Skip to main content

น้ำมาถึงไหนแล้วหว่า...บ้านฉันน้ำจะท่วมมั้ยเนี่ย...จะหาข้อมูลที่จำเป็นได้จากที่ไหนบ้างหว่า...เวลาเดือดร้อนจะต้องแจ้งใคร...ทำไมโทรไป 1111 กด 5 แล้วถามอะไรไปก็ตอบไม่ได้...

........ใครก็ได้ช่วยบอกทีเหอะว่าฉันกับครอบครัวต้องทำยังไงบ้าง.......ข้อมูลประกอบการตัดสินใจอะไรๆก็ไม่มี ที่มีก็ไม่รู้จะเชื่อได้มากขนาดไหน เชื่อได้รึเปล่า.........

เชื่อว่าประโยคต่างๆ ข้างต้นคงคุ้นหูใครหลายคนอยู่ในเวลานี้ และเชื่อว่าใครอีกหลายคนคงสบถประโยคเหล่านี้กับตัวเอง ทั้งแบบอยู่ในใจ หรือ แบบเสียงดังฟังชัด

วิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงในวงกว้างต่อชีวิตคนไทยทุกคน นอกจากนั้น...อุทกภัยในครั้งนี้ยังสอนให้เราๆท่านๆ ประจักษ์ถึงอีกหนึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นและเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยเหมือนกัน นั่นคือ “การบริหารจัดการสารสนเทศในช่วงภัยพิบัติอย่างเบาปัญญา”

ตลอดช่วงวิกฤตครั้งนี้...ในขณะที่ประชาชนทุกคนต้องการข้อมูลที่รอบด้านและเชื่อถือได้อย่างมาก เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผนดูแลชีวิตและทรัพย์สินของสมาชิกในครอบครัว คนที่รัก และของตนเอง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า...ประชาชนในวงกว้างกลับจำเป็นต้องตั้งคำถามถึงความชักช้าและไม่น่าเชื่อถือของข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากภาครัฐ จนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความสงสัยเคลือบแคลงความสามารถในการแก้ปัญหาของรัฐบาล และนำมาซึ่งความรู้สึกที่ไม่อาจไว้วางใจในแนวทางซึ่งทางรัฐบาลเลือกใช้ในการบริการจัดการวิกฤตในครั้งนี้

และยิ่งถ้าใครได้รู้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีระบบสารสนเทศภาครัฐที่มีการออกแบบ พัฒนา และใช้งานแบบบูรณาการ (อย่างที่ภาครัฐกล่าวอ้าง) แล้ว ยิ่งต้องตั้งคำถามอย่างหนักว่า ความล้มเหลวในการบริหารจัดการสารสนเทศในยามวิกฤตเช่นนี้เกิดจาก
1) ความไร้ประสิทธิภาพของระบบสารสนเทศภาครัฐ หรือ 2) เกิดจากการไร้ซึ่งความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจในการบริหารสารสนเทศในยามวิกฤต

ทำไมสื่อสารอะไรมาให้กับประชาชนก็ไม่ชัดเจน...ทำไมการวางแผนจัดการและรับมือกับมวลน้ำในระยะต่างๆ จึงดูไร้ซึ่งความเข้าใจในสถานการณ์อย่างแท้จริง และทำไมการดำเนินการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ก็ดูผิดไปหมด

เชื่อได้ว่า...ทั้งหมดทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องและไร้ประสิทธิภาพของทั้งสองส่วนข้างต้นไปพร้อมกัน

เชื่อได้ว่า...หากระบบสารสนเทศภาครัฐมีการบูรณาการอย่างแท้จริง การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นต่อการวางแผนจัดการต่างๆ ของรัฐบาลอย่างรวดเร็ว ครบถ้วน และรอบด้าน ย่อมต้องส่งเสริมให้รัฐบาลสามารถตัดสินใจดำเนินการและไม่ดำเนินการใดๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้แน่นอน
และเชื่อได้ว่า...หากรัฐบาลมีความเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดี เกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...ในยุคที่สื่อต่างๆ มีอยู่อย่างหลากหลาย อีกทั้งภาครัฐไม่สามารถควบคุมสื่อต่างๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ รัฐบาลควรใส่ใจกับการบริหารจัดการสื่อต่างๆ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ....นั่นคือ การสื่อสารด้วยข้อมูลที่ รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน และ ตรงตามความต้องการของผู้รับสื่อแต่ละกลุ่ม

ที่ผ่านมาเชื่อว่า ประชาชนไม่เคยได้รับการสื่อสารที่ชัดเจนจากภาครัฐว่า พื้นที่ใดบ้างจะได้รับผลกระทบ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับผลกระทบอย่างไรและนานขนาดไหน จะเข้าถึงข้อมูลสำคัญเฉพาะแต่ละพื้นที่ เช่น หน่วยงานกู้ภัยในพื้นที่ สถานที่อพยพฉุกเฉิน หรือแม้แต่ข้อมูลน้ำท่วมในพื้นที่ของตนได้อย่างไร

ทั้งยังไม่อาจรับรู้ได้ถึงการให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกลุ่มต่างๆ ในช่วงวิกฤต ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น กลุ่มผู้ยังไม่ประสบภัย กลุ่มที่กำลังประสบภัย และกลุ่มผู้ประสบภัยแล้ว ว่าแต่ละกลุ่มต้องการข้อมูลอะไรและเมื่อใด

ซ้ำยังไม่มีการจัดให้มีสถานีวิทยุเฉพาะกิจเพื่อสื่อสารข้อมูลสำคัญต่างๆเกี่ยวกับภัยพิบัติในครั้งนี้ ให้กับประชาชนในวงกว้าง ทั้งที่สื่อวิทยุเป็นเพียงสื่อเดียวเท่านั้นในขณะนี้ ที่ประชนชนในทุกพื้นที่ของประเทศสามารถเข้าถึงได้

จนทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ...ผู้คนในวงกว้างที่รู้จักและเข้าถึงสื่อใหม่หรือสื่อสังคม
(New/Social Media) รวมถึงสื่อทางเลือกจากภาคเอกชน...หันไปพึ่งสื่อต่างๆเหล่านี้ แทนที่จะใส่ใจและให้ความสำคัญกับสื่อจากภาครัฐ

หากภาครัฐตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ (ซึ่งข้าพเจ้าขอให้เกิดขึ้นเถิด)...นี่จะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ...และนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญที่ว่า

“ทำไมกลไกในการสื่อสารกับประชาชนและภาคส่วนต่างๆ
ในระหว่างภัยพิบัติของภาครัฐจึงล้มเหลว”

และ

“ทำไมรัฐบาลจึงบริหารจัดการวิกฤตในครั้งนี้อย่างไร้ประสิทธิภาพ”
เชื่อว่า...ภัยพิบัติในครั้งนี้ คงทำให้ทั้งภาครัฐและประชาชน ได้ตระหนักและเรียนรู้อย่างมากมาย เกี่ยวกับความสำคัญของการบริการจัดการระบบสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤต ว่ามีส่วนสำคัญอย่างไรในการบริหารจัดการบ้านเมือง...ขอให้อย่าเหมือนในอดีตอีกเลย ที่เราไม่เคยเรียนรู้จากความผิดพลาด และไม่เคยนำข้อบกพร่องต่างๆมาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงพัฒนากลไกต่างๆของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
ภายหลังจากวิกฤตในครั้งนี้ ข้าพเจ้าจะขอเป็นหนึ่งแรง ที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนากรอบการบริหารจัดการสารสนเทศในระหว่างภัยพิบัติ และการพัฒนาให้ระบบสารสนเทศภาครัฐมีการทำงานแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยของเราไม่ต้องเป็นเหยื่อความโง่เขลาในการบริหารต่อไปในอนาคต
แต่หากในอนาคตประเทศเราต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติใดๆแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้...และถึงแม้เราจะมีระบบสารสนเทศต่างๆที่มีประสิทธิภาพแล้ว...ทุกคนคงต้องภาวนาให้ประเทศไทยอย่ามีรัฐบาลที่ไร้ความเข้าใจในการบริหารจัดการระบบสารสนเทศและเบาปัญญาในการแก้ไขวิกฤต...อีกเลย
...เป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุกคน ฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน...


 

บล็อกของ SenseMaker

SenseMaker
Digital Divide คือ คำในภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกสภาวะ ที่ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ICT เป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้ช่องว่างและความแตกต่างในสังคมเกิดขึ้นและขยายตัวในขณะที่ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับ ICT ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเห็นได้จากแนวนโยบายของรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก ที่มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทาง ICT เพื่อให้บริการต่างๆของภาครัฐ ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า“รัฐบาลอิเลคทรอนิค” หรือ e-government ทั่วโลกก็กำลังเผชิญหน้ากับการขยายตัวของปัญหา ช่องว่างและความแตกต่างในสังคม ไปพร้อมกัน
SenseMaker
ปัจจุบันความก้าวหน้าทาง ICT อนุญาตให้ประชาชนทุกคน สามารถแสดงออกทางความคิดเห็น ได้อย่างกว้างขวาง ผ่านความหลากหลายของช่องทางการติดต่อสื่อสาร และความอุดมสมบูรณ์ของสื่อ ไม่เพียงเท่านั้น ICT ยังอนุญาตให้เราสามารถ จัดการกับข้อมูลและเนื้อหาของการแสดงออกทางความคิด เพื่อใช้สำหรับการเข้าถึงในวงกว้างโดยผู้คนอื่นต่อไปได้อีกด้วยด้วยความสามารถของ ICT ข้างต้น ทำให้ประชาชนเริ่มมองเห็น และตระหนักในศักยภาพ ของการนำICT มาใช้เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาที่แต่ละบุคคลประสบ มองหาผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน และมองหาผู้อื่นที่เต็มใจให้ความช่วยเหลือ เพื่อร่วมคิด แสดงความเห็น ให้คำปรึกษา และช่วยกันหาทางบรรเทาหรือแก้ไขปัญหานั้นๆ…
SenseMaker
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงการจัดทำ แผนแม่บททางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับที่ 2 ของประเทศไทย เพื่อประกาศใช้ระหว่าง พ.ศ. 2552 – 2556 ยังอยู่ในระหว่างการเร่งจัดทำร่าง เพื่อประกาศใช้ให้ทันการเริ่มต้นใช้งานในปีหน้าข้าพเจ้ามีโอกาสได้อ่านแผนแม่บทฉบับร่างดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เตรียมเพื่อใช้ประกอบการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ระหว่างวันที่ 4-13 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะเป็นฉบับล่าสุด ที่กระทรวงฯเปิดเผยและประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะ (ท่านผู้อ่านสามารถอ่านข้อมูลของโครงการจัดทำแผ่นแม่บทนี้ เพิ่มเติม รวมทั้ง download เอกสารประกอบต่างๆได้ที่ http…
SenseMaker
หากท่านผู้อ่านได้อ่านบทความก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความเรื่อง “การเข้าถึงเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างทางสังคม และสังคมในแนวขนาน” หรือเรื่อง “เว็บยุค2.0 สื่อพลเมือง และการท้าทายกระแสหลัก” และเรื่อง “ICT ตัวการแห่งการเปลี่ยนแปลง และผลลัพท์ทางสังคมที่ย้อนแย้ง” ข้าพเจ้าเชื่อว่าบทความเหล่านี้ จะทำให้ทุกท่านที่อ่านเริ่มตระหนัก ข้อเท็จจริงที่ว่า ICT เป็นตัวแปรต้นของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ว่า สังคมของเราทุกวันนี้ มีความหลากหลายทางระบบความคิด ความเชื่อ และมีความแตกต่างทางด้านค่านิยมมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมข้างต้น แน่นอนว่าไม่ได้ถูกผลักดัน ด้วยความก้าวหน้าทางด้าน ICT…
SenseMaker
“คนไทยลืมง่าย” คือคำนิยามหนึ่งที่อธิบายลักษณะความคิดและนิสัยของคนไทย ได้เป็นอย่างดี คนไทยเรามักเลือกที่จะลืมและให้อภัย กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทุกๆเรื่อง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะสร้างความเดือดร้อนใหญ่หรือเล็กเพียงใดหลายคนแสดงความเห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเรามีอุปนิสัยเช่นนี้ เนื่องจากคนไทยเราส่วนใหญ่ ได้รับอิทธิพลทางด้านความคิดจากพุทธศาสนา ซึ่งปลูกฝังให้คนเรารู้จักให้อภัยกันและกัน ทำให้คนในสังคมของเรา อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและเกื้อกูลกัน ซึ่งนี้คือสิ่งที่หลายคนเห็นว่า “การลืมง่าย” ก่อให้เกิดผลดีกับบ้านเมืองของเราอย่างไรก็ดีธรรมชาติของเหรียญย่อมต้องมีสองด้าน...…
SenseMaker
เป็นความตั้งใจของข้าพเจ้า ที่ปล่อยให้บทความที่แล้ว ยึดพื้นที่คอลัมน์ยาวกว่าปกติสักหน่อย เพื่อดึงความสนใจจากผู้อ่าน และอยากให้ทุกท่านตระหนักว่า แนวโน้มการ Outsourcing ขององค์กรต่างๆ กำลังส่งผลกระทบสำคัญ กับแนวทางการดำเนินชีวิตของทุกคน บทความวันนี้ ให้ความสนใจกับปัญหาความล้มเหลวของโครงการด้าน ICT ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่องค์กรต่างๆกำลังเผชิญหน้าอยู่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งค้นหาส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งสามารถช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ ในการดำเนินโครงการด้าน ICT
SenseMaker
ต้องขอโทษท่านผู้อ่าน ที่ติดตามคอลัมน์กรองกระแส ICT ที่บทความสำหรับอาทิตย์นี้ต้องล่าช้าสักหน่อย เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ใคร่สบายเล็กน้อย ในช่วงวันเวลาที่จัดไว้สำหรับเขียนบทความในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าพยายามชี้ให้ทุกท่านเห็น ปรากฏการณ์ที่ว่า ICT เป็นตัวแปรต้นที่สำคัญ ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย ให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งในบริบทของผลกระทบจากภายนอกองค์กร ในรูปแบบของ การทำให้สภาพแวดล้อมในการแข่งขันเปลี่ยนแปลง และในบริบทของผลกระทบที่เกิดภายในองค์กร ในลักษณะของการทำให้ รูปแบบการทำงานและแนวการบริหารทรัพยากรองค์กร ต้องเปลี่ยนไปบทความในวันนี้…
SenseMaker
ICT ตัวแปรต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ที่ไม่ควรถูกมองข้าม ก่อนเข้าสู่บทความอาทิตย์นี้ ข้าพเจ้าขอประณามการกระทำ ของผู้ที่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย อยู่ในขณะนี้ เนื่องจากข้าพเจ้าถือว่า ใครก็ตามที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง ไม่มีความรักชาติอย่างจริงจัง และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม หากทุกคน เล็งเห็นความสงบสุขและประโยชน์ ของประเทศเป็นสำคัญ จะต้องใช้วิธีประนีประนอม เพื่อหาหนทางแก้ปัญหา ความขัดแย้งทางความคิด ร่วมกัน มากกว่าการยึดเอาความคิดของตนเป็นใหญ่ มองความคิดของอีกฝ่ายว่าไม่ถูกต้อง และมุ่งล้มล้างฝ่ายตรงข้าม…
SenseMaker
หลังจากที่ได้ขีดๆเขียนๆบทความ ในด้านที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมไทย และอยู่ในความสนใจของตัวเอง เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ข้าพเจ้ารู้สึกว่า เป็นเวลาอันสมควร ที่ควรจะทำความเข้าใจ กับผู้ให้ความกรุณาแวะเวียนเข้ามาอ่าน ทั้งขาประจำและขาจร ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง ถึงที่มาของคอลัมน์ “กรองกระแส ICT”จุดเริ่มต้นของคอลัมน์นี้ เกิดจากการที่ข้าพเจ้ามีความสนใจ และมีโอกาสศึกษาหาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Information Technology (IT) และ ทางด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ หรือ Information System (IS) ประกอบกับประสบการณ์ในการทำงาน ในอุตสหกรรมโทรคมนาคม จนถือได้ว่า ข้าพเจ้าโชคดีที่มีความคุ้นเคยกับ ICT…
SenseMaker
บทความในวันนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การได้รับทราบสองข่าว ซึ่งในความเห็นของข้าพเจ้า เป็นข่าวที่ไม่ได้อยู่ในกระแสความสนใจ ของคนไทยทั่วไปแต่อย่างไร แต่เป็นข่าวที่ข้าพเจ้า อยากเรียกร้องให้ทุกคน หันมาตระหนักถึงความน่ากลัว ของการถูกคุกคามโดย "Identity thief"Identity thief คือ กลุ่มคนที่มุ่งขโมยข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ใช้แสดงตัวตน ของบุคคลต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อ ใช้ข้อมูลดังกล่าวปลอมแปลงตนเป็นบุคคลผู้นั้น เพื่อหาประโยชน์อื่นๆต่อไปข่าวแรกที่เกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่ง ถูกวิ่งราวกระเป๋าสตางค์ ภายหลังจากเกิดเรื่อง ซึ่งข้าพเจ้าเจ้าจำได้ไม่แน่นอนว่านานเท่าไหร่…
SenseMaker
“คู่แข่งกำลังลงทุนในเทคโนโลยี... เราจะรอช้าอยู่ไม่ได้ ต้องรีบดำเนินการผลักดันโครงการแบบเดียวกัน ให้เกิดขึ้นในทันที เพื่อตามให้ทัน และไม่ให้เราสูญเสียโอกาสทางการแข่งขัน"“เทคโนโลยี... กำลังได้รับความนิยมในตลาดโลก สร้างประโยชน์มากมายให้กับ ประเทศนั้นประเทศนี้ หรือองค์กรนั้นองค์กรนี้ ดังนั้นเราจึงควรลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าว อย่างเร่งด่วน”เหตุผลในทำนองข้างต้น เป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าได้ยินอยู่เป็นประจำ จากผู้มีอำนาจตัดสินใจในระดับนโยบาย ขององค์กรระดับต่างๆในประเทศไทย เพื่อนำเทคโนโลยีอันทันสมัย เข้ามาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีทางด้าน ICT
SenseMaker
เช้ามา...เปิดคอม เปิดเนต เช็คตารางนัด เช็คเมล ตอบเมล ล็อคอินเข้า MSN เอาไว้คุยกับเพื่อน หาข้อมูลจาก Google และ Wikipedia เข้าไปดูว่าเพื่อนๆทำอะไรกันบ้าง พร้อมกับอัพเดตของมูลตัวเองบน MySpace, Hi5 หรือ Facebook เข้าไปอ่านข่าว บทความ หรือกระทู้ จากแหล่งข้อมูลเฉพาะด้าน จาก Blog หรือสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่สนใจ เข้าไปดูวิดีโอแปลกๆ หรืออัพโหลดวิดีโอฝีมือตนเองบน Youtube เข้าไปอัพเดตรูปตัวเองหรือหารูปสวยๆบน Flickr และโทรหาใครหลายคน ไม่ว่าอยู่มุมไหนของโลกผ่าน Skypeชีวิตที่ดำเนินไปข้างต้น คงมีส่วนคล้ายกับชีวิตใครหลายคนในปัจจุบัน ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 30…