Skip to main content
"โลกนี้ยังมีเพื่อน" คือหนังสือรวมนิทานยอดเยี่ยม รางวัลมูลนิธิเด็ก หนังสือเล่มนี้รวมนิทานไว้ทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ตั้งชื่อเล่มตามชื่อนิทานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดในปีที่ 12


นอกจาก "โลกนี้ยังมีเพื่อน" ซึ่งได้รับรางวัลนิทานยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีเรื่องนิทานเรื่อง "นักวาดพู่กันวิเศษ" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ส่วนที่เหลืออีก 5 เรื่องได้รับรางวัลชมเชย


"โลกนี้ยังมีเพื่อน" เขียนโดย "ศรีเกศมณี" เป็นเรื่องราวของตุ๊กตาสองตัวที่มีชีวิตจิตใจ รู้จักคิด รู้จักเจ็บเหมือนสิ่งมีชีวิตทั่วไป ตุ๊กตาทั้งสองตัวมีความแตกต่างกันมาก ตัวหนึ่งเป็นตุ๊กตาไม้ผอมกะหร่อง ชื่อ "ไม้ซีก" กับตุ๊กตาผ้าตัวอ้วนที่ชื่อ "กระสอบ" ทั้งสองตัวโคจรมาพบกันด้วยความบังเอิญ


ตุ๊กตาไม้ "ไม้ซีก" นั้นเป็นหนี้บุญคุณของตุ๊กตาผ้า "กระสอบ" เพราะ "กระสอบ" ได้ช่วยชีวิตเขาไว้จากการจมน้ำ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา "ไม้ซีก" ก็คอยติดสอยห้อยตาม "กระสอบ" ไปไหนมาไหนอยู่เสมอ แต่ "กระสอบ" เป็นตุ๊กตาที่ขี้หงุดหงิดและไม่ค่อยชอบใจที่ "ไม้ซีก" ติดตามเขาไปทุกหนทุกแห่งเหมือนเงาตามตัว อันที่จริง "กระสอบ" ไม่ได้รังเกียจ "ไม้ซีก" เพียงแต่ว่าเขาเขินอายที่จะมีเพื่อน

"เพื่อนเรอะ... ฉันไม่ชอบคำนี้หรอก ฉันอยู่คนเดียวสบายดี" กระสอบว่า

"แต่คนเราต้องมีเพื่อนนะ เพื่อนช่วยไม่ให้นายเหงาไงล่ะ" ไม้ซีกบอก

"ฉันไม่เปลี่ยนใจ ฉันไม่ต้องการเพื่อน นายไปเสียเถอะ" กระสอบพูดหนักแน่น (หน้า 13)


ทั้งสองตัวโต้เถียงกันแบบนี้เสมอ แต่ก็คืนดีกันอย่างรวดเร็วโดยลืมไปแล้วว่าเคยงอนกันด้วยเรื่องอะไร


"ไม้ซีก" ได้มีโอกาสตอบแทนบุญคุณที่ "กระสอบ" เคยช่วยชีวิตเขาไว้ด้วยการช่วยชีวิต "กระสอบ" กลับคืน


หลังจากที่ทุ่มเถียงกันครั้งแล้ว ครั้งเล่า ด้วยเรื่องที่ว่า "กระสอบ" ไม่ต้องการให้ "ไม้ซีก"ติดตาม ทั้งคู่จึงตกลงกันว่าหลังจากที่เดินข้ามสะพานข้างหน้าแล้วจะแยกย้ายกันไปตามทางของตัวเอง


"ไม้ซีก" เดินข้ามไปก่อน เขาตัวเบาจึงเดินผ่านสะพานไม้ผุ ๆ ไปได้อย่างสบายในขณะที่ "กระสอบ" นั้นมีน้ำหนัก อุ้ยอ้าย เขาค่อย ๆ ย่องไปจนเกือบถึงปลายสะพานอีกฝั่งหนึ่งได้อยู่แล้ว แต่สะพานไม้เกิดหักขึ้นมาเพราะรับน้ำหนักของกระสอบไม่ไหว "กระสอบ" หล่นลงไปลอยคออยู่ในลำธาร น้ำซึมเข้าไปในตัวเข้าเรื่อย ๆ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจนเขาใกล้จะจม


"ไม้ซีก" ยื่นขาของเขาลงไปเพื่อให้ "กระสอบ" เกาะไว้ ตุ๊กตาทั้งสองฉุดกันไปมาอย่างทุลักทุเล ที่สุดแล้ว "ไม้ซีก" ก็สามารถดึงเพื่อนขึ้นมาได้สำเร็จทั้งคู่จึงกลายเป็นเพื่อนรักที่ขาดกันไม่ได้ แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นตุ๊กตาไม่มีราคาที่ถูกทอดทิ้งแต่ก็ยังมีเพื่อนที่คอยช่วยเหลือกันและกัน ชีวิตจึงไม่เลวร้ายจนเกินไปเพราะโลกนี้ยังมีเพื่อน


"นักวาดพู่กันวิเศษ" เขียนโดย "สุริยัน สุดศรีวงศ์" เป็นนิทานที่ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม จินตนาการของผู้เขียนเรียกได้ว่า "บรรเจิด" เสียจนดูเหมือนว่าแทบจะหาที่สิ้นสุดไม่ได้


เริ่มที่สายรุ้งของนางฟ้าน้อยถูกเครื่องบินไอพ่นวิ่งชนจนเส้นโค้งรุ้งขาดปลิวหายไป นางฟ้าน้อยต้องหาทางแต่งแต้มสายรุ้งให้กลับมาประดับประดาท้องฟ้าเหมือนเดิมให้ได้ พญาวิหคแนะนำว่าต้องไปหา "คุณบรรจง" จิตรกรเอกที่เก่งที่สุดบนโลกมนุษย์เพื่อให้ช่วยวาดสายรุ้งให้ เขาเคยช่วยเหลือเทวดาน้อยที่ทำดาวเหนือจมหายไปในทะเลโดยใช้พู่กันทองคำวาดดาวเหนือขึ้นมาใหม่ที่ดูเหมือนของจริงมาก


จิตรกรเอกบอกแก่นางฟ้าน้อยว่าการวาดภาพรุ้งกินน้ำเป็นงานที่ไม่ง่ายเลยเพราะสีสันสดสวยหลากหลายนั้นต้องใช้แม่สีที่หายากยิ่งเท่านั้นจึงจะวาดได้ เขาจึงออกเดินทางไปยังดินแดนสามแห่งเพื่อสาแม่สีสามสี


ที่แห่งแรกที่จิตรกรเอกไปก็คือภูเขาที่สูงที่สุดในโลก สูงเหนือก้อนเมฆทุกก้อนจึงอยู่ใกล้ชิดดวงอาทิตย์มากที่สุด พืชผลบนภูเขาแห่งนี้มีสีแดงสดสวยเพราะได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่โดยมีคนแคระเคราแดงเป็นเจ้าของภูเขา คนแคระเคราแดงยินดีที่จะมอบสีแดงให้โดยการคั้นเอาจากน้ำมะเขือเทศ


สถานที่ต่อมาที่จิตรกรเอกต้องเดินทางไปคือก้นทะเลที่ลึกที่สุด อันเป็นถิ่นที่อยู่ของนางเงือกเพื่อเสาะหาสีน้ำเงิน ราชินีเงือกยินดีที่จะมอบสีน้ำเงินที่บรรจุอยู่ในเปลือกหอยสังข์ให้โดยไม่ขัดข้อง


"อันว่าสีน้ำเงินที่เรามอบให้แก่ท่านนั้น นับเป็นสุดยอดของแม่สีโดยแท้ ทำขึ้นมาจากน้ำหมึกสีน้ำเงินของปลาหมึกยักษ์ตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่สะดือทะเล" (หน้า 35)


เสร็จแล้ว จิตรกรเอกก็ออกเดินทางเพื่อตามหาสีเหลืองต่อไป เขาเดินทางไปยังทะเลทราย ขี่อูฐเร่ร่อนอยู่นานเจ็ดวัน เจ็ดคืนจนกระทั่งได้พบกับกองคาราวานของเหล่าภูตทะเลทราย พอภูตทะเลทรายรู้ความประสงค์ของจิตรกรเอกแล้วก็ยินดีที่จะให้สีเหลืองที่กลั่นออกมาจากแสงจันทราแก่จิตรกรเอกไป


ถึงตอนนี้ยังขาดพู่กันวิเศษ จิตรกรเอกจึงขับจรวดมุ่งหน้าไปยังดวงจันทร์ เขาเจอกับกระต่ายจึงหยิบผักกาดขาวออกมาให้ จากนั้นก็ขอขนหางของกระต่ายเพื่อนำไปทำพู่กัน กระต่ายน้อยไม่ขัดข้อง ทุกอย่างพร้อมแล้ว จิตรกรเอกผูกตัวเองกับว่าวตัวใหญ่ นางฟ้าน้อยคือถือจานสีช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ ยอดจิตรกรตวัดพู่กันวาดแต่งท้องฟ้า รุ้งกินน้ำกลับคืนมาอีกครั้ง


จะเห็นได้ว่าจินตนาการของผู้แต่งนั้นไม่มีที่สิ้นสุด จากเรื่องนี้ไปเรื่องนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกพร้อมที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของจินตนาการได้เสมอ นิทานทั้ง 7 เรื่องแล้ว มีภาพประกอบสวยงามเหมาะสำหรับเด็ก ๆ และเหมาะสำหรับใครก็ตามที่อยากเรียกวันคืนวัยเยาว์กลับมา.

 

 

บล็อกของ นาลกะ

นาลกะ
-1- หลานเกิดปีเดียวกับที่ผมเดินทางออกจากบ้าน มุ่งหาประสบการณ์และไล่คว้าหาความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต  คืนวันของหลานที่เติบโตขึ้นด้วยความเอาใจใส่ของพ่อแม่คือจำนวนเวลาที่ผมจากบ้านเกิดเมืองนอน
นาลกะ
    คงเป็นเพราะรูปเล่มงามตาน่าหยิบจับและเครดิตก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่บอกว่า “เล็กน้อยมากจนสามารถนั่งอ่านข้าง ๆ เตียง ยิ่งใหญ่มากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิต” เร้าความสนใจให้เปิดพลิกและลงมืออ่าน
นาลกะ
-1- ฉันเดินตัดผ่านสนามหลวงเพื่อไปขึ้นรถเมล์กลับหอพักเกือบทุกวัน เรื่องราวที่แทบจะเป็นแบบฉบับและเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่ได้พบเห็นจากผู้คนแห่งสนามหลวงวันแล้ววันเล่า ทำให้เกิดภาพประทับในใจโดยไม่รู้ตัว เมื่อฉันได้รู้จักกับสนามหลวงมากขึ้น ฉันก็ได้พบว่าสถานที่แห่งนี้เปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ที่แห่งนี้มีเรื่องราวชีวิตของคนระดับล่างมากมาย แต่ละคน แต่ละชีวิตนั้นน่าจะปรากฏอยู่ในนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง คนเหล่านี้ไม่ควรจะมีอยู่จริง!
นาลกะ
“ลูกผู้ชายหัวใจมีรัก(Man and Wife)” คือนิยายอันละเมียดบรรจงของ Tony Parsons เป็นผลงานภาคต่อจาก “ลูก(ผู้)ชายหัวใจคุณพ่อ (Man and Boy)” ซึ่งเคยสร้างความเกรียวกราวในแวดวงนักอ่านได้มากพอสมควร(ผมเคยวิจารณ์ไว้แล้วที่ http://blogazine.prachatai.com/user/nalaka/post/1562 ) ฝีมือแปลโดย ภัสรี สิงหเดช  
นาลกะ
โดยทั่วไปแล้ว หนังสือของสำนักพิมพ์ “ผีเสื้อ” สามารถการันตีคุณภาพ(แต่ไม่การันตียอดขาย) ได้ในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่มีคำว่าผิดหวังในแทบทุกเล่มเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นวรรณกรรมแปล! “พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร” ซึ่งเขียนโดย ฌ็อง-หลุยส์ ฟูร์นิเย่ร์ และแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ก็เช่นเดียวกัน
นาลกะ
วรรณกรรมเยาวชนรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชน ก่อนวัยรุ่น (12-14) จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติปี 2530 และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 เล่ม ที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน โดยฝีมือการประพันธ์ของนักเขียนซึ่งเป็นรู้จักกันดี "อัศศิริ ธรรมโชติ"
นาลกะ
ด้วยชื่อเรื่องที่ไม่คุ้นหู และหน้าปกเป็นรูปน้ำตกกลางป่าสวยงาม วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ชวนให้สะดุดใจและเปิดอ่าน ซึ่งก็ใช้เวลาอ่านไม่นานนักก็จบเล่มเพราะมีความหนาไม่ถึง 50 หน้ารวมภาพประกอบ
นาลกะ
ผลงานเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดวรรณกรรมเยาวชนรางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 2 ผู้เขียนคือ “เก็ตตะหวา” วาดภาพประกอบโดย ธีระพงษ์ บัวระเพชร และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค เจ้าเก่า แก่นแกนของเรื่องคือพัฒนาการของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ “ผิงผิง” ซึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่บุญธรรม และไม่ใคร่จะชอบพ่อที่แท้จริงนักเพราะคิดว่าพ่อทอดทิ้งเธอซ้ำยังปล่อยให้แม่ตาย แต่ที่จริงแล้วพ่อของเธอนั้นรักเธอมาก เหตุที่ต้องฝากเธอไว้กับคนอื่นนั้นเพราะหน้าที่การงานที่เป็นนักมายากลต้องตระเวณแสดงไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งคนที่นำลูกไปฝากไว้นั้นก็เป็นเพื่อนเก่าและเป็นนายอำเภอที่ไม่มีลูกของตนเองสามารถดูแลผิงผิงได้
นาลกะ
  เรื่องเล่ามหาสนุกจากทุ่งหญ้าสีเขียว เป็นวรรณกรรมเด็กที่โด่งดังของธอร์นทัน ดับบลิว. เบอเกตส์ (Thornton W. Burgess) เขาได้แต่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติเป็นนิทานก่อนนอนสำหรับลูกชาย ปลูกฝังให้ลูกชายเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชุดรวม 20 เล่ม ได้รับผลสำเร็จอย่างมาก จนเขาได้แต่งเรื่องเล่าเพิ่มเติมรวม 170 เรื่อง
นาลกะ
  วันนี้ขอเปลี่ยนจากวรรณกรรมไทยมาเป็นวรรณกรรมต่างประเทศกันบ้าง หลังจากอ่านวรรณกรรมเล่มนี้จบแล้ว ยอมรับว่ารู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมเยาวชนของไทยและต่างประเทศ ทั้งสำนวนภาษา ทั้งเทคนิคลีลาการเล่าเรื่องและความเข้มข้นจัดจ้านของเนื้อหา ขอบ่นนิดหนึ่งว่าเท่าที่อ่านและเขียนถึงวรรณกรรมเยาวชนของไทย จำนวนไม่น้อยถ้าไม่เล่าเรื่องชนบทเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นติดตามแล้วก็มักจะบรรเจิดเพริศแพร้วในเรื่องจินตนาการมากเสียจนกลายเป็นนิทานก่อนนอนไปหรือไม่ก็เขียนสำหรับให้เยาวชนอ่านเท่านั้น ไม่ท้าทายผู้อ่านวัยอื่น ๆ แต่อย่างไรเสีย เชื่อว่าวรรณกรรมเยาวชนไทยคงจะได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ…
นาลกะ
"โลกนี้ยังมีเพื่อน" คือหนังสือรวมนิทานยอดเยี่ยม รางวัลมูลนิธิเด็ก หนังสือเล่มนี้รวมนิทานไว้ทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ตั้งชื่อเล่มตามชื่อนิทานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดในปีที่ 12 นอกจาก "โลกนี้ยังมีเพื่อน" ซึ่งได้รับรางวัลนิทานยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีเรื่องนิทานเรื่อง "นักวาดพู่กันวิเศษ" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ส่วนที่เหลืออีก 5 เรื่องได้รับรางวัลชมเชย
นาลกะ
ลูกแม่น้ำโขง วรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน "แว่นแก้ว" ชนะเลิศรางวัลที่ 3 คืออีกหนึ่งผลงานจากนานมีบุ๊ค เขียนโดย "เขมชาติ" แม้ว่าลูกแม่น้ำโขงจะเดินตามขนบวรรรกรรมเยาวชนแบบที่เขียน ๆ กัน ที่มักพูดถึงชนบทอันงดงามที่ผู้คนพึ่งพาช่วยเหลือกัน สภาพธรรมชาติที่ผูกพันแวดล้อมวิถีชีวิต การเล่นซนของเด็ก ๆ และข้อคิดทางด้านคุณธรรม เป็นต้นว่า การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ความมีน้ำใจ  ถึงกระนั้น ลูกแม่น้ำโขง ก็ยังคงน่าอ่านด้วยการบรรยายอย่างมีชีวิตชีวา  เพราะแม่น้ำโขงแม้นจะไหลอย่างที่เคยไหลก็ยังคงน่ามองและมีเสน่ห์อยู่เสมอ