Skip to main content

อารีวรรณ คูสันเทียะ
กลุ่มปฏิบัติการท้องถิ่นไร้พรมแดน

 

 

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติด้านการเงิน ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ถูกทำให้ผิดเพี้ยนไป เมื่อพิจารณาจากรายงานข่าวของสื่อต่างๆที่ออกมา เช่น “เกาหลีใต้กำลังเช่าที่ดินครึ่งหนึ่งของมาดากัสการ์ เพื่อผลิตอาหาร” (อันที่จริงแล้วไม่ใช่รัฐบาลแต่เป็นของบริษัทแดวู) ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากมักจะให้ความสนใจว่าผู้ที่มีบทบาทนำในการกว้านซื้อที่ดินเพื่อผลิตอาหารในระดับโลกนั้นเป็นประเทศ หรือรัฐบาลไหน ความสนใจส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่การเกี่ยวพันของรัฐบาล เช่น ซาอุดิอาระเบีย จีน หรือเกาหลีใต้ แท้ที่จริงในขณะที่รัฐบาลเป็นผู้อำนวยการด้านการเจรจา แต่ผลที่สุดแล้วบริษัทธุรกิจ คือผู้ที่เข้าควบคุมที่ดินเหล่านั้น และผลประโยชน์ของบริษัทก็มีเป้าหมายที่แตกต่างไปจากผลประโยชน์ของรัฐบาล ถ้ามองให้ลึกซึ้งกันจริงๆเราจะพบว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงของการเจรจาเหล่านี้

 

นี่กำลังเป็นการริเริ่มใหม่ของภาคธุรกิจ”

มีหลายตัวอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ในรายงานของ สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ International Food Policy Research Institute (IFPRI) เมื่อเดือนเมษายน 2552 แสดงให้เห็นถึงขนาดของการกว้านซื้อที่ดินของนักลงทุนต่างชาติในแอฟริกา ตั้งแต่ปี 2549 บริษัท Lonrho ซึ่งมีฐานในอังกฤษ  เช่าที่ดิน 25,000 เฮคเตอร์ หรือ 156,250 ไร่ เพื่อปลูกข้าวในอังโกลา จีนซื้อหาที่ดิน 2.8 ล้านเฮคเตอร์ หรือ 17.5 ล้านไร่เพื่อปลูกพืชน้ำมันสำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพในคองโก ควาตาร์เช่าที่ดิน 20,000 เฮคเตอร์ หรือ 125,000 ไร่ เพื่อปลูกผักและผลไม้ในเคนยา โดยแลกกับการสนับสนุนโครงการสร้างท่าเรือมูลค่า2 .3 พันล้านเหรียญ


เฉพาะในเอธิโอเปีย อินเดียลงทุนไปถึงสี่พันล้านเหรียญ ทางด้านเกษตร อันรวมถึงนิคมปลูกดอกไม้ และ อ้อย ประเทศยูเออี ซื้อที่ดิน 5,000 เฮคเตอร์ หรือ 31,250 ไร่ สำหรับธุรกิจร่วมทุนเพื่อปลูกชา กับบริษัทที่ทำธุรกิจเกษตรของแอฟริกาตะวันออก บริษัทของเยอรมัน ซื้อที่ดิน 13,000 เฮคเตอร์ หรือ 81,250 ไร่สำหรับปลูกพืชในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ บริษัทของอังกฤษปลูกสบู่ดำสำหรับเป็นพืชพลังงาน นักลงทุนจากซาอุฯ เช่าที่ดินโดยแลกเปลี่ยนกับการลงทุนหนึ่งล้านเหรียญในประเทศนั้น


ในมาดาคัสคาร์ บริษัทแดวูของเกาหลีใต้ ต้องการที่ดิน 1.3 ล้านเฮคเตอร์ หรือ 8.1 ล้านไร่(ขนาดเท่าประเทศเบลเยียมทั้งประเทศ)เพื่อปลูกข้าวโพด การดำเนินการดังกล่าวของแดวู เกิดขึ้นภายหลังคำเตือนของ องค์การอาหารและเกษตร ว่า “...ความพยายามที่จะครอบครองที่ดินการเกษตร ของประเทศต่างๆ (ซึ่งหมายถึงประเทศเช่น จีน มาเลเซีย และประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น) อาจจะกลายเป็นระบบอาณานิคมสมัยใหม่..”  โครงการของแดวูต้องล้มเลิกไป เมื่อผู้นำคนใหม่ของมาดาคัสการ์ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว  ในไนจีเรีย บริษัทของอังกฤษ  Trans4mation Agric-tech ครอบครองที่ดิน 10,000 เฮคเตอร์ หรือ 62,500 ไร่สำหรับการเกษตร ขณะที่ บริษัทจีน ครอบครองที่ดิน 10,000 เฮคเตอร์ สำหรับปลูกข้าว


ซูดาน ก็เป็นเป้าหมายของกลุ่มล่าที่ดินเหล่านี้เช่นกัน อียิปต์ครอบครองที่ดินเพื่อปลูกข้าวสาลี สองล้านตันต่อปี จอร์แดนครอบครองที่ดิน 25,000 เฮคเตอร์ หรือ 156,250 ไร่เพื่อเลี้ยงสัตว์ และพืชอาหาร คูเวตสามารถสร้างพันธมิตรระดับ “บิ๊ก” ในประเทศนี้ ควาตาร์จัดตั้งบริษัทโฮลดิงก์เพื่อลงทุนด้านการเกษตร ซาอุดิอาระเบียเช่าที่ 10,000 เฮคเตอร์ หรือ 62,500 ไร่เพื่อปลูกข้าวโพด ผัก และ ปศุสัตว์ เกาหลีใต้ ถือครองที่ดิน 690,000 เฮคเตอร์ หรือ 4.3 ล้านไร่เพื่อปลูกข้าวสาลี ขณะที่ยูเออีลงทุนในที่ดิน 378,000 เฮคเตอร์ หรือ 2.3 ล้านไร่เพื่อปลูก ข้าวโพด ข้าวสาลี มัน และถั่ว

 

และเมื่อเร็วๆนี้ ในเดือนสิงหาคม 2552 รัฐบาลของเมอริเตียส เกาะหนึ่งที่อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ดำเนินการผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว จำนวน 20,000 เฮคตาร์ หรือประมาณ 125,000 ไร่ ในประเทศโมซัมบิก เพื่อผลิตข้าวส่งไปยังตลาดของประเทศเมอริเตียส

 

นี่คือการค้นหาแหล่งผลิตอาหารจากภายนอก คงไม่มีคำถามอะไรถ้านี่คือการดำเนินการของรัฐบาล ในฐานะประชาชนชาวมอริเตียส อาจคิดว่าพื้นที่การเกษตรเหล่านี้กำลังจะผลิตข้าวและส่งกลับไปยังบ้านเกิดของตนเอง แต่ไม่เป็นเช่นนั้น รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ กลับแบ่งสัญญาเช่าที่ดินให้กับสองบริษัท บริษัทหนึ่งจากสิงคโปร์ (ซึ่งกำลังมีข้อกังวลว่ากำลังพัฒนาตลาดจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของตนเองในแอฟริกา) และอีกหนึ่งบริษัทจากสวาซีแลนด์ (ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ แต่กำลังดำเนินการผลิตพืชพลังงานในแอฟริกาตอนใต้ด้วยเช่นกัน)

 

ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เราไม่ควรมืดบอดว่านี่เป็นเพียงการดำเนินการโดยรัฐบาลเท่านั้น เพราะท้ายที่สุด สิ่งที่บริษัทต้องการคือความมั่นคง และเขามีกฎหมาย เงินทุน และที่ปรึกษาด้านการเมืองเป็นเครื่องมือ

 

การเริ่มต้นผลักดันโดยรัฐบาลเพื่อมองหาความมั่นคงด้านทรัพยากรอาหารราคาถูก ตอนนี้ได้กลายเป็นรูปแบบการงอกเงยทางธุรกิจและภาคธุรกิจจำนวนมากกำลังโดดลงมาเล่นเรื่องการลงทุนด้านการเกษตรเพื่อให้เกิดความหลากหลายในกิจการของตนเอง”

 

ยิ่งไปกว่านั้นได้มีการหันเหทิศทางของภาคธุรกิจเพื่อกว้านซื้อและครอบครองพื้นที่การเกษตรของโลก โดยภาคธุรกิจดั้งเดิมหรือบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ เช่น ยูนิลีเวอร์ หรือ โดล ภายใต้รูปแบบเกษตรพันธะสัญญาล่วงหน้า และข้ออ้างทางโวหารที่ว่า “การลงทุนภาคเกษตร” ด้วยมนตราของวิชาการด้านการพัฒนาในวันนี้ จึงไม่ควรเข้าใจแบบอัตโนมัติไปว่ามันหมายถึงกองทุนเพื่อสาธารณะ แต่มันกำลังกลายเป็นธุรกิจของธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ

 

บทบาทของกองทุนด้านการเงิน

 

เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งว่าใครคือนักธุรกิจหรือนักลงทุนตัวจริงที่กำลังครอบครองพื้นที่การเกษตรทั่วโลกเพื่อผลิตอาหารหลักต่างๆ จากการรวบรวมข้อมูล บทบาทการลงทุนทางการเงิน กองทุนและบริษัท มีข้อค้นพบที่มีนัยสำคัญว่า มีมากกว่า 120 รูปแบบการลงทุน ส่วนใหญ่แล้วก่อตั้งขึ้นใหม่ และกำลังเข้ายึดพื้นที่การเกษตรทั่วโลก ภายหลังภาวะการณ์ความตื่นตระหนักด้านวิกฤติการเงิน บริษัทเหล่านี้มีผลประโยชน์เพิ่มขึ้นนับหมื่นล้านเหรียญ ตารางไม่ได้แสดงรายละเอียดมากนัก อย่างไรก็ตามก็ได้เห็นตัวอย่างประเภทของการลงทุนหรือเครื่องมือที่ใช้ และจุดมุ่งหมายในการลงทุนระดับต่างๆ (ดูข้อมูลตารางนี้ได้ที่ http://www.grain.org/m/?id=266)

 

การลงทุนภาคเอกชนไม่ได้หันกลับมาลงทุนด้านการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาความหิวโหยหรือขจัดความยากจนของภาคชนบทให้กับโลก พวกเขาต้องการผลประโยชน์ ชัดเจนและตรงๆเลย และโลกทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปสู่วิถีที่ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำเงินจำนวนมหาศาลจากพื้นที่การเกษตร จากมุมมองด้านการลงทุน ความต้องการอาหารของโลกจำเป็นต้องมีการผลิตที่มั่นคง รักษาระดับราคาอาหารไว้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผลตอบแทนการลงทุนจะคืนให้กับผู้ที่ควบคุมฐานทรัพยากรการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะ ที่ดินและน้ำ ปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ตรึงเครียดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ภายหลังภาวะวิกฤติการเงิน มีการกล่าวถึง ทางเลือกการลงทุน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน หรือ พื้นที่การเกษตร ซึ่งกำลังแย่งชิงกันอย่างดุเดือด ลักษณะของพื้นที่การเกษตรโดยตัวของมันเองแล้วไม่สามารถสร้างให้เกิดการขยายตัวได้มากนัก เนื่องจากมูลค่าของมันไม่ได้ขึ้นและลงได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับการซื้อขายทองและการแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่การลงทุนด้านนี้จะทำให้บริษัทของพวกเขาสามารถมีรูปแบบความสำเร็จที่หลากหลายขึ้น

 

แต่นี่ไม่เพียงเฉพาะที่ดินเท่านั้น แต่นี่คือการผลิต นักลงทุนมีความมั่นใจว่าเขาสามารถไปแอฟริกา เอเชีย ลาตินอเมริกา และอดีตสหภาพโซเวียตเพื่อร่วมทุนทางด้านเทคโนโลยี เงินทุน และทักษะการจัดการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนให้พื้นที่การเกษตรที่มีศักยภาพต่ำไปสู่กิจการด้านธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ ในหลายกรณี เป้าหมายของรายได้จาการลงทุนจะมีทั้งจากผลผลิตและจากที่ดิน โดยคาดหวังว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้น นี่คือการปฏิวัติเขียวในแบบฉบับของบริษัทอย่างแท้จริง และเป็นความทะเยอทะยานขนาดใหญ่ “นายของฉันต้องการสร้างธุรกิจฟาร์มแห่งแรกของเอกซอลโมบิล” นี่คือคำกล่าวของโจเซฟ คาร์วิน หุ้นส่วนของอัลติมา กองทุนการเกษตรในโลกเดียว ที่ได้รวบรวมการลงทุนการเกษตรข้ามชาติ ในนิวยอร์คเมื่อเดือน มิ.. 2552 จากนั้นรัฐบาล ธนาคารโลก และยูเอ็นต้องการจะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้

 

จากรวยไปสู่รวยมากขึ้น

 

ฉันเชื่อมั่นว่าพื้นที่การเกษตรคือการลงทุนที่ดีที่สุดในเวลานี้ ในที่สุดจากการพัฒนาที่ดินใหม่ เทคโนโลยีหรือทั้งสองอย่างควบคู่กันไป แน่นอนว่าราคาอาหารจะสูงขึ้นเพียงพอที่อุปทานของตลาดจะอยู่ในระดับเดียวกับอุปสงค์หรือความต้องการของตลาดพอดี และจากนั้นตลาดขาขึ้นจะสิ้นสุดลง แต่นั่นยังอีกยาวกว่าจะมาถึง”

 

วันนี้การร่วมทุนกับของเจ้าของที่ดินรายใหม่เป็นดุลพินิจเฉพาะของผู้จัดการกองทุน โดยเฉพาะกองทุนที่ดำเนินกิจการด้านที่ดินการเกษตร นักลงทุนรายใหญ่ กองทุนบำนาญ ธนาคารขนาดใหญ่ และอื่นๆที่คล้ายกัน การขยับเพิ่มขึ้นของปริมาณการลงทุนค่อนข้างสังเกตเห็นได้ชัด ในช่วงที่คนตื่นตระหนกจากวิกฤติด้านการเงิน เราสามารถเห็นได้ว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกใช้ไปกับการกว้านซื้อที่ดินทางการเกษตรและการเพิ่มขึ้นของคนที่รวยขึ้นอย่างกระทันหัน และบางส่วนของเม็ดเงินนี้เป็นเงินออมของครูปลดเกษียณที่หามาได้อย่างยากลำบาก ลูกจ้างทางสังคม และคนงานในโรงงานจากประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ นั่นหมายความว่าประชาชนธรรมดามีส่วนได้ส่วนเสียกับกระแสที่เกิดขึ้นนี้ด้วย ในขณะที่พวกเขาอาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

 

กล่าวได้ว่า อิทธิพลใหม่ในการผลักดันกับผลประโยชน์ของบริษัทมาด้วยกัน โดยต้องการเงื่อนไขที่สนับสนุน เอื้ออำนวยและปกป้องการลงทุนในที่ดินทางการเกษตรของพวกเขา พวกเขาต้องการลดอุปสรรคด้านกฎหมายการถือครองที่ดินของต่างชาติ และขจัดประเทศคู่ค้าด้านการส่งออกอาหารออกไป และนำข้อตกลงเรื่องจีเอ็มโอเข้ามาแทน เรื่องนี้เราแน่ใจได้ว่าเขากำลังทำงานกับรัฐบาลของเขา ธนาคารด้านการพัฒนาต่างๆ เพื่อให้เป้าหมายเรื่องข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ ข้อตกลงด้านการลงทุนสองฝ่าย และการบริจาคโดยมีเงื่อนไขร่วมอยู่ด้วย

 

จริงๆแล้ว การกว้านซื้อที่ดินข้ามชาติ เพิ่มมากขึ้นจากวาระของรัฐบาลระหว่างซีกโลกเหนือและใต้ ความกังวลของเขาได้สนับสนุนให้เกิดการแผ่ขยายธุรกิจของบรรษัทด้านการเกษตรและอาหารข้ามชาติ โดยคาดหวังว่านี่จะเป็นทางออกต่อวิกฤติอาหาร โครงการและความร่วมมือในทุกวันนี้จุดมุ่งหมายทั้งหมดก็เพื่อให้เกิดโครงสร้าง และการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร

 

จากพื้นฐานของเงินทุน และการผลิตเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่เพื่อตลาดส่งออก อาจดูเหมือนว่านี่เป็นหมวกใบเก่า แต่หลายเรื่องเป็นสิ่งใหม่และแตกต่าง เช่น อย่างแรก ความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในรูปแบบนี้จะถูกผูกมัดไว้ในข้อตกลงด้วย (ในขณะที่การปฏิวัติเขียวไม่ได้ทำแบบนี้) อย่างที่สอง รูปแบบการเงินแบบใหม่ ก็เป็นพื้นฐานสำคัญ อย่างที่สาม การเพิ่มขึ้นของตัวละครสำคัญของบรรษัทและพี่เบิ้มจากโลกใต้ ก็มีบทบาทสำคัญด้วย บรรษัทข้ามชาติของสหรัฐอเมริกาและยุโรป เช่น คาร์กิล ไทสัน ดาโนน และเนสเล่ย์ ที่เคยเป็นไก่นอนบ่อน ตอนนี้กำลังหดปีก เนื่องจากการรวมตัวกันของบริษัทของโลกใต้ เช่น คอฟโค(จีน) โอแลม(สิงคโปร์) สาโวลา (ซาอุฯ) อัลมาเรีย(ซาอุฯ) และเจบีเอส (บราซิล) รายงานเมื่อเร็วๆนี้ของยูเอ็นเรื่องการค้าและการพัฒนาระบุว่า 40 % ของการผนึกกำลังและการครอบครองพื้นที่การผลิตด้านการเกษตรในปีที่ผ่านมาเป็นของบริษัทในซีกโลกโต้กับโลกใต้ พูดอย่างตรงๆก็คือ อนาคตของอุตสาหกรรมด้านอาหารในแอฟริกาจะถูกขับเคลื่อนโดยนักลงทุนของบราซิล เชื้อชาติจีน และอ่าวอาหรับ

 

การส่งออกอาหารไม่มั่นคงอีกต่อไป

 

การกว้านซื้อที่ดินในวันนี้ได้ทำให้ภาคธุรกิจมีบทบาทมากขึ้น ชัดเจนว่าการลงทุนด้านการเกษตรไม่ใช่สิ่งที่จะนำอธิปไตยทางอาหารมาสู่เรา ความหิวโหยเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ประชากรก็เพิ่มขึ้น และมันไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารขึ้นด้วย แกนนำเกษตรกรผู้หนึ่งในเบนินตระหนักถึงการแย่งชิงที่ดินเหล่านี้ว่า มันคือตัวการสำคัญที่ทำให้การส่งออกอาหารไม่มีความมั่นคง มีคำตอบที่ประชาชนบางคนอาจต้องการ จะเลือกอะไร ข้าวโพด หรือเงิน ซึ่งต้องแลกด้วยการเอาทรัพยากรอาหารออกไปจากพวกเขา เขาพูดถูก ในกรณีส่วนมาก นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการทำเกษตร ดังเช่นที่เครือข่ายชาวนามาสิปัก ที่ฟิลิปปินส์ ตระหนักแล้วว่า “พวกเขาแย่งเอาสิ่งมีชีวิตและธาตุอาหารไปจากดิน จากการทำเกษตรเข้มข้น ตักตวงเอาไปได้ไม่กี่ปี และทิ้งชุมชนท้องถิ่นไว้กับทะเลทราย”

 

เมื่อพูดถึงคลื่นของเงินที่พัดเข้ามาเพื่อเป้าหมายที่จะแก้ไขวิกฤติความอดอยากของโลก เราได้บทเรียนว่านี่คือเล่ห์เหลี่ยมและอันตรายอย่างแท้จริง จากสำนักงานใหญ่ของยูเอ็นที่นิวยอร์คถึงระเบียงตึกของกองทุนสหภาพยุโรป ทุกคนกำลังพูดว่านี่คือการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นธรรม ทั้งหมดที่เราต้องทำคือ คิดไปข้างหน้า ยอมรับตัวแปรเสริมที่มีเหตุผลและมีวินัยในข้อตกลงในการกว้านซื้อที่ดินนี้ จากนั้นพวกเขาจะสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ต้องหวาดกลัวการลงทุน ธนาคารโลกต้องการริเริ่มสำนักงานที่ดูแลด้านข้อตกลงและการตรวจสอบขึ้นมาเฉพาะ เพื่อให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินอย่างยั่งยืน โดยให้เป็นในเส้นทางเดียวกับเรื่องปาล์มน้ำมัน ป่าไม้ หรือประเด็นอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ก่อนที่จะป่าวประกาศว่านี่คือการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม ต้องฉลาดกว่าที่จะถามว่ากับใคร ใครคือนักลงทุน อะไรคือผลประโยชน์ที่เขาจะได้ เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อ เพราะมีเงินมากเหลือเกินในเส้นทางนี้ มีประสบการณ์ทางสังคมมากเหลือเกินในผลกระทบที่เคยได้รับ จากการสัมปทานที่ดินขนาดใหญ่และหนีที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งจากเหมืองแร่ หรือ แปลงเกษตรขนาดใหญ่ ในขณะที่อุตสาหกรรมการเกษตรและการเงินเหล่านี้ก็ยังมีบทบาทหลักจนถึงทุกวันนี้ การลงทุนต้องจ่ายอย่างเป็นธรรมอย่างแท้จริง เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่ารัฐบาลหรือองค์กรระหว่างประเทศจะสามารถจัดการให้พวกเขารับผิดชอบหนี้เหล่านี้ได้

 

การสนับสนุนให้เกิดลงทุนด้านที่ดินทางการเกษตรไม่ใช่การเริ่มต้นที่ถูกต้อง แต่ควรสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยเพื่อนำไปสู่การสร้างอธิปไตยทางอาหารที่แท้จริง มันคือเป้าหมายสองขั้วที่แตกต่างกัน และไม่ควรทำผิดพลาดโดยการขจัดขั้วใดขั้วหนึ่งออกไป สิ่งสำคัญคือการมองอย่างลึกซึ้งว่าใครคือนักลงทุน และอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการอย่างแท้จริง และสิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การค้นหาทางออกต่อวิกฤติอาหารบนจุดยืนพื้นฐานที่แท้จริง

 

อ้างอิง

  1. บทความเรื่อง The new farm owners : Corporate investors lead the rush for control over overseas farmland , GRAIN, October 2009.

  2. บทความเรื่อง The food rush: Rising demand in China and west sparks African land grab , Guardian.co.uk, July 2009.

บล็อกของ คนไร้ที่ดิน

คนไร้ที่ดิน
ศยามล ไกยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา    การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เปิดประเด็นการปฏิรูปที่ดิน แจกสปก. นับว่าโดนใจประชาชนที่เฝ้ารอคอย สปก. 4-01 และหวังว่าวันหนึ่งจะมีการออกเป็นโฉนดที่ดินตามแรงโฆษณาของเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง ปัญหาการไม่มี สปก. 4-01 ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินมีจำนวนมาก มีโครงการปฏิรูปที่ดิน แต่ยังไม่มีการปฏิรูปที่ดิน และยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนของความซ้ำซ้อนระหว่างแนวเขตของเขตปฏิรูปที่ดินกับที่ดินของรัฐประเภทอื่น เช่น พื้นที่ป่าตามกฎหมาย ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์…
คนไร้ที่ดิน
โดย... สมจิต คงทน กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน  ก่อนจะมาเป็นนารวม ชาวบ้านเขวาโคก-เขวาทุ่ง ต.สระบัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ได้รวมตัวกันเพื่อดูแลและฟื้นฟูสภาพป่าสาธารณะของชุมชนที่อยู่คู่มากับหมู่บ้าน ซึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ไว้สำหรับหาอยู่หากิน เก็บของป่า เก็บเห็ด เก็บฟืน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตแต่เมื่อปี 2538 มีกลุ่มทุนเอกชนจากนอกพื้นที่ทั้งหมด 8 ราย มาบุกรุก แผ้วถางป่าธรรมชาติดอนหนองโมง-หนองกลางของหมู่บ้าน เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่นี่รวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อรักษาที่ดินผืนนี้ไว้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
คนไร้ที่ดิน
กองเลขาฯเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ความขัดแย้งและการต่อสู้ของชนชั้นปกครองเป็นไปอย่างดุเดือดและยืดเยื้อ มากกว่า 3 ปี จนยกระดับขึ้นเป็นความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในขณะนี้ ขั้วความขัดแย้งคือ กลุ่มทุนอนุรักษ์นิยมภายใต้อิทธิพลศักดินา ส่วนอีกฝ่ายคือ กลุ่มทุนเสรีนิยมใหม่ ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้โดยง่าย เพราะเป็นการทำศึกวัดดุลกำลัง เพื่อนำไปสู่การจัดปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจครั้งใหม่ ทั้งอำนาจในทางการเมือง อำนาจในการควบคุมระบบเศรษฐกิจและฐานทรัพยากรของสังคม ศึกช่วงชิงการยึดกุมความได้เปรียบในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจละการผลิตครั้งนี้ “ชนชั้นผู้ชม”…
คนไร้ที่ดิน
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน  เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน และเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชายฝั่นอันดามัน ได้จัดเวทีสัมมนาเรื่อง “ทางออกกรณียึดที่ดินชุมชนสัมปทานป่า-เลให้นายทุน” ที่ศูนย์การเรียนรู้ควนปริง ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง มีผู้เข้าร่วมเวทีกว่า 150 คน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่ดินของหน่วยงานรัฐไว้อย่างน่าสนใจ…
คนไร้ที่ดิน
ศลิษา ทองสังข์ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาทางการเมืองและโครงสร้าง ปัญหาที่ดินไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวนา หรือคนสลัม แม้แต่คนเมือง คนชั้นกลางก็ประสบปัญหาที่ดินอยู่อาศัย การใช้ประเด็นเรื่องการผูกขาดที่ดิน นักการเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล ทุนข้ามชาติ และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคมโดยรวมและผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้สามารถเชื่อมโยงกับสังคมโดยรวมเพื่อสร้างแรงผลักดันการกระจายการถือครองที่ดินได้ ที่ผ่านมามีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขมาตรการทางภาษีที่ดิน ตัวอย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ตั้งแต่ปี 2541 เป็นเวลา 10 ปี เต็ม…
คนไร้ที่ดิน
นนท์ นรัญกร   ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 147 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 A และ ป่าสงวนแห่งชาติโซน C ประมาณ 80 ล้านไร่ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การบริหารจัดการพื้นที่ป่าของของกรมอุทยานแห่งชาติ พันธุ์พืชและสัตว์ป่า มีบทเรียนหลายประการ ที่ไม่ได้ถูกนำมาถกเถียงในสังคมไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานให้ดีขึ้น ในขณะที่กำลังจะสร้างปัญหาใหม่ตามมา ดังที่เป็นข่าวเรื่องความพยายามใน การเซ้งพื้นที่อุทยานฯ ให้กับภาคเอกชนเช่าทำธุรกิจ บทเรียนประการแรก…
คนไร้ที่ดิน
พงษ์ทิพย์  สำราญจิตต์สังคมไทย  เป็นสังคมที่เกษตรกรและคนจนไร้ที่ดิน แทบจะไม่มีที่ยืนหรือสามารถบอกเล่าสถานะของตนเองต่อสังคมได้ โครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ การผลิตและการตลาด  ได้ถูกผูกขาดและกำกับควบคุมโดยคนกลุ่มเล็ก บริษัทธุรกิจเอกชนที่มีเงินลงทุนมหาศาล ในสนามเศรษฐกิจที่ถูกผูกขาดไว้แล้วเช่นนี้  แน่นอนว่าเกษตรกรรายย่อยย่อมมิอาจแข่งขันได้ นี่เป็นที่มาของสภาพการณ์ในชนบทสังคมไทยที่เกษตรกรรายย่อยกำลังกลายเป็นแรงงานรับจ้างและคนจนไร้ที่ดินมากขึ้นทุกขณะ
คนไร้ที่ดิน
                                                                                                   …
คนไร้ที่ดิน
  สมจิต  คงทนกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอค)เมื่อชาวบ้านถูกฟ้องคดี"ก่อนถูกฟ้องคดีเขาเป็นคนขยัน พอถูกจับและยึดที่ดินไป  ซึ่งเป็นที่ดินที่เขาสองคนผัวเมียได้อยู่อาศัยทำกินกันมายาวนาน เขากลายเป็นคนคิดมาก ควบคุมสติตัวเองไม่ได้  ทุบตีเมียตัวเอง และเคยคิดฆ่าตัวตาย จนกลายเป็นปัญหาครอบครัว สุดท้ายก็ต้องแยกทางกัน  ส่วนลูก 2 คนก็แบ่งกันไปคนละคน"  นางเหิม เพชรน้อย ชาวบ้านตำบลบ้านนา จังหวัดพัทลุง เล่าถึงชะตากรรมชีวิตของเพื่อนบ้านครอบครัวหนึ่งที่ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า หรือ…