Skip to main content

เสียงจักจั่นกรีดปีกจากป่าเชิงดอย ฝ่าไอแดดร้อนมาถึงเคหะสถานเงียบงัน รถกระบะบรรทุกหนุ่มสาวร่างเปียกปอนยืนล้อมถังน้ำใบใหญ่แล่นผ่านไป

หญิงชราถือสายยางเดินออกมาหน้าบ้าน ฉีดน้ำใส่พื้นถนน ไอน้ำระเหยขึ้น
เด็กๆ หิ้วถังพลาสติก ขัน ปืนฉีดน้ำ มองสองข้างทางอย่างมีความหวัง
ร้านขายน้ำปั่น น้ำแข็งไส ขายดีจนต้องสั่งน้ำแข็งเพิ่มในช่วงบ่าย
เจ้าของโรงทำน้ำแข็ง หน้าบาน แต่ลูกจ้างหน้าเหี่ยว เพราะข้าวสารขึ้นราคาลิตรละหลายบาทแต่ค่าแรงเท่าเดิม
    
ดวงอาทิตย์กลับมาอยู่ใกล้ชิดโลก เหมือนคนรักที่ได้เจอกันแค่ปีละครั้ง
มวลอากาศอบอ้าวเข้าเกาะกุมผิว ยึดทุกรูขุมขน เหงื่อเค็มถูกขับซึมเสื้อ เหนอะหนะ
ลมผะผ่าวเคลื่อนอยู่กลางถนน ไหลเข้าสู่ปอด ร้อนเข้าไปในทรวง
เสียงจากวิทยุ รายงานข่าว

“...ท่านผู้ฟังที่จะเข้ามาในเมืองขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทางรอบคูเมืองด้านนอก เพราะรถมากเคลื่อนตัวช้า บางจุด ทางเลนซ้ายที่ไม่มีคนเล่นน้ำรถเคลื่อนได้ช้ามาก ทางรายการจะประสานให้เจ้าหน้าที่ไปอำนวยความสะดวก ส่วนท่านผู้ฟังที่จะออกจากเมือง เส้นซุปเปอร์ไฮเวย์ และเส้นโชตนา รถมากแต่ยังเคลื่อนตัวสะดวก ขอให้ระมัดระวังในการขับขี่ หากพบกับปัญหาการจราจรหรือการเล่นน้ำสงกรานต์ ท่านสามารถแจ้งมาได้ที่เบอร์โทร...สำหรับท่านที่จะออกไปเล่นน้ำที่คูเมือง ขณะนี้การจราจรติดขัดมาก ขอให้เคลื่อนรถไปเรื่อยๆ อย่าจอดอยู่นิ่งๆ นะคะ เพราะปริมาณรถหนาแน่นมาก  ทางรายการขอต้อนรับ ทุกท่านที่เพิ่งจะหมุนคลื่นมาฟัง และขอต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านสู่เมืองเชียงใหม่ ในงานประเพณีปีใหม่เมืองปีนี้...”

ผมมองท้องฟ้า เมฆขาวลอยเป็นกลุ่ม คิดไปเรื่อยเปื่อยว่า ตั้งแต่เมื่อไรกันหนอ ที่คนไทยออกมาสาดน้ำกันกลางถนน สาดคนไม่รู้จัก และเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่า สงกรานต์ต้องเล่นสาดน้ำ จนกระทั่ง ภาพที่ปรากฎ ทำให้ชาวต่างชาติต่างวัฒนธรรมรับรู้เพียงแค่ว่า สงกรานต์คือ Splashing  Festival หรือ Water Battle Festival  

บางที คนไทยเองก็คงจะลืมไปแล้วกระมังว่า สงกรานต์คือปีใหม่ไทย ไม่ใช่เทศกาลสาดน้ำ
แต่ใครจะสนใจ ในเมื่อเป้าหมายของวันหยุดยาว ไม่ใช่การเข้าวัดทำบุญ

เชียงใหม่-เมืองแอ่งกะทะ ปีนี้ร้อนเช่นเคย
ทุกเช้า อากาศเย็น แต่พอเริ่มสาย อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงเที่ยงตรง อากาศร้อนจนสามารถทำให้คนที่อยู่กลางแดดสักยี่สิบนาที หน้ามืดเอาได้ง่ายๆ

ไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน ผมไม่ทราบตัวเลขแน่นอน เท่าที่เห็นคือควันไฟลอยขึ้นจากป่าเชิงดอยสุเทพ และรถดับเพลิงวิ่งผ่านแยกหนองฮ่อเป็นประจำ

เมื่อปีที่แล้ว ชาวเชียงใหม่ต้องเผชิญกับวิกฤติมลภาวะฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไหม้
ท้องฟ้าเป็นสีแดงทั้งวัน เขม่า ขี้เถ้า ลอยคลุ้งเหมือนเมืองถูกล้อมด้วยกองไฟ
ฝุ่นควันหนาขนาดที่ทำให้คนเดินถนนแสบตา หายใจไม่ออก และมีผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเข้าโรงพยาบาลวันละหลายร้อยคน
สัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติดังขึ้นเป็นครั้งแรก

คนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมคนหนึ่ง กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุหลักมาจากการที่นักท่องเที่ยวกว่าสามล้านคนเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ โดยปราศจากการคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องน้ำ

เมื่อคนใช้น้ำเพิ่มขึ้นถึงสามล้านคนในช่วงหน้าแล้ง ปริมาณน้ำในธรรมชาติจึงถูกดึงมาใช้มากกว่าปกติ ป่าจึงขาดน้ำ ต้นไม้จึงแห้ง ในที่สุดไฟป่าก็เกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยกว่าเดิม ประกอบกับปริมาณของความร้อนและควันจากท่อไอเสียของรถนับหมื่นคันจากทั่วประเทศที่มุ่งมาสู่เชียงใหม่ เมืองที่มีสภาพเป็นแอ่งกะทะ ถูกโอบล้อมด้วยภูเขา จึงถูกฝุ่นควันปกคลุมอยู่นานร่วมเดือน

นักท่องเที่ยวมาแล้วก็ไป ไม่มีใครรอชำระค่าฟื้นฟูสภาพแวดล้อม    

ปีนี้ นักท่องเที่ยวไม่มากถึงสามล้านคนดังเช่นปีที่ผ่านมา แต่ฝุ่นควันก็ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ประจำหน้าร้อนของเชียงใหม่ไปเสียแล้ว แม้ไม่หนาทึบขนาดต้องสวมผ้าปิดจมูก แต่ก็มากพอจะรู้สึกได้

คนมากขึ้น คนต้องใช้น้ำ น้ำถูกดึงมาจากป่า ป่าแห้งแล้ง เกิดไฟป่า เกิดฝุ่นควัน
น้ำน้อยลงแต่คนยังเพิ่มขึ้น และต้องใช้น้ำมากขึ้นด้วย
การรณรงค์ การออกข้อบังคับห้ามเผาขยะ ห้ามเผาป่า ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวแค่นี้อาจไม่พอ
เช่นเดียวกับเรื่องโลกร้อน ทุกคน(ในฐานะมนุษย์)ต้องลงมือทำ ทำในสิ่งที่สมควรจะทำ
เราคงไม่อยากได้ยินลูกหลานค่อนแคะว่า “…คนรุ่นคุณช่างเห็นแก่ตัวเหลือเกิน…”

ย่ำค่ำในเมืองเชียงใหม่ รถราแน่นขนัด ทุกคนมุ่งจะไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงครอบครัว
รถมอเตอร์ไซค์ 2-3 คันความเร็วเกือบร้อย วิ่งฝ่าไฟแดงอย่างไม่กลัวใคร
รถกระบะบรรทุกวัยรุ่นเต็มคันบีบแตรไล่รถจักรยานที่ชายชราปั่นงกๆ เงิ่นๆ ขณะเลี้ยวเข้าซอยแคบ เมื่อพบหญิงสาวสองคนเดินสวนมา วัยรุ่นบนรถเป่าปากแซว

หนุ่มสาวที่รวมตัวกันเล่นน้ำอยู่ริมถนน เปิดเพลงเสียงดัง ตั้งวงดื่ม ตั้งวงดิ้น สมมติให้ถนนเป็นผับชั่วคราว
ความหฤหรรษ์กู่ตะโกนอยู่ข้างใน มีพลังกระตุ้นเร้าให้เล่นน้ำตลอดวัน ร้อง ดิ้น และเมาตลอดคืน ฮึกเหิมถึงขนาดกล้าทำในสิ่งที่ปกติไม่คิดทำ สนุกกันสุดเหวี่ยง สนุกจนลืมตาย
จนกระทั่ง ตายเพราะสนุกเสียจนลืมตัว
ความประมาทเดินตามความคึกคะนอง แต่ไม่มีใครมองเห็น

ข่าววิทยุรายงานอุบัติเหตุนับสิบรายในช่วงสงกรานต์ มีทั้งอุบัติเหตุจากคนขับเมาสุรา อุบัติเหตุจากการเล่นสาดน้ำทำให้รถมอเตอร์ไซค์ล้ม รถที่ตามหลังเบรคไม่ทันเลยวิ่งทับ  อุบัติเหตุจากรถโดยสารที่บรรทุกคนล้นคัน ตอนเข้าโค้งเลยเสียหลักพลิกคว่ำ
ฯลฯ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงให้สัมภาษณ์ว่า ปีนี้ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุน่าจะน้อยกว่าปีที่แล้ว
“…ตายน้อยลง...”  คงเป็นเป้าหมายการรณรงค์ที่แปลกที่สุดในโลก
ไม่ตายเลยแม้แต่คนเดียว จะได้ไหม ?

แดดสาย
คนเก็บของเก่าปั่นซาเล้งคู่ชีพตระเวนหาของที่ถูกทิ้งแต่ยังมีราคา
คนกวาดถนนทำงานหนักขึ้นเพราะขยะมากขึ้น
คนเก็บขยะรู้หน้าที่ของตน หน้าที่ป้องกันไม่ให้ขยะท่วมเมือง
ขอทานกับขันสังกะสี ที่เดิมหน้าตลาด
ตำรวจจราจร ยืนเฝ้าที่สี่แยก อธิษฐานขออย่าให้มีอุบัติเหตุให้ต้องปวดกะโหลก
พนักงานร้านสะดวกซื้อ เปิดลังเบียร์เตรียมแช่ขาย
พนักงานร้านกาแฟที่เจ้าของร้านเห็นแก่ตัวระดับสิบดาว รำพึงถึงวันหยุดที่เจ้าของร้านแกล้งลืม และเงินพิเศษที่เจ้าของไม่เคยพูดถึง
คนเขียนหนังสือรีบปั่นต้นฉบับ ใบแจ้งหนี้ที่หนีบไว้ข้างหน้าต่างโบกตามแรงลม

ผมฟังเสียงจักจั่นกรีดปีก เหม่อมองฟ้าใส เมฆขาวชวนให้คิดถึงขนมสายไหมรสหวานแหลม และ น้ำแข็งไสใส่น้ำหวานราดนมข้นชุ่มฉ่ำ แต่ไม่มีความอยากออกจากบ้านแม้แต่น้อย
สำหรับบางคน มันไม่ต่างจากวันธรรมดา แค่วันหนึ่งในฤดูร้อน เหมือนกันทุกวัน

ความร้อน
น้ำ
คน


ผมคิดไปเรื่อยเปื่อย เรายังมีน้ำให้ดื่ม ให้ใช้ ให้สาดเล่นสนุกสนาน อย่างเหลือเฟือจนถึงวันไหน แล้วถ้าวันนั้นสิ้นสุดลง

วันหนึ่งในฤดูร้อน มันคงจะยาวนานเหลือเกิน

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…