Skip to main content

รุ่งเช้าสายหมอกยังบ่จาง เด็กๆ จับกลุ่มเดินไปโรงเรียน หนุ่มสาวแบกตะกร้าหนักอึ้งกลับจากไร่ ผักกาดเขียวถูกเก็บมาสุมไว้ท้ายกระบะรถเตรียมส่งขายในเมือง ชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านหนองเต่ายังดำเนินเช่นทุกวัน  เพียงแต่วันนี้เป็นวันพิเศษสำหรับชาวบ้านหลายคน เพราะบ้านอยู่อู่นอนกำลังจะได้เอกสารสิทธิ์หลังรอคอยมาเกือบ  30 ปี
\\/--break--\>
แต่ความยินดีที่แปดเปื้อนเป็นรอยยิ้มบนใบหน้าของชาวบ้านหาได้สร้างความสุขให้เฒ่าชรา ผู้นำที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิผืนดินทำกินของปกาเก่อญอที่บุกเบิกก่อร่างสร้างชุมชนขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำแม่วางมานานกว่า 300 ปี

ด้วยน้ำเสียงเรียบกับแววตาของผู้ผ่านโลกมานาน พ่อเฒ่าเอ่ยขึ้นบนลานไม้ใต้ถุนบ้าน
"เราเรียกร้องมาสิบกว่าปี... ตอนประกาศอุทยาน เราขอให้ที่ดินหมู่บ้านเป็นโฉนดชุมชน สิทธิ์ที่ได้มาแบบนี้ทำให้มีทะเบียนบ้านได้จริง แต่นี่คือการส่งเสริมปัจเจก ซึ่งถ้าชาวบ้านจัดการไม่ได้ ที่ดินก็จะถูกขายกลายเป็นของนายทุน ไปอยู่ที่ธนาคาร ใครอยากขายก็ขายได้ เรื่องแบบนี้เขาไม่เข้าใจ มันคือปัญหาการล่าอาณานิคม แต่ถ้าเป็นโฉนดชุมชน ชุมชนแบบนี้จัดการแบบนี้ มีชีวิตแบบนี้ ขายก็ไม่ได้ แบบนี้จะยั่งยืน"

...ความเป็นไปที่เกิดขึ้นไม่ได้เหนือความคาดหมายของผู้เฒ่า 40 ปีล่วงมาแล้วที่เด็กหนุ่มปกาเก่อญอชื่อ จอนิ โอโดเชา เริ่มออกเดินทางไปกับบาทหลวงคาทอลิกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาและทำกิจกรรมทางสังคมในลุ่มน้ำแม่วาง ชีวิตของเขาพลิกผันพบเจอเหตุการณ์ต่างๆมากมาย ประสบการณ์ผ่านร้อนหนาวและความคิดที่ค่อยๆ สั่งสม แหลมคม ชัดเจน ทำให้เขาได้คำตอบนานัปการที่เคยขบคิดอย่างไม่เข้าใจ โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากแรงผลักดันภายนอก ที่ทำให้วิถีเกษตรของบรรพชนชาวเขาถูกตีตราด้วยวาทกรรมผู้ทำ "ไร่เลื่อนลอย" หรือ "ผู้ทำลายป่า" เพื่อมาลบล้างมายาคติที่ฝังแน่นในสังคมนี้ ที่ผ่านมาจอนิจึงใช้เวลาทั้งชีวิตทำงานเพื่อพิสูจน์ โดยนำชุมชนหวนคืนสู่ภูมิปัญญารากเหง้าของบรรพบุรุษ และดำรงชีวิตด้วยการสดับตรับฟังภาษาธรรมชาติอีกครั้ง...

บนลานไม้ใต้ถุนบ้านหลังนี้ กำลังมีบทสนทนาของเฒ่าชรากับลูกหลาน การต่อสู้ของเขาถูกเล่าขานซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนแสงอาทิตย์เคลื่อนคล้อยลับแนวเขา ความคิด ความรู้ และความเชื่อของพ่อเฒ่าปากเก่อญอยังเจิดจ้า เมื่อ "โอะชิ" เด็กหนุ่มปากเก่อญอรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน กรีดนิ้วลงบนเส้นสาย เตหน่า (เครื่องดนตรีโบราณลักษณะคล้ายพิณของชาวกะเหรี่ยง) สะท้อนเสียงโบราณขับกล่อมหมู่บ้าน เพลงทาภาษาเผ่าและเจตนารมณ์ถูกแปลเป็นภาษาสากลผ่านเยาวชนรุ่นหลัง

"ปกาเก่อญอ"  ในยุคเปลี่ยน


แม้รอยเท้าของเขาเล็กกว่ารอยเท้าผู้เฒ่าที่เดินนำหน้าเพียงเล็กน้อย สายตาและสัมผัสของเขายิ่งมิอาจจดจำท่วงทำนองแห่งวิถีไพรได้เหมือนผู้เฒ่า สำหรับโอะชิ  ผู้เฒ่าที่เขาเรียกว่า "พะตี" (ลุง) คนนี้ ทำให้เขาได้รู้จักตัวตนของปกาเก่อญอ และทำให้ชนรุ่นเขาได้กลับมาตามหาจิตวิญญาณชนเผ่าที่มิอาจตัดขาดกับป่าและสรรพชีวิตรายรอบ

หลังฝนซา ทางเดินจากเท้าย่ำสายเล็กๆ ที่เลื้อยทอดยาวเข้าไปในแนวป่ายังเปียกแฉะด้วยตะไคร่เขียวชื้นที่ยึดเกาะผืนดินและก้อนหินไว้อย่างมิดชิด หลายปีมาแล้วที่ผืนป่ากว่า 8,000 ไร่ ของปาเก่อญอบ้านหนองเต่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ กลับมาคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ลุ่มน้ำแม่วางอีกครั้ง

จอนิและโอะชิ กำลังย่างเท้าลึกเข้าไปใต้ป่าอย่างทะมัดทะแมง พวกเขาร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวของป่าใหญ่ผืนนี้ที่ถูกจัดสรรเป็นพื้นที่ทำกิน 500 ไร่ มีป่าใช้สอย 3,500 ไร่ และป่าอนุรักษ์ที่ห้ามใช้ประโยชน์อีก 4,000 ไร่ ชีวิตของชาวปกาเก่อญอบ้านหนองเต่า 120 ครอบครัว 600 คนที่เติบโตขึ้นมาจากป่า ยังดำเนินไปตามความเชื่อ ภูมิปัญญา จารีต และระบบวัฒนธรรม มีผลผลิตจากป่าและไร่นาสมบูรณ์ตลอดปี แต่กว่าจะมีวันนี้ป่ากับปกาเก่อญอได้ข้ามผ่านวิกฤตมาแล้วหลายยุคสมัย

จอนิ เล่าว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยที่เขายังเป็นเด็ก รัฐบาลในยุคจอมพล ป.พิบูลสงครามอนุญาตให้มีการค้าฝิ่นอย่างถูกกฎหมาย บ้านป่าดงดอยในลุ่มน้ำแม่วางตอนบนถูกเปลี่ยนเป็นไร่ฝิ่นไปอย่างมหาศาลโดยแหล่งทุนที่มาจากคนเมืองพื้นราบ การระบาดของฝิ่นได้บ่อนทำลายและสั่นคลอนความเชื่อและระบบจารีตปกาเก่อญอที่มีมาตั้งแต่ครั้งบรรพชน เมื่อการปลูกฝิ่นรุกล้ำในพื้นที่ป่าความเชื่อหรือหวงห้าม เช่น ป่าบนเนินเขาที่มีสายน้ำล้อมรอบ ป่าน้ำซับมีต้นไม้ใหญ่และมีน้ำในแอ่งตลอดปี ป่าขุนห้วย ป่าที่มีน้ำผุด ป่าที่อยู่ช่องเขาเพราะถือเป็นทางเดินของผี กฎเกณฑ์ที่ดีงามเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมที่มาจากเมือง ไร่นาริมน้ำแม่วางเริ่มขาดแคลนน้ำ ปกาเก่อญอเข้าสู่สังคมแรงงานรับจ้างในไร่ฝิ่น พอได้ค่าแรงหรือได้ผลผลิตทางการเกษตรก็จะนำซื้อฝิ่นเพื่อเสพ เมื่อไม่มีเงินก็เริ่มติดหนี้ติดสินเพราะติดฝิ่น

ชีวิตวัยเยาว์ของจอนิจึงได้แต่เฝ้ามองพ่อที่ถูกฝิ่นมอมเมาจนเลี้ยงดูครอบครัวไม่ได้ เขาจำต้องออกไปรับจ้างเลี้ยงควาย เก็บของป่าขายเพื่อเป็นกำลังหลักในการดูแลพ่อและช่วยเหลือตนเอง ในปี 2484 ไม้ใหญ่ส่วนมากถูกโค่นล้มไปจากความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลให้สัมปทานป่าไม้ในเขตลุ่มน้ำแม่วางตอนล่าง พร้อมๆกับการเกิดขบวนการทำไม้เถื่อนในป่าลุ่มน้ำแม่วางตอนบน ป่าแม่วางในอดีตจึงเป็นแหล่งรวมของเจ้านายทำไม้ แรงงานรับจ้างทั้งคนใน คนม้ง และคนเมืองที่มาจากนอกพื้นที่ มีการตัดไม้และไล่ล่าสัตว์ป่าใหญ่น้อยเป็นมหกรรมครั้งใหญ่ในช่วงเวลายาวนาน

เมื่อคณะปฏิวัติชุดจอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์ ออกประกาศให้เลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่นในปี 2502 กฎหมายก็มิอาจหลุดการกลายสภาพป่าเป็นไร่ฝิ่นได้อย่างทันการณ์ ความเสื่อมโทรมที่เริ่มปรากฎผลจากทรัพยากรสมบูรณ์ที่ลดน้อยถอยลง คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนทรุดโทรม ผู้เฒ่าของหมู่บ้านยุคนั้นจึงเริ่มอนุรักษ์ป่าขุนน้ำแม่วางขึ้นในปี 2512 โดยการเลิกทำไร่ ปล่อยพื้นที่ทำกินให้ฟื้นสภาพกลายเป็นป่าขึ้นมาอีกครั้ง มีการแบ่งเขตที่ทำกิน ป่าใช้สอย และป่าอนุรักษ์ดังปรากฎเป็นรูปแบบในปัจจุบัน นับเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ป่าชุมชนของหมู่บ้านหนองเต่าจากนั้นเป็นต้นมา

จอนิชี้ให้ดูแนวไม้ป่าอายุ 20 ปี ถึง 40 ปีที่เติบโตขึ้นมาจาการปล่อยให้โตขึ้นเองตามธรรมชาติและการปลูกเพิ่ม ด้านโอะชิแม้จะไม่รู้จักต้นไม้เก่าแก่ทุกต้นเหมือนพ่อเฒ่า แต่เขาก็มีหวายและไม้ยืนต้นอายุนับปีที่นำกลุ่มเยาวชนเข้ามาปลูกเพิ่มในช่วงหลังต้นไม้เหล่านี้ค่อยๆ เจริญเติบใหญ่ขึ้นตามวันเวลา


 

ไร่หมุนเวียน บ่ใช่ไร่เลื่อนลอย

ปกาเก่อญอสองคนต่างวัยสาวเท้าลัดเลาะขึ้นไปบนเนินป่า เมื่อผ่านช่องโปร่งของต้นไม้ ผืนดินเบื้องล่างก็ปรากฎภาพแอ่งของไร่ข้าวเขียวขจีที่มีป่าครื้มล้อมรอบ โอะชิพูดยิ้มๆว่า "ระบบไร่หมุนเวียนจะเผาไร่เดือนเมษา 1-10 วัน เพื่อมีข้าวกิน เวลาเผาชาวเขาจะรู้เลยว่าเผาตอนเช้าตอนเย็นฝนจะตก มันเป็นภาษาธรรมชาติที่รับรู้กันมา ไร่แต่ละไร่จะทิ้งไว้ 7 ปี ถึงจะกลับมาทำที่เดิม บ้านหนองเต่าทำไร่หมุนเวียนแค่ 10 ครอบครัว มีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ ชาวบ้านที่เหลือมีนามีสวนไม่ได้ทำไร่แล้ว เทียบกับคนเมืองที่ขับรถยนต์ปล่อยคาร์บอนทุกวันไม่ได้หรอก"

หากมองไร่ข้าวจากบนเขาในมุมกว้างนี้จะเห็นวิถี 7 รอบของไร่หมุนเวียนได้อย่างชัดเจน ผ่านคำอธิบายของจอนิ ไร่หมุนเวียน จะมีรูปแบบของพื้นที่ 5 ลักษณะ "ดูล่ะ" จะเป็นพื้นที่ป่าที่ฟื้นตัวจากการทำไร่มาแล้ว เหมาะสมแก่การหวนกลับมาตัดฟันเพื่อเปิดพื้นที่ทำไร่ใหม่ "คึ" เป็นพื้นที่สำหรับทำเกษตรในฤดูปัจจุบัน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การตัดฟันไม้ในไร่ ถางที่ เผา ก่อนจะเพาะปลูกข้าวจนเก็บเกี่ยวผลผลิต "ฉกี่วา" เป็นพื้นที่หลังการเก็บเกี่ยวที่ถูกทิ้งไว้โดยอาศัยกลไกธรรมชาติจากพื้นที่ป่าที่อยู่โดยรอบแปลงในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน รอเวลาให้ฟื้นตัว 1-2 ปี ซึ่งต้นไม้ยังเติบโตไม่มากนัก แต่ยังพอมีผลผลิต เช่น ข่า ตะไคร้ ขมิ้น พริก เผือก มัน ฟัก แตง ที่เหลือจากการทำไร่หลงเหลือให้เก็บเกี่ยวอยู่ พื้นที่นี้จะมีการเลี้ยงสัตว์ จอนิบอกว่าสัตว์ป่าต่างๆ ก็จะเข้ามาหาอาหารในพื้นที่นี้ด้วย

"ฉกี่เบาะ" เป็นพื้นที่ที่ป่าฟื้นตัวจาการทำไร่ 4 ปี ขึ้นไป ไม้ในป่าเริ่มเติบโตกลายเป็นป่าขนาดเล็ก สามารถนำไม้มาซ่อมแซมบ้านเรือน ทำรั้ว หรือทำฟืนได้ และหากเจ้าของไร่พิจารณาเห็นว่าสมควรกลับมาทำกินอีก ก็จะเข้าสู่ช่วงดูล่ะใหม่อีกครั้ง ฉกี่เบาะที่ปล่อยให้เติบโตโดยไม่ตัดฟันอีกจะกลายสภาพเป็นป่าโตเต็มที่เรียกว่า "ปก่า" ป่าหลายผืนบนขุนแม่วาง ป่าต้นน้ำ รวมทั้งป่าชุมชนหนองเต่า 8,000 ไร่นี้ นอกจากพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ทำกินที่ยังใช้ประโยชน์อยู่ และป่าความเชื่อต่างๆ ป่าเกือบทั้งหมดก็เป็นปก่าที่เติบโตมาจากฉกี่เบาะที่ปากเก่อญอร่วมกันรักษามานานนับ 40 ปีแล้ว ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีป่าของครอบครัวสำหรับปลูกต้นไม้ไว้ใช้สอยเองด้วย

จอนิยืนยันว่า ระบบไร่หมุนเวียนของชาวเขามีกฎเกณฑ์ตามกรอบความเชื่อมาแต่ครั้งบรรพบุรุษเพื่อให้ทุกคนเคารพนบน้อมต่อธรรมชาติที่ให้น้ำให้อาหารให้ความสมบูรณ์ การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกจะมีรูปแบบของภูมิปัญญาที่สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้มากที่สุดระบบหนึ่ง เช่น ไม่ตัดฟันไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ในไร่ หรือเวลาตัดต้นไม้จะเหลือตอไว้ให้สามารถแตกกอใหม่ได้ มีการทำแนวกันควบคุมการเผาไร่ไม่ให้ลุกลามออกไปนอกแปลงทุกครั้ง มีการปลูกพืชแบบผสมผสาน คือ มีข้าวไร่เป็นพืชหลัก และมีพรรณพืชอาหาร พืชไช้สอยต่างๆไม่ต่ำกว่า 30 ชนิดพันธุ์ เพื่อเป็นหลักประกันในความมั่นคงทางด้านอาหาร     จอนิจึงย้ำมาตลอดว่า ระบบเกษตรตามวัฒนธรรมของชาวเขา "ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย แต่เป็นไร่หมุนเวียน"

"ชาวกะเหรี่ยงทำไร่บนเขาเป็นหย่อมๆ เวียนทำไร่ไปตามหย่อมนั้น ตัดเวลาที่ควรตัด เผาเวลาที่ควรเผา ไม้มันก็ขึ้นไปเรื่อยๆ ปกาเก่อญอมีความเชื่อเรื่องผีนาผีไฟ ทำไมตอนมีพิธีเลี้ยงผีไฟ เหตุผลวิทยาศาสตร์คือต้องดูแลไฟ คนทำไร่ต้องเลี้ยงผีไฟปีละครั้ง คนทำนาต้องเลี้ยงผีนา ผีเหมือง ผีฝาย ทำไมเราต้องเลี้ยงผีน้ำทุกๆ ปี เพราะทุกคนทุกชีวิตเกี่ยวข้องกับน้ำ คนเรายังมีน้ำในร่างกาย 70% นี่คือเหตุผลทางความเชื่อ มันมีหลักการ ถึงคนเพิ่มขึ้น ใช้ไม้มากขึ้น แต่ปัจจัยหลายอย่างอยู่ที่การจัดการ ในอนาคตมันต้องมีสมดุลความเหมาะสมของมันอยู่ แต่บางคนมีที่ 1,000 ไร่ เป็นพืชเชิงเดี่ยวทั้งหมดอันนี้ต้องจัดการอย่างไร

"เราอยู่ที่นี่มา 300 ปี เท่ากับคนกรุงเทพฯ แต่ที่นี่ยังมีป่าอยู่ มีบ้าน มีวัด บนเขามีชาวเขาอยู่มาเป็นพันปี แล้วทุกอย่างก็ยังอยู่ ลูกหลายจะทำป่าให้ดีกว่าเดิมด้วย แต่วันนี้ ยังมีคนพูดว่าชาวเขาทำไร่เลื่อนลอยอยู่ในหนังสือเรียนก็บอกแบบนี้" และถ้าเทียบกับพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรอื่นๆ ในประเทศ จอนิเชื่อหมดใจว่า "ที่ไหนมีชาวเขา ที่นั่นยังมีป่า"

ผู้ทำลายป่าคือชาวเขา?

โอะชิ กำลังเดินตามรอยเชื่อมั่นของพ่อเฒ่า หากปราชญ์ผู้นี้ไม่ได้เฝ้าถามและแสวงหาคำตอบในท่วงทำนองแห่งวิถีปกาเก่อญอเรื่อยมา วันนี้เรื่องราวมากมายคงค่อยๆสูญหายไปจากปกาเก่อญอรุ่นหลังด้วยสำเนียงภาษากลางชัดถ้อยชัดคำ เพราะได้รับการศึกษาในหลักสูตรมาตามระบบจนจบมัธยมปลาย แต่โอะชิกลับรู้สึกสนุกสนานและลึกซึ้งมากกว่ากับบทเรียนเรื่องราวในอดีตที่เฒ่าชราถ่ายทอด "การเรียนในระบบไม่ได้ทำให้ผมรู้จักและเข้าใจวิถีชีวิตของปากเก่อญอเลย" โอะชิพูด

ในที่สุดโอะชิ และเฒ่าชรา ก็เดินเข้าสู่ขอบป่าอนุรักษ์อันรกชัฎ ณ ที่แห่งนี้เขาสามารถจำแนกอธิบายชนิดพรรณพืชต่างๆ รู้ถึงคุณค่าและเข้าใจในความเกี่ยวพันของธรรมชาติและสรรพชีวิตทั้งปวง หลายปีมานี้ที่โอะชิมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่ามาอย่างภาคภูมิใจ แต่ด้านหนึ่งเขาก็ร่วมเจ็บปวดไปกับบาดแผลแห่งวิบากกรรมของคนในยุคก่อน

พ่อเฒ่าชี้ให้ดูหน่ออ่อนที่งอกจากตอไม้เก่าได้กลายเป็นต้นไม้ขนาดรอบคนโอบ ต้นไม้ต้นนี้คือหนึ่งในหลายล้านต้นที่ฟื้นฟูขึ้นมาในช่วงที่ป่ามหาศาลถูกโค่นตัดจาการสัมปทานป่า ในเวลาที่จอนิเพิ่งอายุเพียง 5 ขวบ เขายังได้เห็นปู่นำช้างเข้าไปรับจ้างลากไม้ให้นายห้างในป่า ได้เห็นความเป็นไปของปกาเก่อญอที่เห็นเงินอยู่เหนือจารีตความเชื่อ พฤติกรรมการตัดไม้จนเขาลูกแล้วลูกเล่าเตียนโล่งหรือการล่าสัตว์ป่าขนานใหญ่ที่เปลี่ยนบ้านป่าอันอุดมสมบูรณ์มาสู่ยุคแร้นแค้น ปกาเก่อญอเริ่มเจ็บป่วยล้มตายจากโรคระบาด พ่อเฒ่าเชื่อตามความเชื่อของปกาเก่อญอว่า คนเราเกิดมาจากต้นไม้ และวิญญาณของคนมีอยู่ 37 ขวัญ อยู่ในร่างกายคน 5 ขวัญ และอยู่ในสรรพชีวิตรอบๆ เช่น นกเงือก ช้าง เสือ หมี กระทิง เก้ง กวาง หมูป่า กุ้ง หอย ปู ปลา อีก 32 ขวัญ เมื่อป่าไม้และสัตว์ป่าล้มหายตายจาก จิตวิญญาณของชาวปก่าเกอญอจึงอ่อนแอ แต่ก็ด้วยความเชื่อที่ยังฝังแน่นในจิตวิญญาณอีกเช่นกัน ที่ทำให้จอนิได้เห็นทางเลือกของปกาเก่อญอในการหวนคืนสู่วิถีชีวิตเดิม

ความพยายามในการอนุรักษ์ป่าชุมชนของผู้เฒ่ารุ่นก่อนในปี 2512 จอนิจึงเป็นผู้สืบสาน ในขณะที่การอนุรักษ์ป่าหนองเต่าเพิ่มเริ่มต้นได้ไม่นาน ก็เริ่มมีโครงการปลูกป่าทดแทนการทำไม้และปลูกฝิ่นของหน่วยจัดการต้นน้ำขุนวาง กรมป่าไม้ เข้ามาในพื้นที่ปี 2518-2519 แต่ในความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างเขาหัวโล้น พื้นที่เสื่อมโทรม กับไร่หมุนเวียนที่รักษาสมดุลให้ระบบนิเวศ ได้กลายเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวเขาที่เพิ่มความไม่เข้าใจต่อกันและทวีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาที่จอนิมองเห็น นอกจากการปลูกป่าทับที่ทำกินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ วิธีการปลูกป่าของกรมป่าไม้ที่จะต้องตัดไม้ธรรมชาติทิ้งก่อนเพื่อปลูกต้นสนเพียงอย่างเดียว ยังทำให้พื้นที่ขาดความหลากหลายทางชีวภาพในความเป็นป่า ผืนดินเสื่อมโทรมแห้งแล้งสัตว์ป่าไม่เข้ามาอยู่อาศัย หนำซ้ำยังทำให้เกิดไฟป่า รุนแรงขึ้นทุกปี และยังลามไปเผาไหม้พื้นที่ป่าและพื้นที่ไร่หมุนเวียนอื่นๆในอาณาบริเวณกว้าง

"ไม้สนตามธรรมชาติจะขึ้นร่วมกับไม้อื่นๆ ไม่มีอะไรเดี่ยว เค้าจะทำป่าเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไปอีกแบบตอนนั้นญี่ปุ่น แคนาดา อเมริกาต้องการไม้สนเยอะ เค้ามาลงทุนที่นี่ เราก็ไปปลูกตามเค้ากลายเป็นปัญหาสะสมไปอีกแบบ ผลจากการปลูกสนเดี่ยวคือใต้ดิน 2 เมตรจะร้อนกว่าปกติ สนดูดน้ำเยอะจะคายน้ำให้ดินก็ 40 ปีขึ้นไป พืชอื่นไม่ชอบ ไผ่ไม่ชอบ ไส้เดือนไม่มี นกกระแต กระรอกไม่มีอาหารเพราะไม่กินลูกสน บางปีมีแมงบ้ง(หนอน) มากินใบสนจนเกลี้ยง ในช่วงที่ใบร่วงหมดก็เป็นเชื้อเพลิงให้ไฟไหม้รุนแรง ไม้สนก็ตาย ไม้อื่นก็ตาย สัตว์ก็ตาย ผลกระทบพวกนี้ไม่มีการศึกษาให้ชัด แต่อยู่ในท้องถิ่นเรารู้" จอนิพูด

ในสายตาของชาวเขา การปลูกป่าที่เกิดขึ้นโดยรัฐนั้นนอกจากจะไม่ได้สร้างประโยชน์ให้คนกับป่าแล้ว ยังทำให้ชาวเขาเห็นความอ่อนด้อยของรัฐในการจัดการป่า ทั้งเรื่องฝิ่น การสัมปทานขายป่าให้ต่างชาติ การอนุรักษ์ป่าที่กลายเป็นการทำลาย ซึ่งในเวลาต่อมายังมีโครงการของกรมประชาสงเคราะห์เข้ามาส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชเศรษฐกิจและพืชเมืองหนาวในรูปแบบเชิงเดี่ยว วิถีเกษตรแนวใหม่ได้นำอันตรายอย่างปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชเข้ามาใช้กันอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้เกิดมลพิษที่ทำร้ายชาวป่าชาวเขา และระบบนิเวศอันบริสุทธิ์

ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นโดยรัฐทำให้ปกาเก่อญอมั่นใจว่า "ผู้ที่สามารถจัดการป่าได้ดีที่สุด คือชาวเขาและภูมิปัญญาของชาวเขา" จอนิพูด แต่ความเจ็บช้ำยังตามติด เมื่อป่าชุมชน 8,000 ไร่ ที่ชาวเขาร่วมกันดูแลมานับ 20 ปี เริ่มฟื้นสภาพ ในปี 2536 กรมป่าไม้ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับพื้นที่นั้น เพื่อให้อำนาจในการจัดการป่าของประเทศตกเป็นของรัฐแต่เพียงผู้เดียว

เช้าวันที่ชาวปกาเก่อญอได้เอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ครัวเรือน อาจหมายถึงการยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของบ้านในฐานะปัจกเจก แต่ไม่ได้ให้สิทธิในความเป็นเจ้าของทรัพยากรที่พวกเขาอยู่ร่วมพึ่งพิงและดูแลรักษากันมานานนับ 300 ปี

ที่มา : คัดตอนเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ " -2' เมื่อสองมือร่วมคลายโลกร้อน (Cooling down the planet with both hands)" , สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก ,เมษายน 2552

 

 

บล็อกของ คนไร้ที่ดิน

คนไร้ที่ดิน
ศยามล ไกยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา    การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เปิดประเด็นการปฏิรูปที่ดิน แจกสปก. นับว่าโดนใจประชาชนที่เฝ้ารอคอย สปก. 4-01 และหวังว่าวันหนึ่งจะมีการออกเป็นโฉนดที่ดินตามแรงโฆษณาของเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง ปัญหาการไม่มี สปก. 4-01 ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินมีจำนวนมาก มีโครงการปฏิรูปที่ดิน แต่ยังไม่มีการปฏิรูปที่ดิน และยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนของความซ้ำซ้อนระหว่างแนวเขตของเขตปฏิรูปที่ดินกับที่ดินของรัฐประเภทอื่น เช่น พื้นที่ป่าตามกฎหมาย ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์…
คนไร้ที่ดิน
โดย... สมจิต คงทน กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน  ก่อนจะมาเป็นนารวม ชาวบ้านเขวาโคก-เขวาทุ่ง ต.สระบัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ได้รวมตัวกันเพื่อดูแลและฟื้นฟูสภาพป่าสาธารณะของชุมชนที่อยู่คู่มากับหมู่บ้าน ซึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ไว้สำหรับหาอยู่หากิน เก็บของป่า เก็บเห็ด เก็บฟืน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตแต่เมื่อปี 2538 มีกลุ่มทุนเอกชนจากนอกพื้นที่ทั้งหมด 8 ราย มาบุกรุก แผ้วถางป่าธรรมชาติดอนหนองโมง-หนองกลางของหมู่บ้าน เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่นี่รวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อรักษาที่ดินผืนนี้ไว้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
คนไร้ที่ดิน
กองเลขาฯเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ความขัดแย้งและการต่อสู้ของชนชั้นปกครองเป็นไปอย่างดุเดือดและยืดเยื้อ มากกว่า 3 ปี จนยกระดับขึ้นเป็นความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในขณะนี้ ขั้วความขัดแย้งคือ กลุ่มทุนอนุรักษ์นิยมภายใต้อิทธิพลศักดินา ส่วนอีกฝ่ายคือ กลุ่มทุนเสรีนิยมใหม่ ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้โดยง่าย เพราะเป็นการทำศึกวัดดุลกำลัง เพื่อนำไปสู่การจัดปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจครั้งใหม่ ทั้งอำนาจในทางการเมือง อำนาจในการควบคุมระบบเศรษฐกิจและฐานทรัพยากรของสังคม ศึกช่วงชิงการยึดกุมความได้เปรียบในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจละการผลิตครั้งนี้ “ชนชั้นผู้ชม”…
คนไร้ที่ดิน
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน  เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน และเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชายฝั่นอันดามัน ได้จัดเวทีสัมมนาเรื่อง “ทางออกกรณียึดที่ดินชุมชนสัมปทานป่า-เลให้นายทุน” ที่ศูนย์การเรียนรู้ควนปริง ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง มีผู้เข้าร่วมเวทีกว่า 150 คน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่ดินของหน่วยงานรัฐไว้อย่างน่าสนใจ…
คนไร้ที่ดิน
ศลิษา ทองสังข์ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาทางการเมืองและโครงสร้าง ปัญหาที่ดินไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวนา หรือคนสลัม แม้แต่คนเมือง คนชั้นกลางก็ประสบปัญหาที่ดินอยู่อาศัย การใช้ประเด็นเรื่องการผูกขาดที่ดิน นักการเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล ทุนข้ามชาติ และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคมโดยรวมและผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้สามารถเชื่อมโยงกับสังคมโดยรวมเพื่อสร้างแรงผลักดันการกระจายการถือครองที่ดินได้ ที่ผ่านมามีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขมาตรการทางภาษีที่ดิน ตัวอย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ตั้งแต่ปี 2541 เป็นเวลา 10 ปี เต็ม…
คนไร้ที่ดิน
นนท์ นรัญกร   ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 147 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 A และ ป่าสงวนแห่งชาติโซน C ประมาณ 80 ล้านไร่ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การบริหารจัดการพื้นที่ป่าของของกรมอุทยานแห่งชาติ พันธุ์พืชและสัตว์ป่า มีบทเรียนหลายประการ ที่ไม่ได้ถูกนำมาถกเถียงในสังคมไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานให้ดีขึ้น ในขณะที่กำลังจะสร้างปัญหาใหม่ตามมา ดังที่เป็นข่าวเรื่องความพยายามใน การเซ้งพื้นที่อุทยานฯ ให้กับภาคเอกชนเช่าทำธุรกิจ บทเรียนประการแรก…
คนไร้ที่ดิน
พงษ์ทิพย์  สำราญจิตต์สังคมไทย  เป็นสังคมที่เกษตรกรและคนจนไร้ที่ดิน แทบจะไม่มีที่ยืนหรือสามารถบอกเล่าสถานะของตนเองต่อสังคมได้ โครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ การผลิตและการตลาด  ได้ถูกผูกขาดและกำกับควบคุมโดยคนกลุ่มเล็ก บริษัทธุรกิจเอกชนที่มีเงินลงทุนมหาศาล ในสนามเศรษฐกิจที่ถูกผูกขาดไว้แล้วเช่นนี้  แน่นอนว่าเกษตรกรรายย่อยย่อมมิอาจแข่งขันได้ นี่เป็นที่มาของสภาพการณ์ในชนบทสังคมไทยที่เกษตรกรรายย่อยกำลังกลายเป็นแรงงานรับจ้างและคนจนไร้ที่ดินมากขึ้นทุกขณะ
คนไร้ที่ดิน
                                                                                                   …
คนไร้ที่ดิน
  สมจิต  คงทนกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอค)เมื่อชาวบ้านถูกฟ้องคดี"ก่อนถูกฟ้องคดีเขาเป็นคนขยัน พอถูกจับและยึดที่ดินไป  ซึ่งเป็นที่ดินที่เขาสองคนผัวเมียได้อยู่อาศัยทำกินกันมายาวนาน เขากลายเป็นคนคิดมาก ควบคุมสติตัวเองไม่ได้  ทุบตีเมียตัวเอง และเคยคิดฆ่าตัวตาย จนกลายเป็นปัญหาครอบครัว สุดท้ายก็ต้องแยกทางกัน  ส่วนลูก 2 คนก็แบ่งกันไปคนละคน"  นางเหิม เพชรน้อย ชาวบ้านตำบลบ้านนา จังหวัดพัทลุง เล่าถึงชะตากรรมชีวิตของเพื่อนบ้านครอบครัวหนึ่งที่ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า หรือ…