  ฟังดูเหมือนคนโหวกเหวกโวยวาย   พะเลอโดะพูดได้กลมกลืน   เหมือนว่าดินแดนลับๆขยายหดสั้นยาวได้  ตราบเท่าที่ภาษาประหลาดนั้นยังอยู่ตะเกียงน้ำมันก๊าดลุกแดงขึ้น  ผมเห็นใบหน้าชายเตี้ยม่อต้อเจ้าของบ้านเป็นครั้งแรก  เขามองมาด้วยสายตาขลาดๆ  ไม่สบตานาน  มองพวกเราผ่านๆ  พะเลอโดะกวาดตามองผ่านความมืด  เหมือนมีสิ่งเคลื่อนไหว  มองจ้องเหล่าผู้มาใหม่เราวางสิ่งของลงบนพื้นกระดาน   เมล็ดพันธุ์เดินทางไปถึงปลายทาง    แต่จะนำไปปลูกที่ไหนนั่นหรือ   ผมยังนึกไม่ออก  ตลอดการเดินทางมา  ผมเห็นแต่ความมืด  ผมรู้มาเพียงว่าภูเขาต่อภูเขาต่อเนื่องไม่สิ้นสุด   ยังมีที่ราบอยู่อีกหรือพอนึกถึงริมฝั่งแม่น้ำ  เหมือนมีบางอย่างกระเพื่อมไปตามเนื้อตัว  ต้องตื่นเช้าๆแล้วเดินไปหา  เก็บรูปให้หนำใจ  คิดได้แค่นั้นฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่  ตกต่อเนื่องจนไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ  ผมทิ้งตัวลงนอนฟังเสียงฝน  มองไฟตะเกียงที่มีคนนั่งรุมล้อม  สองคนในนั้นเป็นพะเลอโดะกับลุงเวยซา   กะฌอกับซอมีญอหายตัวไปฝนตกถึงเช้า  ทุกอย่างรอบตัวซึมเซาอยู่ในม่านสีเทา  เสียงน้ำในลำห้วยไหลแรง  แต่รถบรรทุกยังแล่นข้ามผ่านมาได้  ผมนั่งมองรถบรรทุกหกล้อหุ้มตาข่ายแล่นมาช้าๆ  พอข้ามฝั่งมาได้ก็ดับเครื่อง  มีคนสองคนออกมาจากรถ  ก้มๆมองๆไปใต้ท้องรถ  ปีนดูในคอกไม้บรรทุก“เขามาทำอะไร”  ผมพูดเปรยๆ“วัว” ..เสียงชายเตี้ยม่อต้อที่มองดูอยู่ด้วยตอบด้วยน้ำเสียงไม่ตื่นเต้น  ผมถามอีกว่าวัวจากไหน  จะไปไหน  คราวนี้พะเลอโดะช่วยตอบแทน“พม่า  พ่อค้าวัวมารอซื้อวัวควายกันที่นี่  วัวบางส่วนมาไกลจากอินเดีย  บังคลาเทศ   ขายต่อกันมาเป็นทอดๆ  ไปโรงฆ่าสัตว์ทั้งนั้น” ราวกับว่ารถไฟกำลังจะมา  นายสถานียกธงให้รถไฟหยุดโบกี้ยาวเหยียดไปตามฝั่งแม่น้ำ  อันที่จริงทุกอย่างน่าจะผ่านไปด้วยดี  แต่นายสถานีในชุดพลางนั่นสิ  เรียกลุงเวยซาให้หยุด  ลุงเวยซาพูดเสียงดัง  ผมได้ยินแต่เสียงโข่โละโกรๆ  พะเลอโดะต้องรีบเดินเข้าไปหา  พร้อมกับบอกยืนยันว่า  มาด้วยกัน  ผู้เฒ่ามาจากแม่น้ำเงา  อยากมาดูน้ำโข่โละโกรสักครั้ง  สายๆก็กลับไปแล้ว“ทำไมเขาทำอย่างนั้น”  ผมนึกสงสัย“อยากแสดงอำนาจมั้ง  งานพวกเขาก็อยู่กันอย่างนี้  คอยดูคนเข้าคนออก”  พะเลอโดะพูดตรงๆ ผมสัมผัสได้ถึงความรู้สึกไม่ปกติ  ผ่านสถานีมาได้ก็เข้าสู่ร้านค้าเรียงรายอยู่ในโบกี้  เปิดประตูโบกี้ออกกว้างขวาง  สารพัดสารเพวางขาย  ของคาวหวาน  เสื้อผ้า  น้ำมันพืช  รองเท้า  พริก  เกลือ  เชือก  ของเล่นเด็ก ฯลฯ พูดง่ายๆก็คือร้านค้าหัวเมืองมีอะไรบ้าง  ในโบกี้ก็มีไม่ต่างกันราวกับว่าหัวรถจักรเสียมาหลายสิบปี   จอดแน่นิ่งตากแดดตากฝน  มันกำลังเดินไปสู่ของเก่า   ไม่นานก็กลายเป็นซากอีกชิ้นหนึ่ง  รอช่างซ่อมที่ไม่อาจคาดเดาว่าจะผ่านมาเมื่อไหร่   ลุงเวยซาเดินล่วงหน้าไปก่อน  เราเดินตามไปห่างๆ  เหมือนพะเลอโดะจะรู้ว่ากะฌอกับซอมีญออยู่ที่ไหน  พะเลอโดะบอกผมแต่เพียงว่า  เดี๋ยวคงตามมาหากจะมีเสียงเพลงบรรเลงผ่านมายามนี้  ผมนึกถึงเสียงร้องบ่นฮึมฮัมด้วยเสียงโทนต่ำ  ดังสลับกับก้าวย่างไปบนพื้นดินแฉะ  ข้างในผมเพริดออกหน้าออกตา  ยามเห็นโข่โละโกรเต็มฝั่ง  อย่างที่พะเลอโดะพูดไว้จริงๆ  โข่โละโกรเต็มฝั่งเดือนกันยายนหินก้อนใหญ่ริมน้ำ  เหมือนถูกจัดวางไว้ถูกที่ถูกทาง   ลุงเวยยืนนิ่งด้วยอัศจรรย์ใจอยู่ตรงนั้น  ยืนมองแม่น้ำใหญ่ยักษ์ไหลเย็นไหลนิ่ง  
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
“เราคิดว่ามันอาจจะเร็วเกินไปไม่ว่าจะสำหรับนักท่องเที่ยว การลงทุนหรือความช่วยเหลือ... ตราบใดที่มีเงินก้อนใหม่เข้ามาในประเทศ ก็ยิ่งจะทำให้รัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อแรงจูงใจที่จะทำให้ความเปลี่ยนแปลง”ออง ซาน ซูจี 2538“เราหวังว่าคุณจะไม่เข้ามาเที่ยวพม่ากับการมีกล้องในมือและแค่เพื่อการเก็บรูปถ่ายเท่านั้น เราไม่ต้องการนักท่องเที่ยวแบบนั้น จงพูดคุยกับคนที่คุณอยากจะคุยด้วย ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้เงื่อนไขข้อจำกัดในชีวิตของคุณบ้าง”ชาวย่างกุ้งผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย 2547 สายตาที่สื่อส่งมาดูเหมือนรู้จัก รอยยิ้มที่ค่อยๆ คลี่คลายบนใบหน้าแลดูคุ้นเคย ไม่นับวงแขนหรือเอื้อมมือที่ไม่รอช้าที่จะยื่นมาจับมือถือแขนทักทายราวกับเพื่อนเก่าผู้ห่างหายไปนาน ทุกสายตาทุกวงหน้าพรักพร้อมที่จะทักทายและหยิบยื่นสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้กับพวกเรา...ซึ่งแท้จริงแล้วอยู่ในฐานะนักท่องเที่ยวการเดินทางในประเทศสหภาพพม่า 14 วันเพื่อ ‘เยี่ยมไข้’ เพื่อนบ้านผู้ขาดไร้บรรยากาศเสรีภาพและประชาธิปไตย เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ข่าวคราวของการปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนชาวพม่า ที่ออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบของรัฐบาลทหารพม่าที่ขึ้นราคาน้ำมันและแก๊สจากราคาเดิมหลายเท่าตัว จนกระทั่งลุกลามบานปลายกลายเป็นการเรียกร้องให้นำประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่พม่าอีกครั้งหนึ่ง เป็นไปด้วยความรุนแรงในช่วงกลางเดือนสิงหาคมเรื่อยมาจนกระทั่งกลางเดือนตุลาคม 2550การเดินทางในประเทศที่ปิดตัวเองมายาวนาน ซ้ำยังถูกนานาอารยะประเทศที่ได้ชื่อว่าโปรประชาธิปไตยคว่ำบาตรทางการค้า ภายหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งถือว่าเป็นการปราบปรามประชาชนครั้งใหญ่ในพม่า หลังจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8-8-88 (8 สิงหาคมปี 2531) ถือเป็นการเดินทาง ‘เข้าไปใกล้’ ประเทศเพื่อนบ้านประเทศนี้ ซึ่งเกือบตลอดเวลาที่ผ่านมาของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมประวัติศาสตร์หรืออคตินิยม ที่คนไทยมีต่อความคิดแบบเห็นคนพม่าเป็นศัตรูที่ปรากฏอยู่เรื่อยมา โดยเฉพาะในหนังสงครามหรือความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองของไทยที่มีต่อพม่า ย่อมถือได้ว่าแม้จะวางตัวเป็นเพื่อนบ้านที่แนบชิดชายแดนด้านตะวันตกของไทยมาช้านาน แต่ก็นับได้ว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านผู้ห่างเหินและห่างไกลจากการรับรู้ของคนไทยมาโดยตลอดประเทศพม่าหลังควันปืนและคาวเลือดของผู้บริสุทธิ์หลังการลุกฮือทางการเมืองอีกครั้ง ยังคงคึกคักในภาคของเมืองอย่างเมืองหลวง (เก่า) ย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์ ยังคงงดงามเงียบสงบและเปี่ยมด้วยพลังศรัทธาของประชาชนชาวพม่าที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเมืองพุกาม หรือกระทั่งดินแดนห่างไกลและมีธรรมชาติเฉพาะตัวที่ยิ่งใหญ่อย่างทะเลสาบอินเลและชาวบ้านรอบๆ ทะเลสาบที่ดำเนินชีวิตไปโดยไม่สนใจต่อความเปลี่ยนแปลงหรือกระแสร้อนแรงทางการเมืองใดๆ มาเนิ่นนานเมื่อตกเป็นนักท่องเที่ยวในท่ามกลางกระแสที่ผู้คนหวาดกลัวการเดินทางในพม่า ด้วยเกรงว่าจะเสี่ยงภัยนานาประเภท (พม่าเพิ่งจะยกเลิกคำสั่งประกาศเคอร์ฟิวเป็นเวลาสามเดือน นับแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปลายเดือนกันยายน) จนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ควรจะมีดังที่เคยเป็นมาในช่วง “ไฮซีซั่น” หดหายไปจนแทบจะนับหัวได้ นอกจากจะทำให้รูปแบบการเดินทางจากที่เคยคาดการณ์หรือวางแผนไว้ต้องปรับเปลี่ยนออกไปแล้ว ยังมีผลทำให้ต้องเผชิญกับชาวบ้านธรรมดาๆ ที่แปรผันตัวเองมาทำมาหากินกับนักท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังหลายต่อหลายแห่งทั่วประเทศพม่า นับแต่บริเวณมหาเจดีย์ชเวดากองในกรุงย่างกุ้ง วัดชเวนันดอที่เก่าแก่ในเมืองมัณฑะเลย์หรือหลายๆ วิหารอันสวยงามในเมืองพุกามที่เราจะต้องรับมือ ปะทะคารมและความรู้สึกกับรูปแบบที่หลากหลายของคนพม่าที่เข้ามาหากินกับนักท่องเที่ยว ทั้งการเข้ามาขอรับบริจาคเงิน เข้ามาขายโปสการ์ดหรือสินค้าที่ระลึกแบบที่แทบจะยัดเยียดขาย ให้หรือเดินตามตื้อโดยที่เราไม่ต้องการ จนทำให้แต่ละฝ่ายต้องอึดอัดหรือเสียความรู้สึกต่อกันไปเรียกแท็กซี่ออกจากสนามบินได้คนที่แฝงตัวเป็นไกด์ติดตามมาด้วยรู้ดีว่าไม่จำเพาะแต่การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศพม่าดอกที่นักท่องเที่ยวจะถูกตอมหรือตามตื้อเช่นที่เราประสบที่พม่า หากเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางในหลายประเทศในเอเชีย (ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย) ที่เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าน่าเที่ยวหรือมีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังก็ต้องพานพบกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ดูกระหายดอลลาร์ไม่แตกต่างกัน    พระที่ชเวดากองแฝงตัวเข้ามาพูดคุย ทำพิธีให้และขอเงินบริจาคให้เหตุผลว่าเพื่อสนับสนุนศาสนาแต่หลายช่วงตอน ณ หลายจุดของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหรือน่าสนใจที่เราจะต้องแวะชมในพม่าทำให้เราได้พบกับเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง ชายหนุ่ม หญิงสาวหรือป้าลุงหลากหลายวัย ซึ่งดูเหมือนว่าพร้อมที่จะทักทายปราศรัยแย้มยิ้มด้วยสีหน้าที่เป็นมิตร แต่เมื่อรู้ว่าเราไม่สนใจที่จะอุดหนุนสินค้าจำพวกพวงมาลัย โปสการ์ด หนังสือ ภาพเขียนที่ถูกนำมาเสนอหลังจากการชี้ชวนให้ดูสิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างมีน้ำใจ หรือไม่ได้รับรู้ธรรมเนียมว่าจะต้องให้เงินบริจาคแก่คนที่มาเปิดประตูเพื่อให้เข้าชมวิหารบางแห่งในพุกาม แล้วต้องถูกตะโกนบอกด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวให้ต้องบริจาคเงิน สีหน้าและท่าทางของพวกเขาก็พร้อมที่จะกลับกลายเป็นยิ่งกว่าคนแปลกหน้า และวางระยะทางห่างเหินยิ่งกว่าตอนแรกที่พบเจอกันเสียอีกเณรที่วัดชเวนันดอ มัณฑะเลย์ยิ้มสวยให้กล้องเพราะรู้ดีว่าจะได้เงินดอลลาร์ จากการได้พบพูดคุยกับคนพม่าหลายคนและจากภาพชีวิตรายรอบตัวที่ได้พบเห็น เรารู้ดีว่าความเป็นอยู่ของคนพม่าในดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งจากป่าไม้ แร่ธาตุ อัญมณีต่างๆ นั้นไม่ได้ช่วยให้พวกเขากินดีอยู่ดีหรือมีปัจจัยพื้นฐานแค่ชีวิตปกติวิสัยควรจะได้หรือควรจะมี เพราะการปกครองแบบเผด็จการทหาร มิหนำซ้ำกว่าจะหาเงินได้แต่ละเจี้ยด (หรือจ๊าด  - Kyat) ล้วนแต่ยากลำบากและหลายคนค้นพบวิถีทางทำมาหากินด้วยการรอการหยิบยื่นเศษเงินจากนักท่องเที่ยว ด้วยการฉ้อโกงอารมณ์หรือการบิดเบือนภาพของความมีน้ำใจไปสู่การได้มาซึ่งเงินตรา แม้สัก 500 หรือ 1,000 เจี๊ยด (ประมาณสิบสามบาทหรือยี่สิบเจ็ดบาท) จากการเดินตามตื้อขายสินค้าที่ไม่น่าสนใจหรือไม่เป็นที่ต้องการให้แก่นักท่องเที่ยวเด็กหญิงหน้างอขายพวงมาลัยที่ชเวนันดอ ยายแก่ขายมาลัยที่วัดชเวสิกอง พุกามเมื่อแรกที่จะก้าวเท้าออกจากบ้านเพื่อไปเดินทาง 14 วันในประเทศพม่าเราคาดเดาเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ว่าจะได้พบภาพที่หดหู่ หรือความเป็นอยู่ที่ไม่เป็นไปตามปกติวิสัย ที่คนเราควรจะมีอยู่ท่ามกลางปัจจัยพื้นฐานที่ชีวิตทั่วไปต้องการของคนพม่า ทำทีว่าชี้ชวนให้ดูนู่นนี่สุดท้าย ผลักดันให้ซื้อของที่พุกาม การผลักดันให้ซื้อภาพเขียนทรายราคาไม่เป็นธรรมของแม่ค้าที่พุกามแต่เมื่อได้เดินทางขยับเข้าไปใกล้ความห่างไกลแบบพม่านั้นเราจึงได้เห็นหลายชีวิต หลายแววตาและสีหน้าของความเป็นมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นในความเป็นคนพม่า คนไทย คนแขกหรือคนฝรั่งผิวขาวตาน้ำข้าวที่ล้วนแต่แสวงหาและกระหายปัจจัยเทียมๆ ที่เรียกว่าเงินตรา จนไม่สนใจที่มาหรือฉวยใช้โอกาสจากความน่าสงสารน่าเห็นใจ มาแปรเปลี่ยนให้เป็นรายได้ที่ได้มาง่ายดายกว่าการลงน้ำพักน้ำแรงทำกินอย่างสุจริตในรูปแบบอื่นๆ
แพร จารุ
“หนาวไหม หนาวหรือยัง”“หนาวแล้ว เชียงไหมหนาวแล้ว”“ฉันจะไปเชียงใหม่”บทสนทนาหนึ่ง ที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ รายงานข่าว ขณะนี้ยอดดอยอากาศหนาวมาก โดยเฉพาะดอยสูงอุณหภูมิติดลบแล้ว เกิดน้ำค้างแข็ง มีคำถามว่า นักท่องเที่ยวหรือคนที่จะมาเชียงใหม่ควรได้รับรู้ข่าวคราวอะไรบ้างนอกจากว่า หนาวแล้วหรือหนาวกี่องศา ชายคนหนึ่งพูดขึ้นในยามบ่าย เขาพูดต่อว่า ถ้าอยากให้คนอื่นที่มาเที่ยวเชียงใหม่ รู้ว่าเขาควรจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเมืองและรักเมืองนี้ เราต้องให้ข่าวสารเขามากกว่านี้  เราควรต้องทำงานกับสื่อให้มากว่านี้  เขาเป็นหนึ่งในคนทำงานภาคีฯการมุ่งเน้นให้คนเชียงใหม่ดูแลเมืองเชียงใหม่ มีส่วนร่วมในการจัดการเมือง เช่นว่ามีโครงการขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เมกกะโปรเจค มาตกในเมืองมากมาย ทั้งโครงการไนท์ซาฟารี โครงการพืชสวนโลก ซึ่งโครงการเหล่านี้สร้างลงบนพื้นที่อุทยานดอยสุเทพ โดยที่คนเชียงใหม่ตั้งตัวไม่ติด และผลที่ตามมาตอนนี้คือ โครงการทั้งสองโครงการใหญ่ ๆ ไม่รู้จะว่าไปในทิศทางไหนไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อ กำลังจะกลายเป็นอนุสาวรีย์ บางหน่วยงานเสนอให้ปิดไปเลยก็มี และมีโครงการผูกพันอีกหลายโครงการที่ยังไม่ได้ทำ พืชสวนโลกสร้างไปแล้วในพื้นที่อุทยานดอยสุเทพ – ภาพโดยสุวิชานนท์การมุ่งไปที่ให้คนเชียงใหม่ดูแลเมืองเชียงใหม่น่าจะไม่เพียงพอแล้ว ควรจะบอกกล่าวไปยังส่วนอื่น ๆ หรือให้ประชาชนทั่วประเทศรู้และเข้าใจได้ เพราะเชียงใหม่ไม่ได้รับเฉพาะคนในเมืองเชียงใหม่เท่านั้นส่วนดอยอินทนนท์นั้นเล่า ผู้คนขึ้นไปชื่นชมความงาม ไปเพื่อพบกับความหนาวเย็น ในขณะเดียวกันดอยสวย ผืนป่าก็ซ้ำเหลือเกิน มีสถานที่ก่อสร้างมากมายอยู่บนนั้น และนี่ข่าวว่าจะมีการสร้าง หอดูดาวบนดอยอินทนนท์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นความเหมาะสม เพราะว่า พื้นที่แคบๆ บริเวณยอดดอยเกินขีดจำกัดความสามารถของการรองรับของพื้นที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องการใช้น้ำเนื่องจากเป็นจุดสูงสุด จึงไม่สามารถนำน้ำจากลำธารตามธรรมชาติมาใช้  แต่ต้องอาศัยน้ำสะสมใต้ดินที่มีอยู่ไม่มาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากบริเวณป่าพรุพื้นที่ชุ่มน้ำอ่างกา พื้นที่ชุ่มน้ำอ่างกานี้ นับเป็นระบบนิเวศป่าพรุบนเขาสูงที่มีเอกลักษณ์พิเศษจำเพาะ ที่มีเพียงแห่งเดียวของประเทศ  เป็นถิ่นอาศัยของพืชสัตว์เฉพาะถิ่นหายากหรือมีสถานะภาพใกล้สูญ ดอยอินทนนท์เตรียมสร้างหอดูดาวหากมีการสร้างหอดูดาวขึ้นในบริเวณยอดดอย ระหว่างก่อสร้างและเมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะมีกิจกรรมที่ต้องใช้น้ำอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อระดับน้ำใต้ดินและน้ำในพรุอ่างกา  ทำให้ระบบนิเวศที่ประสพปัญหาอย่างหนักอยู่แล้วในปัจจุบัน  เสื่อมโทรมลงไปอีกจนอาจเกินแก้ไขแน่นอนล่ะ ต้องสูญเสียพื้นที่สีเขียวไปอีก และเหนืออื่นใด ยังอยู่ใกล้กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระสถูปของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 อันเป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวล้านนา จึงไม่สมควรก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นควรจะพิจารณาที่อื่น (ข้อมูลจากชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา)เช่นเดียวกับแม่น้ำปิง ที่มองเห็นอยู่ข้างหน้า มีความสำคัญอย่างไร แม่น้ำปิงถือว่าเป็น แม่น้ำสายสำคัญ เป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต ดังนั้นจึงเป็นมากกว่าความสวยงาม ที่มองเห็นจากร้านอาหาร หรือจากการล่องเรือชมสองฝั่ง แม่น้ำเป็นหนึ่งในเจ็ดชัยภูมิของเมือง แม่น้ำสายนี้ให้ชีวิตผู้คนมายาวนาน มีการจัดการในระบบเหมืองฝายที่สำคัญยิ่งในการเกษตร แม่น้ำปิงเตรียมสร้างประตูระบายน้ำและท้ายที่สุดมีบทสรุปว่า เมืองเชียงใหม่จะอยู่อย่างไร ท่ามกลางการพัฒนาเมืองไปสู่การท่องเที่ยว เช่นการประกาศผังเมืองใหม่ ให้เป็นพื้นที่สีแดงในย่านวัดเกตุ ฟ้าฮ่าม พื้นที่สีแดงให้ขยายสู่พื้นที่บันเทิงยิ่งขึ้น และนี่มาถึงคำถามอีกครั้งว่า เมืองเชียงใหม่จะขายอะไร มีอะไรเหลือให้ขายอีกไหม ขายอะไรดีจ๊ะ หรือจะปลุกผีไนท์ซา หรือผีสวนโลกขึ้นมา
แพ็ท โรเจ้อร์
หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้เขียนไม่ได้มีเวลาและมีพลังงานมากพอที่จะผลิตงานมาที่ “ประชาไท” เลย เนื่องจากภาระงานต่างๆ ที่รับผิดชอบอยู่มีอย่างมากมาย จนเมื่อไรที่กลับถึงบ้านก็พร้อมที่จะวิ่งไปที่เตียงนอนแล้วก็หลับผล็อยไปตรงนั้น แล้วตื่นขึ้นมากับวันใหม่ เพื่อทำงานที่ค้างไว้ให้เสร็จและคอยผจญกับงานใหม่ที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า “ชอบงานที่ทำ” หรือเป็นเพราะ “มีความรับผิดชอบต่องาน” หลายครั้งตอบว่าอย่างหลังน่าจะเหมาะกว่าเรื่องความรับผิดชอบนั้นสามารถมองได้หลายแบบ ผู้เขียนมีบุคคลรอบข้างที่มีลักษณะรับผิดชอบที่น้อยที่สุดตามกฏระเบียบ นั่นหมายถึงความรับผิดชอบที่น้อยที่สุด หรือถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง บุคลากรพวกนี้มีมากถึงมากที่สุด เป็นเพราะในวงการของการทำงานแบบไทยๆนั้น เชื่อกันว่ายิ่งทำงานมากก็ยิ่งมีโอกาสผิดมาก ดังนั้น พวกนี้จึงไม่ชอบที่จะทำอะไรถ้าไม่จำเป็น อันนี้ ต้องมองเรื่องวัฒนธรรมองค์การแบบไทยๆด้วย ที่มีระบบการทำงานแบบราชการอย่างเคร่งครัด มีลำดับช่วงชั้นที่เข้มงวดและระบบอุปถัมภ์ที่แทรกเข้ามา แต่ระบบคุณธรรมมีน้อยมาก ทำให้มีการอิจฉาริษยาที่เข้มข้น มีการทำงานเอาหน้าเป็นกิจวัตร  คนที่ต้องการอยู่อย่างปลอดภัยและลงทุนน้อยที่สุดคือคนที่ทำอะไรตามจำเป็นผู้เขียนมีคนในปกครองหรือพูดง่ายๆ คือลูกน้องที่เป็นสายตรงอยู่ 4คน ในหน่วยงานที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ดูแลกำกับ ถือว่ามีกำลังคนน้อยมากเมื่อเปรียบกับงานที่ต้องรับผิดชอบ งานหลักๆคือรับใช้และบริการผู้บริหารระดับสูงสุดอีกทีหนึ่งและมีโครงการเด็ดๆที่ต้องใช้ทักษะที่ไม่ไทยเพื่อให้สำเร็จ เพราะผู้บริหารได้มีความเชื่อว่าประสบการณ์การทำงานและเรียนในสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2529จนถึง2549 ของผู้เขียนจะพอช่วยได้ ซึ่งเอาเป็นว่าถือเป็นเกียรติของผู้เขียนก็แล้วกัน ทั้งที่รู้ว่าเป็นภารกิจที่หนักหนาเอาการ ผู้เขียนเคยทำตำแหน่งบริหารแต่มีลูกน้องน้อยมาแต่ไหนแต่ไร มักได้โครงการอะไรเด็ดๆมาตั้งแต่เด็ก มีทั้งที่เป็นไทยและไม่ไทย  และทั้งในและนอกไทย ยอมรับว่าตำแหน่งตรงนี้วันนี้ท้าทายกว่ามากเพราะว่าความรับผิดชอบสูงกว่าเดิมแยะ เป็นหน้าเป็นตาของหน่วยงานใหญ่ แต่มีเครื่องไม้เครื่องมือน้อยมาก และระบบงานทั่วไปของหน่วยงานอื่นๆก็สนับสนุนการทำงานไม่ได้มากนัก อันนี้ไปว่าเขาก็ไม่ได้เพราะเขาเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ผู้บริหารระดับสูงชุดนี้ต่างหากที่มีโครงการต่างๆต่างจากเดิม จึงทำให้เกิดรอยต่อที่ใหญ่โตและเหมือนมีแรงต้านไม่น้อยในระดับล่างขึ้นมาจนถึงระดับบน กลับมาสู่เรื่องทำงานแต่น้อยเท่าที่ต้องรับผิดชอบ อันนี้ถือว่าเป็นภัยต่อองค์การเองเพราะว่าองค์การนั้นต้องการสิ่งใหม่ๆในทุกระดับและจากทุกระดับ หากองค์การทำงานแบบไปวันๆ หรือแบบ “เช้าชาม เย็นชาม” ก็จบกัน เรื่องนี้ผู้บริหารเองต้องมองให้ชัดเจนว่าจะมีการขับเคลื่อนอย่างไร การบีบบังคับและออกคำสั่งนั้น อาจได้ผลในระยะแรกๆ แต่จะมีผลตามมาในระยะต่อไปคือมีความระส่ำระสาย หลายคนบอกว่า “ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ออกไปได้เลย” หากทำแบบนี้ ต่อไปก็จะไม่มีคนมาทำงานด้วย ไม่ว่าองค์การของคุณนั้นจะเก่งสักปานใดก็ตาม เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในโลกที่เน้นการบริหารจัดการแบบประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องการคนเก่งๆที่รักอิสระ มีความหยิ่งในศักดิ์ศรี การทำงานแบบเน้นพระเดชนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าพึงปรารถนาแต่อย่างใดอย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ว่า “อุดมคติ” ต่างๆในสังคมไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามโลกสากล มัวแต่ย้อนศรเพราะว่าชนชั้นปกครองมีความเชื่อสูงสุดหรืออุดมคติที่ตนนิยมที่ว่า คนไทยพอใจกับความเป็นบ่าวไพร่ คิดไม่เป็น ต้องให้มีคนนำที่ชี้ให้ตายก็ไปตาย ชี้ให้ทำอะไรก็ทำ ไม่มีสำนึกในความเป็นตัวของตัวเอง จนเหมือนคล้ายๆกับลัทธิอะไรบางอย่างไปเสียแล้ว วิถีทางดังกล่าวได้เข้ามาในบริบทองค์การแบบเลี่ยงไม่ได้ คือพยายามสร้างคตินิยมในองค์การให้เห็นเป็นระบบบ่าวไพร่ย่อยๆ  จนทุกคนคิดไม่เป็นและหวาดระแวงกันและกัน ดังนั้น วิธีคิดของผู้บริหารองค์การและผู้ถูกบริหารก็เวียนวนกับเรื่องแบบนี้ เวลาจะไปแข่งกับองค์การระดับสากลจริงๆ จึงสู้เขาไม่ได้ และจะไม่มีวันสู้ได้ ผู้เขียนมีความยากลำบากบ้างในการที่จะพยายามเปลี่ยนระบบความคิดบางอย่างของลูกน้อย คือให้พวกเขากล้าที่จะคิดและนำเสนออย่างประชาธิปไตยมากที่สุด แต่ดูเหมือนว่าจะมีบางคนที่ยังไม่เข้าใจ และยังพอใจที่จะได้ทำงานแต่น้อยๆแต่หวังผลประโยชน์มากๆ แล้วก็มีพฤติกรรมเรียกร้องขอโน่นนี่ ดีที่ว่าระบบงานที่ผู้เขียนกำหนดไว้นั้นมีเรื่องของผลงานเป็นตัวบ่งชี้สัมฤทธิผลทางการทำงาน จึงทำให้การร้องขอผลประโยชน์ต่างๆต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน แต่การร้องขออย่างไร้เหตุผลก็เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเป็น “ไพร่” ในสังคมไทยบุพพกาลที่ไม่สามารถกำจัดได้ในสังคมไทยปัจจุบันการได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งดังกล่าว ยังทำให้ผู้เขียนได้เห็นความเป็นไปของผู้บริหารระดับสูงอีกด้วย โดยเฉพาะเกมการเมืองต่างๆที่บรรดาผู้บริหารระดับสูงต้องชิงไหวชิงพริบกัน แน่นอนบรรดาท่านๆ เหล่านี้ มีข้อขัดแย้งระหว่างกัน มีการปะทะทางคารมให้เห็นเสมอๆ ไม่ว่าจะในที่ประชุมหรือผ่านบันทึกต่างๆ  ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยอมรับว่าจากประสบการณ์ในสหรัฐฯนั้น บอกว่าผู้บริหารสหรัฐฯนั้นมีฝีมือที่เหนือกว่าหลายเท่านัก เพราะคนในสหรัฐฯเข้มข้นกว่าในคุณภาพและกลยุทธต่างๆ นอกจากนี้ เงื่อนไขทางกฏหมายและข้อบังคับที่เน้นอำนาจนิยมน้อยกว่า ทำให้การบริหารต้องมืออาชีพกว่ามากอย่างเทียบกันไม่ติด ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอกล่าวเพียงบรรยากาศเบื้องต้นของการทำงานวงในพอเป็นสังเขปเท่านี้ เชื่อว่าจะมีรายละเอียดที่จะมาวิเคราะห์ต่อไปได้อีก และที่สำคัญคือ บทความวิเคราะห์เหล่านี้จะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “วัฒนธรรมระดับชาติ” และ “วัฒนธรรมองค์การ” ที่ต่างฝ่ายต่างสะท้อนกันและกัน ซึ่งทำให้เกิดทั้งข้อดีและข้อด้อยในการบริหารจัดการ ในระดับองค์การเองและระดับประเทศ ที่เราเห็นๆกันอยู่
ที่ว่างและเวลา
‘โถ่เรบอ’หนังสือนวนิยายขนาดสั้น เรื่อง  “เพลงรักช่อดอกไม้” ของ ‘พิบูลศักดิ์ ละครพล’ ที่เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ใน ‘สกุลไทย’ เมื่อปี 2520 ก่อนสำนักพิมพ์จันทร์ฉายจะนำมารวมเล่มครั้งแรก ในปี 2521 นั้นเปิดฉากด้วยเนื้อเพลงปกาเก่อญอ ที่ชื่อ “แพลาเก่อปอ”“แพลาเก่อปอ ในคืนพระจันทร์ส่องแสง ฉันนั่งเหม่อมอง คอยจ้องแทะนาเต่อกาฉันคอยแสนคอย บะฉ่าเตอถี่บะนา เส่ นอ ถ่อแย เมื่อฉันเคียงคู่กับเธอแมแหม่แคอี ฉันต้องอยู่เดียวเปลี่ยวดายมองหาคู่เคียง บะฉ่าเตอถี่เลอบาโอ้ยอดดวงใจ  แคอีเนอโอะแพแลโปรดจงเห็นใจ เกอหน่าเยอพอคีลา”เพลงนี้ติดหูชาวปกาเก่อญอยาวนานมากว่าสามสิบปี ถือได้ว่าเป็นเพลงยุคแรกๆ ที่นักร้องชาวปกาเก่อญอนำเพลง มาใส่เนื้อร้อง ทำนองเข้ากับกีต้าร์แม้เพลงในชุดนี้จะมีเครื่องดนตรีเพียงกีต้าร์ตัวเดียวก็ตาม แต่เจ้าของเสียงเพลงและเนื้อเพลงในชุดนี้  ผู้ร้องได้ถ่ายถอดออกมาด้วยน้ำเสียงอย่างได้อารมณ์  มีเสน่ห์ครองใจชาวปกาเก่อญอมายาวนาน จนกลายเป็นเพลงอมตะของชนเผ่าไปแล้ว  เพลงในอัลบั้มชุด “ใต้แสงจันทร์” หรือ “แพลาเก่อปอ” นอกจากเพลงใต้แสงจันทร์ที่มีเนื้อร้องผสมระหว่างภาษาปกาเก่อญอกับภาษาไทย  ทำให้คนไทยก็หลายคนชื่นชอบ และยังมีเพลงอื่นๆ อีกหลายเพลง ที่เป็นเพลงรักเพลงอกหัก ซึ่งตรงกับชีวิตผู้ร้อง ซึ่งถูกชายคนรักในเผ่าพันธุ์เดียวกันทอดทิ้งการที่ลูกสาวถูกชายคนรักทำให้เจ็บช้ำใจ ผู้เป็นพ่อจึงต้องพาลูกสาวย้ายจากถิ่นเกิดบ้านน้ำลัด จังหวัดเชียงราย พาลูกสาวหลบรักษาแผลใจไกลยังเมืองสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทิ้งไว้เพียงอัลบั้มเพลงชุดเดียวที่ยังมีเปิดให้พี่น้องในเผ่าพันธุ์ได้ฟังกันอยู่จนทุกวันนี้ ที่ สวท.เชียงใหม่ ภาคภาษากะเหรี่ยงตอนหัวค่ำวันที่ 8 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา เจ้าของเพลง “ใต้แสงจันทร์ แพลาเก่อปอ” ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่สังขละบุรีหลังจากต่อสู้กับโรคภัยนานนับปีมิตรรักแฟนเพลงชาวปกาเก่อญอของ “เส่อหระหมื่อซูกรี” ขอรำลึกถึงมา ณ ที่นี้ด้วยความอาลัย* ลาเก่อปอ = แสงจันทร์
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
โอ้ นางฟ้าของคนยากจากไปแล้วดั่งดวงแก้วตกต้องแผ่นผาจากไปไกลลิบลับไม่กลับมาจากไปแล้วหนา...วนิดา คนดีคนดีของคนยากของแผ่นดินยุคทมิฬ รัฐ บรรษัท ทำบัดสีถืออำนาจอยุติธรรมคอยย่ำยีขยำขยี้คนจนปล้นทรัพยากรสารพัดในนามของความผิดที่เขาคิดมากล่าวหามาถอดถอนเพื่อขับไล่ไสส่งจากดงดอนจากสิงขร จากน้ำฟ้า ป่าบรรพชนด้วยกฎหมายที่เขาตราขึ้นมาเองใช้เป็นเหตุยำเยงทุกแห่งหนที่มาดหมายครอบครองเป็นของตนขับไล่คนเหมือนหมูหมาเหมือนกาไก่เธอจึงเกิดขึ้นมาเพื่อต่อสู้อยุติธรรมแด่ผู้ที่ยากไร้ทั้งชีวิตอุทิศทั้งกายใจควรกราบไหว้ควรเชิดชู ควรบูชาโอ้ นางฟ้าของคนยากจากไปแล้วดั่งดวงแก้วตกต้องแผ่นผาจากไปแล้วคุณคนดี วนิดาต่อแต่นี้น้ำตา...คนยากไร้ ใครจะซับ.7 ธันวาคม 2550กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่  ภาพประกอบจาก http://www.thaingo.org/man_ngo/mod.htm
ฐาปนา
คืนหนึ่งผมฝันถึงสถานที่หนึ่งซึ่งผมไม่เคยคาดคิดว่าจะฝันถึงสถานที่แห่งนั้นเป็นทางเดินที่ทอดยาว เชื่อมระหว่างอาคารหนึ่งไปสู่อาคารหนึ่งผมเดินไปตามทางนั้นด้วยความรู้สึกประหลาด ประหลาดเพราะรู้ว่านี่คือความฝัน แต่ทั้งรู้ว่าฝันผมกลับตื่นตื่นโพลงอยู่ในความฝัน ผมเดินไปตามทางด้วยความตื่นโพลง และรู้สึกราวกับกำลังเดินอยู่ในภาพวาดซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างหยุดนิ่ง แม้แต่ใบไม้แห้งก็แทบจะไม่ไหวติง ผมรู้จักสถานที่แห่งนั้นดี มันคือทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารพักอาศัยไปยังอาคารปฏิบัติรวมของศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา สถานที่ที่ผมไปอบรมวิปัสสนาเป็นเวลาสิบวันผมพยายามหาเหตุผลว่า ทำไมผมจึงฝันถึงสถานที่แห่งนั้น และทำไมผมจึงรู้สึกอย่างนั้น บางที อาจเป็นเพราะความคุ้นชินบางอย่างที่ได้รับขณะที่อยู่ที่นั่น ซึ่งไม่อาจหาได้จากที่อื่น และบางทีอาจเป็นเพราะลึกๆ แล้วผมปรารถนาจะได้ประสบการณ์แห่งความรู้สึกนั้นอีกครั้ง ความสงบ, เงียบ ไม่มีเสียงพูดคุย ไม่มีเสียงผู้คน ไม่มีแม้เสียงของตัวเอง หากลองตั้งสมาธิให้ดีจะได้ยินกระทั่งเสียงลมหายใจและเสียงหัวใจเต้น เสียงใบไม้ไหว เสียงนกในป่าที่มองไม่เห็นตัว เสียงปลากระโดด เสียงลมพัด เงียบราวกับเป็นเวลากลางคืน แต่นี่คือเวลากลางวัน ในสถานที่ที่มีคนอยู่ร่วมร้อยคน ยากจะหาที่ไหนเหมือน, มีคนอยู่รวมกันมากขนาดนี้ แต่กลับเงียบขนาดนี้เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมวิปัสสนาและกลับมาสู่วิถีชีวิตคนเมืองอีกครั้ง ผมเริ่มรู้สึกถึงความแปลกแยกบางอย่างที่ก่อตัวอยู่ภายใน ดูเหมือนจะเป็นความแปลกแยกกับ “เสียง”เมืองคือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว ความสั่นสะเทือน มีแสงเจิดจ้าในยามค่ำ มีสีสันจากป้ายเรืองแสง มีสรรพเสียงจากทุกทิศทุกทางทุกเวลา เราอยู่กับแสงและเสียงแทบจะตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นลืมตาจนถึงล้มตัวลงนอน และอาจมากเสียจนไม่อาจคุ้นชินเมื่ออยู่ในสภาวะที่ปราศจากมันความเงียบจึงคล้ายสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ไม่ใช่แค่กำลังจะหายไปจากเมือง แต่มันกำลังจะหายไปจากใจมนุษย์ด้วย“...เด็กยุคนี้ขี้เหงาเพราะเขาโตมากับเสียง ไม่เคยอยู่เงียบๆ ไม่รู้จักต้นไม้ว่าต้นไหนหน้าตาเป็นยังไง หลายคนเลี้ยงลูกด้วยทีวีซึ่งน่าเป็นห่วง สังคมเราร่ำรวยขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็เป็นไปในเชิงบริโภคมากขึ้น ซื้อๆๆ เด็กมีโลกของตัวเอง มีที่ครอบหู ฟังเพลงตลอดเวลา ชอบความบันเทิงที่ใช้เสียง บันเทิงแบบเงียบๆ ไม่รู้จัก ทั้งที่จริงความเงียบก็เบิกบานได้ พอเปิดทีวีดัง ชอบเสียงดัง ใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่เสียงดัง หูก็ตึงตั้งแต่เด็ก ตอนนี้เรากำลังสู้กับเด็กที่หูตึง เด็กจำนวนมากเป็นคนหูพิการไปแล้วโดยไม่รู้ตัว น่ากลัวมาก อันตราย ประเทศกำลังอยู่ในวิกฤติ แต่ไม่มีใครรู้ เยาวชนฟังเพลงดังๆ ชอบดังๆ ฟังทั้งวัน ไม่สามารถอยู่เฉยได้ กลับถึงบ้านเปิดทีวี วิทยุ ไม่เคยได้อยู่เงียบๆ พรีเซนเตอร์ หรือคนอ่านสปอตทั้งหลายก็พูดเบาๆ หรือพูดปกติไม่เป็นแล้ว สังคมที่ไม่มีความสงบคือสังคมที่วิบัติ...”(เสียงดังกำลังคุกคามถ้วยชาวิถี  ปานชลี สถิรศาสตร์ ,โลกของเราขาวไม่เท่ากัน : ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ และ วรพจน์ พันธุ์พงศ์)หลายคนอาจคิดว่า ความสุขกับความสนุกนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ผมกลับเห็นต่างออกไป เสียงต่างๆ อาจทำให้เราสนุก รื่นรมย์ บันเทิง แต่ถ้ามากเกินไป บ่อยเกินไป เสียงใดก็แล้วแต่ไม่อาจให้ความสนุกได้อีกแล้ว มากๆ เข้าจากความสนุกก็จะกลายเป็นทุกข์ความเงียบสงบต่างหากที่จะทำให้เราได้พบกับความสุขที่แท้จริงเพราะความเงียบคือการลดทอนสิ่งฟุ่มเฟือยที่เราเรียกว่าเสียงเพื่อเราจะได้พบกับความสงบความเงียบเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรากลับสู่ภายใน และเกิดสำนึกปรารถนาสันติความเงียบคือการกลับสู่ธรรมชาติดั้งเดิม กลับสู่ความจริงในโลกปัจจุบันเราแต่ละคนยังเป็นปัจเจกชนที่ปรารถนาสิ่งเร้า และสั่นไหวไปตามสิ่งที่มาเร้า ในขณะที่สภาพแวดล้อมยังเต็มไปด้วยสรรพเสียง ซึ่งบางครั้งก็มากถึงขั้นมลภาวะ ชีวิตที่ดำเนินไปทำให้เราต้องพบกับเสียงมากมายในแต่ละวัน บ้างดัง บ้างเบา บ้างหยาบ บ้างไพเราะ ทั้งเสียงที่น่าพึงพอใจ ที่ไม่น่าพึงพอใจ และที่ไม่ทำให้รู้สึกอะไร แต่เราแทบไม่พบกับความเงียบเลยบางคนคิดว่าความเงียบคือหายนะ เขาไม่อาจอยู่กับความเงียบได้แม้หนึ่งอึดใจและต้องดิ้นรนหาสรรพเสียงอยู่ตลอดเวลา เมื่อใจเขาไม่ปรารถนาความสงบ ก็ยากที่จะได้พบกับความสุขที่แท้ความสนุกจากสรรพเสียง กับความสุขจากความเงียบมิใช่สิ่งเดียวกัน สุนทรียะจากการรังสรรค์ของมนุษย์คือความสนุก แต่สุนทรียะจากความสงบ คือความสุขที่ดี่มด่ำล้ำลึกกว่าเมื่อได้มีประสบการณ์ถึงความเงียบยาวนานถึงสิบวัน ก็คงไม่แปลกที่ผมจะคิดถึงมัน ถ้ามีใครสักคนบอกผมว่า “สวรรค์ คือสถานที่ที่เต็มไปด้วยความเงียบ” ผมคิดว่า ผมอาจจะเชื่อเขา
แพร จารุ
มีเพื่อนผู้หวังดีส่งเมลมาว่า ให้เขียนเรื่องดี ๆ เพื่อเมืองเชียงใหม่บ้าง ทำไมถึงมองไม่เห็นความงามของเมืองบ้าง  ฉันจึงเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา               1ถ้ามองลงมาจากฟ้า เราจะเห็นเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ตรงกลาง มีป่าดอยสุเทพอยู่ทางตะวันตก มีแม่น้ำปิงไหลผ่านทางตะวันออก  ช่างเป็นเมืองงดงามที่สมบูรณ์ เล่ากันว่า เดิมทีผู้คนในเมืองนี้อยู่กันอย่างสงบสันติ แต่แน่นอนเมืองที่ดีงามเช่นนี้ ย่อมมีผู้คนต้องการ เข้ามาอยู่มาครอบครอง โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติบนดอยสูง หลายร้อยปีต่อมา เมืองเชียงใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับนโยบายเพื่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในเมืองหมดไปอย่างรวดเร็ว และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอย่างมากโดยเฉพะสิบปีที่ผ่านมา  ดอยสุเทพเป็นเป้าหมายหลัก ไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ การท่องเที่ยวได้รุกคืบเข้าไปถึงขั้นกันพื้นที่อุทยานออกมาใช้ บางโครงการใช้พื้นที่ไปแล้วและหลังจากนั้นขอถอนพื้นที่ออกจากอุทยาน อีกทั้งยังมีโครางการขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เมกกะโปรเจค ค้างอยู่อีกหลายโครงการ ชาวเมืองเชียงใหม่ และผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ จำนวนมาก ที่เป็นกังวลหวงใยเรื่องป่าดอยสุเทพ วัดพระธาตุดอยสุเทพ และลานครูบาศรีวิชัย   พวกเขาพยายามดูแลจัดการมาหลายชั่วอายุคนเหมือนกัน พยายามคัดค้านโครงการต่าง ๆ รอบ ๆ ดอยสุเทพ รวมทั้งผืนป่าในพื้นที่อุทยาน ที่ถูกทำลายภายใต้นโยบายของรัฐ โครงการของรัฐบาลบางโครงการ ส่งผลกระทบต่อศรัทธาของคนเชียงใหม่อย่างรุนแรง และในช่วงนั้นเกิดภาคีคนฮักเชียงใหม่ขึ้นมา  เป็นการรวมตัวกันด้วยศรัทธา  หลังจากนั้น ปีที่ผ่านมา มีชมรมเพื่อดอยสุเทพเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของหัวหน้าอุทยานดอยสุเทพในสมัยนั้น มีการจัดกิจกรรมร่วมกันหลายครั้ง ทั้งการเดินสำรวจดอยสุเทพ การจัดนิทรรศการ จนเปลี่ยนหัวหน้าอุทยาน และวันนี้มีความพยายามจะสานต่อกันอยู่2ดอยสุเทพได้ชื่อว่า เป็นดอยวิเศษ ป่าแห่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เป็นจิตวิญญาณของชาวล้านนา  ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุดอยสุเทพยาวนานกว่า 600 ปี พื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และบางส่วนเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำบางส่วนยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ นอกจากความงดงามของสถานที่แล้ว ยังถือเป็นป่าที่มีคุณค่า มีทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมายาวนาน  ในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่ผ่านมา มีการเดินขึ้นดอยสุเทพอย่างช้า ๆ ของคนเชียงใหม่ เพื่อระลึกถึงจอบแรกของครูบาศรีวิชัย ผู้สร้างขึ้นไปสู่ยอดดอย  ผู้คนที่เดินดอยแบ่งเป็นสองกลุ่มเดินทางถนนและเดินทางป่า ผู้เดินทางป่าที่สูงวัยคนหนึ่งมาบอกเล่าให้ใคร ๆ ฟังว่า แม้ว่าการเดินป่าดอยสุเทพเดี๋ยวนี้  จะไม่เห็นสัตว์ป่าชนิดใดบนดอย นอกจากนกกระรอก และแมลงต่าง ๆ และคิดว่าที่ถูกบันทึกเอาไว้ มันอาจจะไม่มีแล้วก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นนกสามร้อยกว่าชนิด ผีเสื้อกลางวันห้าร้อยชนิด ผีเสื้อกลางคืนอีกสามร้อย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนับกว่าครึ่งร้อย สัตว์เลื่อยคลานอีกมากมาย และสัตว์หายากพวกชะนี หมีควาย กวางป่า หมูป่า และพืชหลากหลาย ทั้งพืชเฉพาะถิ่นที่มีอยู่ที่เฉพาะที่นั้น ๆ เท่านั้น รวมทั้งกล้วยไม้ป่าหายาก แต่เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ ก็จะรู้สึกได้ถึงความมีชีวิตและที่เขากล่าวกันว่า เราต่างมีชีวิตที่ธรรมชาติเป็นผู้ดูแลนั้นสัมผัสได้จริง ๆ และเพียงแค่นี้ พอเพียงไหมสำหรับการจะดูแลรักษาไว้ ให้เป็นผืนป่าผืนสุดท้ายกลางเมืองใหญ่ เพื่อช่วยให้โลกร้อนน้อยลงไม่ว่าคุณจะเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด “คนเมือง” หรือคุณจะเป็นเพียงมาอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่อย่างถาวร หรือมาอยู่ชั่วคราว คุณหรือใครก็มีสิทธิ์ที่จะรักเมืองเชียงใหม่ และช่วยกันดูแล ช่วยกันบอกต่อถึงเรื่องราวของป่าผืนสุดท้าย ให้ตระหนักถึงความสำคัญร่วมกันว่านี้คือปอดของเมือง ไม่ควรมีสิ่งใดที่แอบแฝงอยู่ในป่าผืนนั้น ไม่ควรปลูกสร้างอะไรอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ หรือที่พัก ร้านอาหารของเอกชน อย่าปลูกสร้างอะไรขึ้นมาอีกเลย นอกจากต้นไม้   ปล. ฉันเขียนเรื่องดีงามแล้วใช่ไหมเพื่อน
ที่ว่างและเวลา
‘ฐาปนา’ ผมพบเขาในวันที่เชียงใหม่ยังเปียกปอนจากสายฝน เขาแต่งกายเรียบง่าย บุคลิกคล้ายนักบวช ดูแข็งแรงเหมือนคนอายุสามสิบกว่าๆ  เมื่อได้สนทนา แม้น้ำเสียงเป็นกันเอง แต่ก็แฝงความเคร่งครัดไม่น้อย เขาคือผู้ริเริ่มการเขียน “แคนโต้” บทกวีสามบรรทัดจำนวนสี่ร้อยบทเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ,เป็นผู้ก่อตั้งเวบไซต์ ไทยแคนโต้ (www.thaicanto.com) เมื่อสองปีที่แล้ว และกลายเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดของบทกวีสามบรรทัด มีแคนโต้นับพันนับหมื่นบท ปรากฎอยู่ในเวบไซต์แห่งนี้ล่าสุด เขามีผลงานวรรณกรรมขนาดยาวแปดร้อยหน้า ที่ชื่อ “โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก”โดดเดี่ยว และ เด็ดเดี่ยว น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ชัดเจนที่สุดสำหรับตัวเขา “ฟ้า พูลวรลักษณ์” ศิลปินคนนั้นเวบไซต์ไทยแคนโต้เปิดมาได้ประมาณสองปีแล้ว คุณฟ้ามองช่วงสองปีที่ผ่านมาของเวบไซต์อย่างไรบ้างจริงๆ การทำเวบอันนี้มันก็เป็นการเริ่มทำจากที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ตอนทำก็อยากให้เป็นเวทีของคนรุ่นใหม่ที่สนใจ เพราะหนังสือมันขายลำบาก ก็คิดว่า...ตอนแรกคือโครงการแรกที่คิดจะพิมพ์หนังสือไปเรื่อยๆ ดูแล้วคงทำไม่ได้ แต่เมื่อทำไม่ได้ จะล้มเลิกความคิดที่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ก็ไม่อยากจะล้มเลิก ก็คิดว่า ทางออกก็คือทำเวบไซต์ เมื่อตอนทำนั้นก็คิดว่า สิ่งไหนที่เราจะทำเราต้องให้โอกาสมันเยอะสักหน่อย สัก 2-3 ปี ถึงมันไม่ดีก็จะทำมันไปเรื่อยๆ แต่เท่าที่ดูผลออกมา ก็คิดว่า เออ...มันก็ไปได้ดีพอสมควร ก็มีคนเข้าๆ ออกๆ สนใจ อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจคนที่เข้าเวบไซต์ โพสต์ข้อความ หรือ เขียนแคนโต้ มีความหลากหลายทางความคิดพอสมควร คุณฟ้ามีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรคืออย่างที่บอก ผมก็ไม่มีประสบการณ์ ไม่ได้รู้ ไม่ได้ตั้งเป้าว่าอย่างไหน อย่างไร คิดแต่เพียงว่า มันก็เป็นเหมือนร้านกาแฟเล็กๆ ร้านหนึ่ง ซึ่งมีคนเข้ามา มีขาประจำเข้ามา ดูเขาก็มีความสุขดี เหมือนกับมันก็เป็นโลกๆ หนึ่ง จุดที่ผมพอใจก็คือ...เหมือนกับเขาสื่อสารกันด้วยบทกวีแคนโต้ เหมือนคนที่ส่งเมสเสจคุยกันทางมือถือ แทนที่เราจะส่งข้อความอะไรก็แล้วแต่ เขาก็ส่งแคนโต้ไปหากัน ซึ่งจุดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ผมชอบ ผมอยากเห็นปรากฎการณ์อย่างนี้เยอะๆ ในโลกสมัยใหม่...จริงๆ การส่งเมสเสจหากันทางโทรศัพท์มันมีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บังเอิญแคนโต้นี่มันเป็นอะไรที่ใช้คำพูดน้อย  หากจะส่งเมสเสจหากันด้วยแคนโต้ มันก็ลงตัว แต่แทนที่จะส่งข้อความธรรมดา มันมีอะไรเพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง คือแคนโต้มีความอ่อนหวานบางอย่าง ซึ่งในโลกปัจจุบันเป็นโลกที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่คนกลุ่มน้อย ถ้าพวกเขามีใจส่งข้อความหากันด้วยบทกวีแคนโต้ โลกนี้มันก็เหมือนกับมีความหวัง เหมือนมีดอกไม้เล็กๆ เบ่งบานในที่แห้งแล้ง ผมก็อยากเห็นปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเยอะๆแคนโต้ที่ดีในความรู้สึกของคุณฟ้า ควรจะเป็นอย่างไรถ้าถามคุณภาพของงานแคนโต้ส่วนใหญ่ที่เขียนกันอยู่ จริงๆ ผมก็ยังไม่พอใจ ก็ยังถือว่ายังอ่อนอยู่ แต่ว่าผมไม่ซีเรียส เพราะผมมองอะไรนั้น ผมมองกว้างๆ บางคนอาจจะบอกว่า เอ...ไปเขียนแคนโต้แบบนี้มันเหมือนกับไปทำลายความหมายของแคนโต้หรือเปล่า เพราะมันดูเขียนง่ายไป ความหมายก็อาจจะไม่ลึกซึ้งพอ แต่สำหรับผม ผมคิดว่า เรามองอะไรคงต้องมองหาสิ่งที่เป็นบวก ผมคิดว่า มันอุปมาเหมือนกับเรามีคลับเล่นฟุตบอล เราอาจจะกำหนดให้มีคลับเล่นฟุตบอลประจำตำบล ประจำอำเภอ เด็กๆ ก็มาเล่นกัน เพราะว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่เราไม่มีการสอน และมันก็ไม่ควรสอน คือคุณมีใจเล่นก็มาเล่น ภายใต้กติกาไม่กี่อย่าง ทีนี้ความสำคัญอยู่ที่ว่า มีเด็กมาเล่นเยอะมั้ย เขามีความสุข กระตือรือร้นที่จะเล่นหรือเปล่า เมื่อเรามีเด็กเล่นเยอะๆ ผมก็เชื่อว่า มันก็ต้องมีเด็กที่มีพรสวรรค์ เราก็ค่อยๆ แบ่งไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็เกิดฟุตบอลดิวิชั่นสาม ดิวิชั่นสอง ค่อยๆ เลื่อนขึ้นมา จนวันหนึ่งก็อาจจะมีคนที่เล่นเก่งมากๆ แต่ความสำคัญขณะนี้มันไม่ได้อยู่ที่ว่า มีใครเก่งมากน้อย แต่อยู่ที่ว่า มีคนสนใจมากน้อย มากกว่า มันเหมือนกับประเทศบราซิลทำไมเขามีนักฟุตบอลที่เก่ง ก็เพราะชาวบ้านหรือเด็กๆ เขาชอบเล่นฟุตบอล เขาเล่นเหมือนกับเป็นเรื่องประจำวันไป เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็ต้องมีนักฟุตบอลเก่งๆ เกิดขึ้นถ้ามีใครสักคนได้อ่านแคนโต้แล้วอยากเขียนขึ้นมา แต่เขาไม่เคยเขียนอะไรมาก่อนเลย คุณฟ้าพอจะแนะนำวิธีเขียนและวิธีพัฒนาการเขียนของเขาได้หรือไม่คือผมว่าจุดเด่นของแคนโต้อยู่ที่มันง่าย นี่คือเหตุที่ทำให้มีคนสนใจเยอะ เขียนเยอะ มันง่ายจนกระทั่ง...เหมือนกับเกือบจะไม่มีกติกาอะไรเลย ทีนี้เราก็เอาจุดเด่นคือความง่ายอันนี้มาใช้เป็นประโยชน์ คือผมอยากให้ทุกคนเขียนอย่างที่ตัวเองอยากเขียน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ โดยธรรมชาติของวัตถุมันจะต้องมีระเบียบของมันเอง เหมือนสิ่งมีชีวิตมันมีระเบียบของมันเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเขียนไปๆ ในที่สุดมันจะเริ่มมีการแยกแยะบทที่ดีกับไม่ดีโดยเริ่มจากตัวคนเขียนก่อน ถ้าคนเขียนแยกแยะไม่ออกแสดงว่าเขายังไม่เข้าใจ ยังไม่มีเซนส์ สมมติเขาเขียนขึ้นมาพันบทเขาก็ไม่รู้ อะไรดีไม่ดี หรือถ้าสมมติเขาทึกทักว่าพันบทดีหมด เอ..มันจริงหรือเปล่า มันก็น่าจะให้คนอื่นรับรู้ ถ้าคนอื่นเห็นด้วยกับเขาหลายๆ คน ก็แสดงว่าของเขาอาจจะดีจริง แต่ถ้าคนอื่นไม่รู้สึกอย่างนั้นล่ะ งั้นก็แสดงว่าเขาไม่เข้าใจ คือเขาไม่สามารถสื่อสาร งานเขียนทุกชนิด แม้แต่แคนโต้ไม่ว่ามันจะง่ายเพียงไหนมันก็คืองานประพันธ์ชนิดหนึ่งซึ่งเขียนให้คนอื่นอ่าน ผมเขียนแคนโต้ผมก็เขียนให้คนอื่นอ่าน นักเขียนทุกคนสิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือเราไม่ได้เขียนให้ตัวเองอ่าน ในกรณีที่เขียนให้ตัวเองอ่านมันไม่มีปัญหา คุณเขียนให้ตัวเองอ่านรู้เรื่องคุณก็เขียนไป นักเขียนที่เก่งคือนักเขียนที่สามารถอ่านงานตัวเองได้ และตัดสินได้อย่างเป็นภววิสัย คือเขาอ่านงานตัวเองได้เหมือนกับเป็นคนนอก ตั้งแต่เด็กที่ผมเขียนหนังสือ ตัวผมเองจะต้องพิจารณาตัวเองได้ อย่างแคนโต้หมายเลขหนึ่งตอนนั้นผมอายุสิบเก้า ผมก็แยกแยะเอง ตอนนั้นไม่มีคนอื่นมาช่วยผมนะ ผมก็เลือกของผมเอง แล้วคุณภาพของงานที่ออกมามันก็สะท้อนกลับว่า อย่างน้อยตอนเขียนหนังสือ ผมจะต้องสามารถเป็นกลางได้ เพราะฉะนั้นนักเขียนแคนโต้ควรจะมีคุณสมบัติอันนี้คือจะต้องอ่านงานตัวเองออก ต้องเลือกได้ว่างานตัวเองบทไหนดีบทไหนไม่ดี เหมือนกับตัวคุณเองจะต้องกรองมันได้ แล้วจากนั้นที่จะดีขึ้นไปคือกรองมันละเอียดขึ้นเป็นชั้นๆ  ยิ่งคุณกรองได้ละเอียดเท่าไร ก็แสดงว่า งานคุณก็จะสามารถพัฒนาได้ดีขึ้น ทีนี้สิ่งอื่นๆ ที่ตามมาคือประสบการณ์ชีวิต อย่างวันนี้คุณอายุสิบเจ็ด คุณกรองตัวเองได้ดีที่สุดในวัยสิบเจ็ดของคุณ แต่อย่าลืมว่าสิบเจ็ดก็มีขอบเขตของเด็กอายุสิบเจ็ด การเข้าใจชีวิต การเข้าใจโลก สำหรับเด็กอายุสิบเจ็ดความเข้าใจตัวเองก็ยังเลือนๆ ลางๆ จริงมั้ยครับ เพราะฉะนั้นดีที่สุดในวันนั้น เราก็อย่าพึ่งไปตกใจ ถ้าสมมติว่าชีวิตมันพัฒนาไป วันหนึ่งเมื่ออายุมากขึ้น มาตรฐานการกรองอันนี้มันก็เปลี่ยนไปงานชิ้นล่าสุด (โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกเล่ม 1-2) เป็นงานที่ความยาวมากที่สุดของคุณฟ้า อะไรที่เป็นความคิดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจให้เกิดงานชิ้นนี้จริงๆ จุดกำเนิดของมันก็เหมือนกับสิ่งทั้งหลายที่กำเนิดจากจุดเล็กๆ ...มีวันหนึ่ง คุณเอื้อ อัญชลี เขามาบอกกับผมว่า เขาอยากจะขอบทความจากผมสักบทหนึ่งที่เกี่ยวกับสถานที่แห่งหนึ่งในดวงใจ เพื่อลงในหนังสือชุมนุมเรื่องสั้นของเขา ผมก็นั่งคิดดูว่า หนังสือเล่มนี้เป็นชุมนุมเรื่องสั้น คุณจะมาขอบทความผมทำไม เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมเขียนเป็นเรื่องสั้น ถ้าเขียนได้ก็คือได้ ถ้าไม่ได้ก็จะตอบปฏิเสธไป แต่ก่อนอื่นขอให้ผมคิดเต็มที่สักครั้ง ผมก็ไปนั่งคิดถึงสถานที่แห่งหนึ่งในดวงใจของผม ผมคิดถึงงานคอนเซปชวลชิ้นหนึ่งที่ผมเคยทำก็คือ ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก ซึ่งมันก็คือห้องเรียนที่ผมทำขึ้นมา คือผมเอาห้องนอนของผม ซึ่งปกติก็เป็นห้องนอนเรียบๆ แล้วผมก็ใส่เก้าอี้นักเรียนไปแปดตัว เอากระดานดำมาตั้ง มีโต๊ะเก้าอี้พร้อมทุกอย่าง แล้วผมก็ใช้ชีวิตอยู่ในห้องเรียนนี้เป็นเวลาเดือนสองเดือน กินนอนอยู่ในนั้น แล้วผมก็นั่งอยู่ในห้องนั้น จินตนาการตัวเองเป็นนักเรียนแปดคน มันก็คืองานคอนเซปชวลชิ้นหนึ่งในวัยเด็กนั่นเอง งานในวัยนั้นดีอย่าง คือผมทำอะไรก็ไม่ได้คิดมาก แทบจะเรียกได้ว่า มีคนเห็นแค่ไม่กี่คนก็พอ ผมเคยชวนเพื่อนไม่กี่คนมาดูงานชิ้นนี้ เด็กก็คือเด็ก เล่นอย่างสนุกสนาน มีความสุข แล้ววันหนึ่ง แน่ละ มาถึงจุดหนึ่ง ผมก็เก็บ ยกโต๊ะ ยกเก้าอี้ ยกกระดานดำออก มันก็จบไปแต่เมื่อคุณเอื้อมาถามผม ผมก็คิดถึงสถานที่แห่งนี้ ถ้ามีคนมาถามถึงสถานที่แห่งหนึ่งในดวงใจ บางคนอาจจะคิดถึงที่อื่นๆ เช่นว่า สยามสแควร์ ถนนพระอาทิตย์ แต่ผมรู้สึกนั่นเป็นเรื่องสามัญเกินไป ที่ผมคิดคือห้องนี้ต่างหาก แล้วผมก็เลยแต่งเรื่องสั้นที่มีความยาวแปดบท จริงๆ แปดบทมันยังยาวเกินไปสำหรับจะลงในหนังสือเล่มนั้นด้วยซ้ำ ผมก็เลยให้เขาลงแค่ครึ่งเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมรู้สึกว่า สถานที่แห่งนี้มันน่าสนุกนะ ผมก็เลยเขียนต่อเป็นสิบหกบท หลังจากนั้นมันก็ยังสนุกอยู่ อย่ากระนั้นเลย ผมเขียนเป็นเรื่องยาวดีกว่า ก็เขียนมาเรื่อยจนเป็นร้อยสิบหกบท ซึ่งก็คือโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกสองเล่มนี้ในฐานะผู้เขียน คุณฟ้าคาดหวังอะไรจากผู้ที่ได้อ่านโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกงานชิ้นนี้เป็นนิวเคลียสของผม เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาที่คนอ่านมีต่อมัน ก็คือปฏิกิริยาที่มีต่อตัวตนของผม ต่อนิวเคลียสผม หรือจะพูดว่า มันคือปฏิกิริยาที่ผู้อ่านมีต่อหัวใจผม มันก็บ่งบอก...เหมือนกับตัวตนผมทั้งหมด  ถ้าคุณถามว่า ผมคาดหวังอะไร ผมคาดหวังสูงสุดคือหัวใจคุณ พูดง่ายๆ คือผมหวังให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือในดวงใจของคุณ ผมอาจจะไม่สนใจปริมาณ อาจจะมีคนอ่านแค่ห้าร้อยคน แต่ผมอยากให้ห้าร้อยคนนั้นรักมัน เป็นหนังสือในดวงใจของเขา และโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนในดวงใจเขา เป็นสถานที่ที่เขาเคยไปแล้วเขาไม่อาจลืมในชั่วชีวิตของเขาแรกเริ่มเดิมที ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก มีนักเรียนเพียงแปดคนคือ ฟ้า บึง ไฟ ฟ้าร้อง ลม น้ำ ภูเขา และดิน ห้องเรียนนี้สอนด้วยการไม่สอน มาก็ได้ ไม่มาก็ได้ จะมาตอนไหนก็ได้ จะเรียนวิชาอะไรก็ได้ และไม่ต้องส่งการบ้าน เพราะถึงส่งครูก็ไม่ตรวจอยู่ดีกาลล่วงผ่านไป วันหนึ่ง ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก ก็เพิ่มจำนวนขึ้นมาอีกเจ็ดห้อง พร้อมกับมีนักเรียนเพิ่มขึ้นมาอีกห้าสิบหกคน จากห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก กลายเป็น โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกพวกเขาเหล่านั้นอยู่ที่นี่ เป็นทั้งความไม่จริงอย่างที่สุด และความจริงอย่างที่สุดนี่คือสถานที่ชั่วนิรันดร์ ที่รอให้คุณไปเยือน**************************โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกฟ้า พูลวรลักษณ์ ,พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2550  “มันดูเหมือนน้อย แต่ไม่น้อย มันแน่นไปด้วยพลังงานของฉัน พวกเธอคิดดูซี่ สิ่งที่มีน้อยกลับมีค่า และอยู่ในความทรงจำอย่างยาวนาน เริ่มจากตัวฉันก่อน เพราะฉันรู้ว่านี่เป็นหนึ่งวันเท่านั้นในหนึ่งปีที่ที่ฉันจะมาโรงเรียน วันนี้มีความหมายสำหรับฉันมากเลย ทุกย่างก้าวทุกวินาทีมีความหมาย”(ตอนที่ 79 ดิน ใจกลางโลก)