Skip to main content

โลกยุคหลังอุตสาหกรรม (Post industrial Age)” คือชื่อเรียกขานโลกในยุคปัจจุบัน เนื่องด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจ มีความแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้าหรือ ยุคอุตสาหกรรม (Industrial Age) ซึ่งเป็นยุคที่โลกของเราถูกผลักดัน ด้วยการแข่งขันของแต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ผ่านการพัฒนาความสามารถและเทคโนโลยีทางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในที่สุด

อย่างไรก็ดี โลกยุคหลังอุตสาหกรรม แต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ยังคงดิ้นรนต่อสู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในบั้นปลายเช่นเดิม หากแต่ความสำเร็จดังกล่าว กลับถูกขับเคลื่อน ผ่านการสร้าง เข้าถึง และได้มาซึ่งข้อมูล สำหรับการสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเข้าใจในองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการแข่งขัน และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนมากกว่าเดิม

นอกจากโลกในปัจจุบัน จะได้ชื่อว่าเป็นโลกยุคหลังอุตสาหกรรม มันยังถูกเรียกขานในอีกหลายชื่อตั้งแต่ “โลกยุคข้อมูลข่าวสาร (Information Age)” โลกยุคเศรษฐกิจองค์ความรู้ (Knowledge Economy)” และ “โลกยุคเศรษฐกิจบริการ (Service Based Economy)” ซึ่งชื่อทั้งหมดข้างต้น แตกต่างกันไปตามบริบท และมุมองของผู้รู้ในแต่ละด้าน

แน่นอนว่า เมื่อมองจากบริบทของโลกยุคข้อมูลข่าวสาร และ โลกยุคเศรษฐกิจองค์ความรู้ ผู้รู้จากทั้งสองบริบทดังกล่าว ตระหนักถึงปรากฏการณ์ที่ข้อมูลและองค์ความรู้ เป็นตัวแปรสำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจ จนส่งผลถึงการได้มาซึ่งชื่อของยุค


ส่วนในบริบทของโลกยุคเศรษฐกิจบริการ แม้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจสะท้อนออกมาไม่ชัดเจน อย่างในสองบริบทแรก แต่ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ในยุคของเศรษฐกิจบริการ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค มีความต้องการบริโภคข้อมูล เพิ่มขึ้นอย่างมาก

นั่นคือในขณะที่ผู้ผลิต จำเป็นที่จะต้องสร้างและใช้งานฐานข้อมูลลูกค้า พร้อมทั้งฐานข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่ง การพัฒนาระบบงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งความเข้าใจในตลาดและความต้องการของลูกค้า ที่จะะทำให้ตนสามารถสร้างสินค้าพร้อมกับบริการ ที่มีประสิทธิภาพตรงและทันกับความต้องการ ของลูกค้า ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้นได้

ในขณะเดียวกัน ลูกค้าก็จำต้องบริโภคข้อมูลมากขึ้นเช่นกัน เพื่อศึกษาสินค้าและบริการ ที่มีมากมายอยู่ในตลาด และเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทั้งในแง่ของจำนวนและข้อมูลสินค้า เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ดีที่สุด ที่ตรงกับเงื่อนไขและความต้องการ

เมื่อกล่าวโดยสังเขป ลักษณะเฉพาะของโลกยุคนี้คือ ข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต่อการดำรงอยู่ทางสังคมและเศรษฐกิจ ของทั้งระดับปัจเจกบุคคลและองค์กร โดยตัวบ่งชี้สำคัญของปรากฏการณ์นี้คือ ปริมาณการลงทุน ในเทคโนโลโยสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการประมวลผลและการกระจายข้อมูลต่างๆ ในทุกระดับทั่วโลก ไปจนถึงการขยายตัวของทั้งจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เนต รวมทั้งขนาดและปริมาณธุรกิจที่เกิดขึ้นบนโลกไซเบอร์

นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะมองจากบริบทใด ปริมาณข้อมูลทั่วโลกมีแต่จะเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น ในทุกวินาทีที่ผ่านไป ซึ่งหลักฐาน ทั้งในระดับของปัจเจกบุคคลและระดับองค์กร ปรากฎอย่างเด่นชัด ดังนี้

ในระดับปัจเจกบุคคล การที่แต่ละปัจเจกบุคคล มีและใช้ที่อยู่อีเมล (Email address) มากกว่าหนึ่งที่อยู่ รวมถึงปริมาณที่เพิ่มขึ้นของจำนวนอีเมลที่ดี ฟอร์เวิร์ดเมลจากเพื่อน และอีเมลขยะต่างๆ (Spam mail) ไปจนถึง การสร้างและปรับปรุงข้อมูลรายวัน ในลักษณะของ Blog หรือพื้นที่ส่วนตัวบนเครือข่ายสังคม (Social Network) ต่างๆ เช่น Facebook Hi5 และ MySpace

นอกจากนี้ยังรวมไปถึง การเกิดขึ้นและเป็นที่นิยม ในหมู่ประชากรบนโลกไซเบอร์ ของเว็บไซท์ที่แบ่งปันข้อมูลในลักษณะสื่อผสม (Multimedia Portal) ต่างๆ เช่น Youtube (Video) และ Flickr (Picture)

ส่วนในระดับองค์กร การที่แต่ละองค์กร ในทุกระดับ เร่งสร้างระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูล ตั้งแต่ระบบ Database Management ระบบ Data Warehouse ระบบ Data Mining ไปจนถึงการเกิดและเป็นที่นิยมของระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relation Management (CRM)) ระบบวางแผนจัดการทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning (ERP)) และระบบจัดการเครือข่ายการผลิต (Supply Chain Management)

ยิ่งไปกว่านั้น แนวความคิดต่างๆ ในการปรับปรุงองค์กร เช่น การมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organisation หรือ Knowledge Based Organisation) การเร่งสร้างบริการขององค์กรผ่านอินเตอร์เนต เช่น e-government เป็นต้น หรือเพื่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กร ไปสู่องค์กรเสมือน (Virtual Organisation) ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าทุกกิจกรรมข้างต้น ไม่ว่าจะในระดับปัจเจกบุคคล หรือในระดับองค์กร มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน นั่นคือ เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการสร้าง จัดเก็บ กระจาย และทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม และสามารถถูกนำมาใช้ เมื่อต้องการได้ทันที

อย่างไรก็ดี ทุกสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากจะสร้างประโยชน์ ตามเป้าหมายที่ทุกคนต้องการ การโตขึ้นของปริมาณข้อมูลทั่วโลก ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องโดยตรงของมัน กำลังก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “ข้อมูลท่วมโลก” ซึ่งมันกำลังส่งผลกระทบในวงกว้าง ในหลายบริบท ซึ่งในบางบริบท ได้เกิดเป็นประเด็นข่าว บนหน้าเว็บหนังสือพิมพ์หลักๆของโลกแล้ว ดังนี้

ข่าวแรกอ้างอิงจากคอลัมพ์หนังสือพิมพ์ Guardian ประเทศอังกฤษ (www.guardian.co.uk) ซึ่งคุณ Gernot Pehnelt นำเสนอประเด็นสำคัญนั่นคือ การขยายขนาดช่องสัญญาณอินเตอร์เนต ที่อาจไม่ทันกับการขยายตัวของปริมาณข้อมูล ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว จนทำให้เกิดการติดขัดของการรับส่งข้อมูล โดยยกตัวอย่างการเกิดขึ้นและเป็นที่นิยมของเว็บไซท์ ซึ่งต้องใช้ช่องสัญญาณในการรับส่งสูงอย่าง Youtube และเว็บผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบ High-Definition บนอินเตอร์เนต (ซึ่งต้องการช่องสัญญาณ มากกว่าการเข้าเว็บไซท์ทั่วไป 35,000 เว็บพร้อมกัน)

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นสำคัญต่อเนื่องที่ว่า จากแนวโน้มข้างต้น จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องจัดลำดับ เพื่อให้ข้อมูลที่มีความสำคัญมากกว่า ถูกส่งผ่านไปก่อน (โดยเปรียบเทียบความสำคัญ ของการส่งข้อมูลของการรักษาระยะไกลผ่านอินเตอร์เนต (Telemedicine) ซึ่งไม่ควรทำให้การรับส่ง ถูกขัดขวาง หรือล่าช้า โดยข้อมูลประเภทอื่นๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่า เช่นข้อมูลของการ download เพลง) เพราะนั่นจะเป็นการทำลาย อิสรภาพในการส่งข้อมูล ผ่านอินเตอร์เนตอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประเภทไหนก็ตาม (Network Neutrality) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อินเตอร์เนต ได้รับความนิยมอย่างมากมาย เฉกเช่นในปัจจุบัน

ข่าวถัดมา เป็นข่าวจากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ International Herald Tribune รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (www.iht.com) ซึ่งคุณ Kevin J. O'Brien วิพากษ์ประเด็นที่ว่า เมื่อโลกต้องการขนาดช่องสัญญาณอินเตอร์เนตที่กว้างขึ้น เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น ใครคือผู้ที่ควรแบกภาระดังกล่าว ระหว่างผู้ให้บริการอินเตอร์เนต ที่มีรายได้โดยตรงจากการให้บริการเชื่อมต่อช่องสัญญาณอินเตอร์เนต กับ ผู้ให้บริการเนื้อหาบนอินเตอร์เนต ซึ่งหาประโยชน์และมีรายได้ จากข้อมูลที่อยู่บนพื้นที่จัดเก็บของตน เนื่องจากในขณะนี้ดูเหมือนว่า ผู้ให้บริการเนื้อหาบนอินเตอร์เนต เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดสภาวะข้อมูลท่วมโลก

นอกจากนั้นยังมีประเด็นต่อเนื่องเกี่ยวกับ การบริหารจัดการคุณภาพและขนาดช่องสัญญาณอย่างเป็นธรรม ของผู้ให้บริการอินเตอร์เนต ซึ่งเป็นผลมาจาก การบริโภคข้อมูลและความต้องการช่องสัญญาณที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก เพื่อให้ ผู้ให้บริการอินเตอร์เนต ยังมีแรงจูงใจที่จะขยายช่องสัญญาณ เพื่อรองรับสภาวะดังกล่าว และสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ในขณะที่ผู้บริโภค ได้รับบริการในระดับคุณภาพ ที่พึงได้ตามสัญญา

นอกจากผลกระทบ ที่ถูกสะท้อนโดยสองข่าวข้างต้น ในทัศนะของข้าพเจ้า สภาวะข้อมูลท่วมโลก ยังมีผลกระทบในอีกหลายบริบท เช่น บริบทของความปลอดภัยของข้อมูล (Information Security) คือเมื่อข้อมูลเพิ่มมากขึ้นๆ แล้วเราจะดูแลข้อมูลอย่างทั่วถึงอย่างไร เพื่อไม่ให้รั่วไหล เพื่อรักษาความลับของข้อมูล (Confidentiality) เพื่อให้ข้อมูลไม่ถูกแก้ไขโดยผู้ไม่มีสิทธิ์ (Integrity) และเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกครั้งที่ต้องการ (Availability) นอกจากนั้นยังนำไปสู่การเสี่ยงต่อการเสียความเป็นส่วนตัวของแต่ละปัจเจกบุคคล (Individual Privacy)

ในบริบทของประสิทธิภาพการทำงาน ตราบใดที่มนุษย์ยังมีเวลาในแต่ละวันเท่าเดิม การมีข้อมูลอยู่มากมาย จนบางครั้งมากเกินไป ใช่ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ ดังจะเห็นจากทุกวันนี้ มนุษย์ต้องใช้เวลามากขึ้น เพื่อจัดการกับข้อมูลและข่าวสาร ที่มีให้บริโภคอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอีเมลซึ่งในปัจจุบันข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า แต่ละปัจเจกบุคคลมีที่อยู่อีเมลมากกว่าหนึ่งที่อยู่ ให้อ่านและจัดการ นอกจากนั้นยังต้องวุ่นกับข้อมูลในระบบต่างๆ ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องงาน (ระบบงานต่างๆ ดังตัวอย่างข้างต้น) และสังคมส่วนตัว (การเล่น Blog และ เว็บเครือข่ายสังคมต่างๆ) ซึ่งแน่นอนว่า มนุษย์ต้องการความรู้และความสามารถ ในการเรียนรู้ จัดการ และเลือกรับบริโภคข้อมูลเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งทักษะในการบริหารจัดการเวลาที่ดีขึ้น

สุดท้าย ในบริบทของการลงทุน ปัจจุบัน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและองค์กร ต้องการเงินลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องมือและระบบต่างๆ ที่ใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล นั่นหมายความว่า ยิ่งข้อมูลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ความต้องการเครื่องมือข้างต้น ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ภาพสะท้อนทั้งหมดข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบ ของการเพิ่มขึ้นของข้อมูล ในโลกยุคหลังอุตสาหกรรม ที่ทุกคนต้องตระหนักไว้เสมอว่า ในขณะที่เราได้รับประโยชน์จากข้อมูลที่เพิ่มขึ้น เราจำต้องรู้เท่าทันผลกระทบต่างๆ เพื่อให้สามารถแบกรับภาระต่างๆที่เกิดขึ้นตามมา รวมทั้งความจำเป็นในการได้มาซึ่งความรู้ ความสามารถ และทักษะที่เหมาะสม เพื่อจัดการกับทั้งข้อมูล และเพื่อให้เราสามารถสร้างสมดุลย์ระหว่างประโยชน์และภาระที่เกิดขึ้นได้ ในท้ายที่สุด


บล็อกของ SenseMaker

SenseMaker
ในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับคุณลักษณะสำคัญของอุปกรณ์ ICT ที่ถูกนำมาใช้เป็นกระดานโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงแนวความคิดในการเลือกกระดานโต้คลื่นฯ ที่เหมาะสมกับแต่ละปัจเจกบุคคล ในบทความนี้เรามาพิจารณาว่า...เมื่อเราได้กระดานโต้คลื่นฯที่เหมาะสมมาแล้ว เราจะใช้กระดานโต้คลื่นฯของเราอย่างไรให้คุ้มค่าต่อการลงทุน แล้วความรู้และความสามารถประเภทไหนและอะไรบ้างที่ถือได้ว่า เป็นทักษะที่จำเป็นในการโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร ในการวิเคราะห์นี้ “เวลา” และ “รายได้” สองสิ่งที่ทวีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกที ยังคงเป็นสองตัวแปรหลัก ที่ข้าพเจ้าใช้ประกอบการพิจารณา…
SenseMaker
  หลังจากเขียนบทความ ในหัวข้อโลกยุคหลังอุตสาหกรรม กับสภาวะข้อมูลท่วมโลก เสร็จเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ได้เกิดหนึ่งคำถามขึ้นกับข้าพเจ้า นั่นคือ หากมนุษย์ต้องดิ้นรน เพื่ออยู่รอดบนโลกใบนี้ ในยุคที่คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร โถมกระหน่ำใส่ประชาคมโลกอย่างรุนแรง และได้ทำให้กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในทิศทางที่ยากจะคาดเดา มากขึ้นทุกที เราต้องทำอย่างไรบ้างในทัศนะของข้าพเจ้า ผู้ที่สามารถโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร พาตนเองขึ้นไปอยู่บนยอดคลื่น และเป็นผู้กำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง คือ ผู้ที่สามารถอยู่รอด และนี่จึงเป็นที่มาของชื่อบทความในตอนนี้และตอนถัดไปข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วย…
SenseMaker
หัวข้อวิพากษ์วันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ในการประยุกต์ใช้ ICT ขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน และไม่ว่าจะเป็นองค์กรแสวงหากำไรหรือไม่ โดยข้าพเจ้าเจาะจงไปที่ ทัศนะของผู้บริหารองค์กร ที่ต้องการนำ ICT เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในลักษณะของการลดต้นทุนแรงงานคน กระชับขบวนการทำงาน และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ให้กับขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะกับทัศนะองค์กรที่ว่า “ประสิทธิภาพในการทำงานของ ICT สูงกว่ามนุษย์”หรือที่ว่า ”ICT สามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้” สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ความคิดในลักษณะดังกล่าวแพร่หลาย สืบเนื่องมาจาก…
SenseMaker
“โลกยุคหลังอุตสาหกรรม (Post industrial Age)” คือชื่อเรียกขานโลกในยุคปัจจุบัน เนื่องด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจ มีความแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้าหรือ ยุคอุตสาหกรรม (Industrial Age) ซึ่งเป็นยุคที่โลกของเราถูกผลักดัน ด้วยการแข่งขันของแต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ผ่านการพัฒนาความสามารถและเทคโนโลยีทางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในที่สุดอย่างไรก็ดี โลกยุคหลังอุตสาหกรรม แต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ยังคงดิ้นรนต่อสู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในบั้นปลายเช่นเดิม หากแต่ความสำเร็จดังกล่าว กลับถูกขับเคลื่อน…
SenseMaker
เมื่อพูดถึงเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ บนโลกนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเทคโนโลยีคือตัวการอันดับต้นๆ โดยในช่วงหนึ่งศตวรรษหลังสุด ICT ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ในทุกสังคม และในวงกว้างไล่มาตั้งแต่การเกิดขึ้นของ ICT ยุคแรกๆ ซึ่งได้แก่โทรเลข ตามมาด้วยโทรศัพท์ มาจนถึง ICT ในยุคปัจจุบัน นั่นคือโทรศัพท์มือถือ และ อุปกรณ์ต่อเชื่อมอินเตอร์เนตต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือคอมพิวเตอร์พกพาขนาดต่างๆความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏการณ์ชัดเจน คือ การที่ ICT ทำให้สังคมมนุษย์ มีรูปแบบการติดต่อสื่อสาร และรูปแบบการเข้าถึง ประมวลผล…
SenseMaker
หน้าเว็บไซท์ที่ได้รับความนิยมสูง ในช่วงระยะห้าปีที่ผ่านมา หากไม่นับรวมเว็บไซท์ขายของออนไลน์ ส่วนมากยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงกับยุคก่อนหน้านี้ นั่นคือ เป็นเว็บไซท์ที่พยายามสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผ่านการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้ เข้ามาสร้างหัวข้อและบทสนทนาร่วมกัน สร้างกิจกรรมระหว่างกลุ่มผู้ใช้ และเป็นช่องทางให้ผู้ใช้ทำความรู้จักกันวัตถุประสงค์ของเว็บไซท์ดังกล่าว คือเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้ ที่มีความสนใจหรือความต้องการคล้ายๆกัน ซึ่งทำให้ในขณะที่ ผู้ใช้ได้รับประโยชน์ ในรูปแบบของการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และการมีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้น ผู้จัดทำเว็บไซท์ก็ได้ประโยชน์ ผ่านการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางอ้อม…
SenseMaker
ข่าวต่างๆทางด้าน ICT ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นผลกระทบของ “การโลกาภิวัฒน์ (Globalisation)” ที่มีต่อมนุษย์ทุกคน เนื่องจากอิทธิพลของการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีแบบเดียวทั่วโลก จะลดทอนความหลากหลายของวิถีชีวิตมนุษยชาติ ก่อให้เกิดตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนข้ามชาติ แต่ในขนะเดียวกัน ปัญหาลักษณะเดียวกัน จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ เป็นวงกว้าง หากแต่จะเกิดผลกระทบแตกต่างกันไป ตามบริบทของสังคมนั้นข่าวแรกที่อยากนำเสนอ คือการเกิดขึ้นของ “ปฏิญญากรุงเทพ” ซึ่งถูกจัดทำขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค หรือ APEC (Asia-…
SenseMaker
แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีในช่วงสิบปีหลัง เป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า “convergence” หมายถึงแต่ละเทคโนโลยี พยายามรวบรวมความสามารถของเทคโนโลยีอื่นๆ เข้าไว้ในตัวเอง ดังจะเห็นได้ชัดจากการเกิดขึ้นของกระแสของศัพท์คำว่า ICT ซึ่งสะท้อนถึง การที่เทคโนโลยีเพียงหนึ่งเดียว แต่สามารถให้บริการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) และ เทคโนโลยีทางการสื่อสาร (Communication Technology) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในระดับ โครงข่ายสื่อสารและระดับสินค้าอุปโภคทางเทคโนโลยี
SenseMaker
วันนี้อยากชวนสนทนาถึงศัพท์คำว่า “การเข้าถึงเทคโนโลยี” ซึ่งในทัศนะส่วนตัวคือสภาวะที่บุคคล องค์กร หรือประเทศหนึ่งสามารถได้มาซึ่งความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่และจำเป็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้องปัจจุบันแนวทางการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก เป็นไปในลักษณะที่เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการการผลิต และเทคโนโลยีอื่นๆอีกมากมายเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจโลก…