Skip to main content

การที่สังคมถูกปล่อยปละละเลยให้ดำเนินไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ โดยคาดการณ์ว่าการพัฒนาดังกล่าวจะสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับสังคม ผู้คนมีอาชีพที่หลากหลายมีรายได้สูง ก่อเกิดการสร้างงาน สร้างสังคม สร้างชาติ และหล่อเลี้ยงระบบให้เจริญรุ่งเรืองยาวนาน โดยเน้นการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของตลาดเพื่อสร้างรายได้และชี้วัดความสุขความเข็มแข้งมั่นคงของสังคมด้วยเงินตราและมูลค่าสมมุติต่างๆ

แต่กระแสการพัฒนาดังกล่าวได้ส่งผลทำให้ผู้คน ชุมชน สังคม ละทิ้งแนวทางพื้นฐานที่สำคัญของสังคมไป นั่นคือการผลิตเพื่อการดำรงอยู่ของชุมชน สังคมและประเทศ ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีความสมดุล ผิดทิศผิดทาง จนก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ นำไปสู่ปัญหาสังคมต่างๆตามมามากมาย ทั้งปัญหาที่เกิดจากการกระทำของคนในสังคม หรือเกิดจากธรรมชาติที่ผิดปกติและวิกฤตขึ้นทุกวัน

สำคัญคือผืนดิน
ผืนดิน” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาพร้อมกับโลกไม่มีใครเป็นผู้สร้าง เป็นต้นกำเนิดของทุกสรรพสิ่งที่จำเป็นสำหรับสังคมมนุษย์และสรรพสัตว์ต่างๆบนโลกนี้ จึงไม่เป็นการถูกต้องนักหากใครคนใดคนหนึ่งมากล่าวอ้างความเป็นเจ้าของเกินความต้องการจำเป็นพื้นฐานของชีวิต การที่สังคมขาดหลักในการใช้ที่ดินอย่างเป็นธรรม ทั้งที่ดินคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการผลิตเพื่อการดำรงอยู่ของสังคม เพื่อการผลิตอาหารและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพของคน แต่กลับถูกแปรเปลี่ยนเป็นแค่สินค้าที่สามารถเปลี่ยนมือและถูกครอบครองโดยคนที่ไม่ใช่ผู้ผลิต

ผู้คนส่วนใหญ่มีดินทำกินไม่เพียงพอหรือไม่มีที่ดิน ผู้คนบางกลุ่มที่ร่ำรวยครอบครองที่ดินไว้เป็นจำนวนมากเพื่อการสะสมความมังคั่ง เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนค้ำประกันทางการค้าเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ที่แท้จริง หากสังคมยังคงปล่อยให้การใช้ที่ดินผิดธรรมชาติแห่งความเป็นที่ดิน ขาดการอนุรักษ์ดูแลอย่างจริงจังต่อไปแล้ว ในที่สุดสังคมมนุษย์ก็คงไม่สามารถดำรงอยู่ได้

ผืนดินนี้มิใช่ของใคร

หลักความเป็นเจ้าของในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริงถูกเปิดเผยว่าที่ดินไม่อาจมีใครแสดงความเป็นเจ้าของได้โดยแท้จริง มีแต่เพียงสิทธิในการใช้ประโยชน์หรือสิทธิแห่งการก่นสร้าง ถากถาง การผลิตเพาะปลูกเพื่อดำรงชีวิต ที่เรียกว่า กรรมสิทธิ์ หรือสิทธิแห่งการกระทำ ที่ยังพอกล่าวอ้างเป็นสิทธิโดยบุคคลได้ สิทธิดังกล่าวจะหมดไปด้วยความเป็นธรรมชาติของคน เช่นหมดอายุขัย ดังนั้นความเป็นเจ้าที่ดินจึงเป็นของทุกคนในชุมชนและสังคม ซึ่งต้องร่วมกันปกป้องดูแลรักษาให้คงอยู่กับชุมชนและสังคมต่อไป

การสร้างระบบการใช้ที่ดินอย่างเป็นธรรม หมายถึงความเป็นธรรมทางสังคมและความเป็นธรรมชาติของที่ดิน เป็นแนวทางที่จะรักษาดำรงสังคมเอาไว้ได้ ซึ่งกระบวนดังกล่าวควรจะเกิดจากรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ปกป้องรักษาบ้านเมือง แต่ที่ผ่านมาผู้ปกป้องดูแลบ้านก็เอาแต่ปกป้องดูแลผลประโยชน์ของตนและกลุ่มก้อนการเมืองเป็นหลัก ละวางปัญหาสังคมต่างๆเป็นปัญหารอง การรอการแก้ไขไม่ได้แปลว่าปัญหาจะหยุดชะงักซึ่งผลกระทบไว้เท่านั้น ยิ่งนานวันปัญหายิ่งสร้างผลกระทบต่อสังคมเท่าทวีคูณ



ชุมชนกับการปฏิรูปผืนดิน

อุบัติกระบวนการชุมชนในการสร้างระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆของพี่น้องสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย คือตัวอย่างผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จนเกิดการเรียนรู้ข้อเท็จจริงทางสังคมบ่มเพาะประสบการณ์ผ่านการแลกเปลี่ยนในมวลหมู่สมาชิก วิเคราะห์ค้นคว้าทดลองลงมือปฏิบัติ จนได้แนวทางการปฏิรูปที่โดยชุมชน ภายใต้แนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิดังเดิมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง เพื่อคุ้มครองรักษาผืนแผ่นดินเอาไว้สำหรับทำการผลิตเพื่อการดำรงอยู่ของชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง


ภายใต้หลักความเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน และสิทธิในการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมกับการกระทำหรือกรรมสิทธิ จึงบังเกิดสิทธิในที่ดินขึ้นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง สิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และสิทธิในความเป็นเจ้าของร่วมกัน ภายใต้ชุมชนหรือสังคมที่เรียนรู้ข้อเท็จจริงทางสังคมอย่างเหมาะสมจนเกิดมีกลไกชุมชน ที่เข้มแข็งแล้วจะส่งผลให้ชุมชนมีวิถีปฏิบัติจนกลายข้อตกลงหรือธรรมนูญชุมชนจนสามารถใช้สิทธิทั้งสองเกื้อกูลส่งเสริมจนกลายเป็นสิทธิของคนและชุมชนที่เข้มแข็ง

นอกจากความเข้าใจเรื่องสิทธิในที่ดินแล้ว กระบวนการหรือนวัตกรรมชุมชนในการสร้างยั่งยืน เสมอภาค และเป็นธรรมในการใช้ที่ดินหลายรูปแบบ เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า และการผลิตแบบรวมหมู่ เพื่อสร้างกองทุนที่ดิน การทำการผลิตแบบพึ่งตนเองลดการพึ่งพาภายนอก การสร้างระบบการตลาดชุมชนเพื่อลดการสูญเสียทรัพยากรในระบบการตลาด การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักข้อเท็จจริงและแนวทางปฏิบัติขยายสู่สังคมให้นำสู่การปฏิบัติการจริงอย่างทั่วถึง

ข้อตกลงชุมชน “ธรรมนูญแห่งความเป็นธรรม”

วิถีดำเนินชีวิตของคนในชุมชนอันดีงามที่ปฏิบัติกันมาแต่อดีต รวมกับแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดจากเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่มผู้มีปัญหาที่ดินด้วยกัน เพื่อการจัดการที่ดินที่เป็นธรรม และเป็นหลักประกันไม่ได้ที่หลุดมือจากเกษตรกรคนยากจน จึงเป็นข้อตกลงเรื่อง สิทธิในที่ดิน กลไกคณะกรรมการชุมชน การจัดตั้งกองทุนที่ดิน การปฏิรูประบบการผลิต การจัดการระบบการตลาดของชุมชน ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรมและปกป้องที่ดินของชุมชนให้คงอยู่กับชุมชนตลอดไป




สิทธิในการใช้ประโยชน์และความเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน

ในอดีตสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในรอบรั้วอาณาเขตที่ดินตนเองเท่านั้น การเก็บพืชผักของป่า ปูปลา กบเขียด อาหารตามธรรมชาติสามารถเสาะหาได้ทั่วไปแม้ไม่ใช้ที่ดินของตนเอง เจ้าของที่ดินก็ไม่หวงห้าม มีการเอื้อเฟื้อจุนเจือแบ่งปัน บางฤดูบริเวณใดที่มีความเหมาะสมสำหรับปลูกพืชผักก็แบ่งให้เพื่อนบ้านมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นการใช้ที่ดินร่วมกันอย่างเหมาะสมและเพียงพอสำหรับการดำรงชีพ จึงเท่ากับว่าทุกคนในชุมชนเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน จึงเป็นวิถีชุมชนที่ปฏิบัติกันมาแต่อดีต จนทำให้ชุมชนเกิดข้อตกลงร่วมกันว่า ที่ดินทั้งหมดควรเป็น “สมบัติร่วมกันของชุมชน” และสิทธิในการใช้ประโยชน์ในเปลงที่ดินที่แต่ละบุคคลครอบครองก็ยังเป็น “สิทธิบุคคล” ก็ยังสามารถประกอบอาชีพ ทำนา ทำไร่ ทำประโยชน์ในที่ดินที่ตนครอบครองได้

กลไกชุมชน “ความเข้มแข็งของชุมชนย่อมเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจ”
จากสภาพปัญหาที่ดินของชุมชนซึ่งเป็นปัญหาร่วมกัน ทำให้เกิดการพูดจาปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์แก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เกิดเป็นกลุ่มก้อนชุมชน เกิดความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชน มีการจัดแบ่งภาระหน้าที่ช่วยกันทำงานตามความสามารถของแต่ละบุคคล เป็นคณะบุคคลมาบริหารจัดการชุมชน จึงเกิดเป็นกลไกการทำงานของชุมชนที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติอย่างเหมาะสม และกลไกชุมชนนี่เองเป็นการขับเคลื่อนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างเหมาะสม


กองทุนที่ดิน “เครื่องมือเพื่อการรักษาที่ดิน”
สภาพสังคมปัจจุบันที่ยังเป็นระบบทุนอยู่ เงินถูกใช้เป็นเครื่องมือกลไกการจัดการทรัพยากรต่างๆ ดังนั้นชุมชนจึงยังจำเป็นต้องมีเงินกองทุนของชุมชนไว้เพื่อเป็นกลไกแลกเปลี่ยนซื้อขายที่ดิน เป็นกองทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเพื่อทำการผลิต เพื่อการสวัสดิการสงเคราะห์ช่วยเหลือกันในสังคม ส่วนที่มาของกองทุนมาจาก การจัดเก็บภาษีที่ดินชุมชนแบบอัตราก้าวหน้า การออมทรัพย์ของชุมชน การทำการผลิต และการจัดการตลาดแบบรวมหมู่

ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า “เครื่องมือแห่งการสร้างความเป็นธรรมในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน”
ด้วยสภาพการครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินจำนวนไม่เท่ากัน แต่เพื่อความเป็นธรรมในการใช้ประโยชน์จากที่ดินต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม คนที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนได้รับผลประโยชน์จากที่ดินของชุมชนทุกตารางนิ้วเท่าเทียมกัน โดยให้ผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งเป็นของชุมชนต้องทดแทนตามส่วนที่ตนใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงสภาพการใช้ประโยชน์เพื่อไม่ให้ปล่อยที่ดินทิ้งร้างต้องมีมาตรการในการจัดการความเท่าเทียมในการใช้ประโยชน์ในที่ดินร่วมกัน อีกทั้งเป็นการสร้างกองทุนที่ดินหรือกองทุนชุมชนที่มาจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยแท้จริง จึงเกิดการจัดเก็บภาษีที่ดินชุมชนในอัตราก้าวหน้า คือ การคำนวณภาษีตามพื้นที่ที่ทำประโยชน์ และสภาพการใช้ประโยชน์



การผลิตแบบพึ่งตนเอง “หนทางรอดของเกษตรกรอย่างยั่งยืน”

นอกจากการปฏิรูปเรื่องสิทธิในที่ดินแล้ว ต้องมีการปฏิรูปการทำประโยชน์ในที่ดิน ให้สามารถทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้ต้นทุนเดิมของธรรมชาติและเพิ่มวิถีการผลิตแบบพึ่งตนเองให้มากขึ้น ลดการใช้สารเคมี ใช้แรงงานชุมชนจากการลงแขกทำงาน ลดการพึ่งพาจากภายนอกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะวงจรหนี้สิน นอกจากนี้ต้องร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีตและสร้างระบบนิเวศน์ชุมชนให้เกิดสมดุล เพื่อให้เป็นแหล่งอาหาร ยาสมุนไพร และชีวปัจจัยหล่อเลี้ยงชมชนได้อย่างยั่งยืน

การผลิตแบบรวมหมู่ “เส้นทางสู่ความเข้มแข้งของชุมชน”
เป็นการสร้างความเข้มแข็งในการทำการผลิตที่อาศัยต้นทุนเดิมของสังคมคือแรงงาน ซึ่งเป็นฐานสำคัญของสังคม แต่ปัจจุบันถูกแปรเปลี่ยนเป็นฐานสำคัญของระบบทุนนิยม ชาวบ้านเป็นทาสแรงงานที่ได้รับผลตอบแทนไม่เหมาะสมกับแรงงานที่ลงไป ดอกผลตกอยู่มือของนายทุนเป็นส่วนใหญ่ การผลิตแบบรวมหมู่ เป็นการปฏิรูปการจัดการแรงงานของชุมชนให้กลับเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง

รูปแบบการผลิตแบบรวมหมู่ เริ่มจากการรวมหมู่ทางความคิดร่วมกันจัดการวางแผนทำการผลิต รวมหมู่ต้นทุนเงินทอง รวมหมู่แรงงาน เมื่อมีผลผลิตก็แบ่งปันอย่างเป็นธรรม ส่วนหนึ่งกันเอาไว้เป็นกองทุนชุมชน เพื่อเป็นทุนทำการผลิตในรอบต่อไป สิ่งที่ได้รับนอกจากผลผลิตคือ เกิดความสมัครสมานสามัคคี มีความภาคภูมิและเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นว่าสามารถสร้างสรรพสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้โดยชุมชน เมื่อเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองชุมชนจะสามารถต่อก้าวต่อไปสู่การจัดการชุมชนด้านต่างๆและต่อสู้กับภาวะปัญหาต่างๆได้

การสร้างระบบการตลาดชุมชน “หอกค้ำยันเพื่อต้านทานสังคมบริโภคนิยม”

ระบบตลาดปัจจุบันส่วนต่างในการซื้อขายสินค้าโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในมือพ่อค้าคนกลาง ชุมชนผู้ผลิตได้รับส่วนแบ่งไม่เหมาะสมกับต้นทุนและแรงงาน เพื่อดึงส่วนต่างดังกล่าวกลับมาเป็นของชุมชน ชุมชนต้องเข้าไปมีส่วนจัดการในการซื้อขายสินค้าของชุมชนอย่างครบวงจร โดยการสร้างตลาดในชุมชนแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเอง รวมกลุ่มเชื่อมโยงตลาดภายนอกโดยชุมชนเองไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง จัดสร้างกลไกการตลาดของชุมชนขึ้นมาจัดการอย่างเข้มแข็ง สามารถรู้ถึงความต้องการด้านต่างๆของชุมชน และวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนเป็นหลักมากกว่าสร้างความร่ำรวย

การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักข้อเท็จจริงและแนวทางปฏิบัติขยายสู่สังคม “การขยายพันธุกรรมแห่งความเป็นธรรม

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นล้วนแล้วเป็นหลักประกันในการดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์ ผืนดินถูกใช้ประโยชน์และได้รับการดูแลปกป้องเพื่อทำการผลิตอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน การริเริ่มเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วโดยชุมชนท้องถิ่นส่วนต่างๆของประเทศ ถึงแม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดที่เกิดขึ้น แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเพื่อปกป้องสังคมเลย หากรูปธรรมการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนได้รับการเผยแพร่นำสู่สังคม เกิดการนำพาไปสู่การปฏิบัติในทุกชุมชนอย่างกว้างขวาง แนวทางการปฏิบัติของชุมชนได้รับการยอมรับจากสังคม ย่อมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และนำไปสู่สังคมใหม่ที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น

เหมราช ลบหนองบัว

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

10
มิถุนายน 2552

 

บล็อกของ คนไร้ที่ดิน

คนไร้ที่ดิน
ศยามล ไกยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา    การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เปิดประเด็นการปฏิรูปที่ดิน แจกสปก. นับว่าโดนใจประชาชนที่เฝ้ารอคอย สปก. 4-01 และหวังว่าวันหนึ่งจะมีการออกเป็นโฉนดที่ดินตามแรงโฆษณาของเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง ปัญหาการไม่มี สปก. 4-01 ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินมีจำนวนมาก มีโครงการปฏิรูปที่ดิน แต่ยังไม่มีการปฏิรูปที่ดิน และยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนของความซ้ำซ้อนระหว่างแนวเขตของเขตปฏิรูปที่ดินกับที่ดินของรัฐประเภทอื่น เช่น พื้นที่ป่าตามกฎหมาย ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์…
คนไร้ที่ดิน
โดย... สมจิต คงทน กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน  ก่อนจะมาเป็นนารวม ชาวบ้านเขวาโคก-เขวาทุ่ง ต.สระบัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ได้รวมตัวกันเพื่อดูแลและฟื้นฟูสภาพป่าสาธารณะของชุมชนที่อยู่คู่มากับหมู่บ้าน ซึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ไว้สำหรับหาอยู่หากิน เก็บของป่า เก็บเห็ด เก็บฟืน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตแต่เมื่อปี 2538 มีกลุ่มทุนเอกชนจากนอกพื้นที่ทั้งหมด 8 ราย มาบุกรุก แผ้วถางป่าธรรมชาติดอนหนองโมง-หนองกลางของหมู่บ้าน เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่นี่รวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อรักษาที่ดินผืนนี้ไว้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
คนไร้ที่ดิน
กองเลขาฯเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ความขัดแย้งและการต่อสู้ของชนชั้นปกครองเป็นไปอย่างดุเดือดและยืดเยื้อ มากกว่า 3 ปี จนยกระดับขึ้นเป็นความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในขณะนี้ ขั้วความขัดแย้งคือ กลุ่มทุนอนุรักษ์นิยมภายใต้อิทธิพลศักดินา ส่วนอีกฝ่ายคือ กลุ่มทุนเสรีนิยมใหม่ ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้โดยง่าย เพราะเป็นการทำศึกวัดดุลกำลัง เพื่อนำไปสู่การจัดปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจครั้งใหม่ ทั้งอำนาจในทางการเมือง อำนาจในการควบคุมระบบเศรษฐกิจและฐานทรัพยากรของสังคม ศึกช่วงชิงการยึดกุมความได้เปรียบในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจละการผลิตครั้งนี้ “ชนชั้นผู้ชม”…
คนไร้ที่ดิน
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน  เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน และเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชายฝั่นอันดามัน ได้จัดเวทีสัมมนาเรื่อง “ทางออกกรณียึดที่ดินชุมชนสัมปทานป่า-เลให้นายทุน” ที่ศูนย์การเรียนรู้ควนปริง ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง มีผู้เข้าร่วมเวทีกว่า 150 คน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่ดินของหน่วยงานรัฐไว้อย่างน่าสนใจ…
คนไร้ที่ดิน
ศลิษา ทองสังข์ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาทางการเมืองและโครงสร้าง ปัญหาที่ดินไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวนา หรือคนสลัม แม้แต่คนเมือง คนชั้นกลางก็ประสบปัญหาที่ดินอยู่อาศัย การใช้ประเด็นเรื่องการผูกขาดที่ดิน นักการเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล ทุนข้ามชาติ และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคมโดยรวมและผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้สามารถเชื่อมโยงกับสังคมโดยรวมเพื่อสร้างแรงผลักดันการกระจายการถือครองที่ดินได้ ที่ผ่านมามีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขมาตรการทางภาษีที่ดิน ตัวอย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ตั้งแต่ปี 2541 เป็นเวลา 10 ปี เต็ม…
คนไร้ที่ดิน
นนท์ นรัญกร   ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 147 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 A และ ป่าสงวนแห่งชาติโซน C ประมาณ 80 ล้านไร่ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การบริหารจัดการพื้นที่ป่าของของกรมอุทยานแห่งชาติ พันธุ์พืชและสัตว์ป่า มีบทเรียนหลายประการ ที่ไม่ได้ถูกนำมาถกเถียงในสังคมไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานให้ดีขึ้น ในขณะที่กำลังจะสร้างปัญหาใหม่ตามมา ดังที่เป็นข่าวเรื่องความพยายามใน การเซ้งพื้นที่อุทยานฯ ให้กับภาคเอกชนเช่าทำธุรกิจ บทเรียนประการแรก…
คนไร้ที่ดิน
พงษ์ทิพย์  สำราญจิตต์สังคมไทย  เป็นสังคมที่เกษตรกรและคนจนไร้ที่ดิน แทบจะไม่มีที่ยืนหรือสามารถบอกเล่าสถานะของตนเองต่อสังคมได้ โครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ การผลิตและการตลาด  ได้ถูกผูกขาดและกำกับควบคุมโดยคนกลุ่มเล็ก บริษัทธุรกิจเอกชนที่มีเงินลงทุนมหาศาล ในสนามเศรษฐกิจที่ถูกผูกขาดไว้แล้วเช่นนี้  แน่นอนว่าเกษตรกรรายย่อยย่อมมิอาจแข่งขันได้ นี่เป็นที่มาของสภาพการณ์ในชนบทสังคมไทยที่เกษตรกรรายย่อยกำลังกลายเป็นแรงงานรับจ้างและคนจนไร้ที่ดินมากขึ้นทุกขณะ
คนไร้ที่ดิน
                                                                                                   …
คนไร้ที่ดิน
  สมจิต  คงทนกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอค)เมื่อชาวบ้านถูกฟ้องคดี"ก่อนถูกฟ้องคดีเขาเป็นคนขยัน พอถูกจับและยึดที่ดินไป  ซึ่งเป็นที่ดินที่เขาสองคนผัวเมียได้อยู่อาศัยทำกินกันมายาวนาน เขากลายเป็นคนคิดมาก ควบคุมสติตัวเองไม่ได้  ทุบตีเมียตัวเอง และเคยคิดฆ่าตัวตาย จนกลายเป็นปัญหาครอบครัว สุดท้ายก็ต้องแยกทางกัน  ส่วนลูก 2 คนก็แบ่งกันไปคนละคน"  นางเหิม เพชรน้อย ชาวบ้านตำบลบ้านนา จังหวัดพัทลุง เล่าถึงชะตากรรมชีวิตของเพื่อนบ้านครอบครัวหนึ่งที่ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า หรือ…